กลิ่นสมุนไพรหลายชนิดล่องลอยเคล้ากันไปในรัตนโอสถ ร้านขายยาแผนโบราณที่คนเก่าแก่มักรู้จัก หรือแม้แต่เคยเป็นลูกค้ากันมาแต่ดั้งเดิม เพราะเปิดมาตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 2478 สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า ตั้งจี้เคี่ยวตึ๊ง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกะจ่างโอสถ กระทั่งกลายมาเป็นรัตนโอสถในปัจจุบัน
วิรัตน์ วิทยานุการุณ วัย 70 ปี สืบทอดร้านนี้มาจากเตี่ยชาวจีนแต้จิ๋ว ทั้งเตี่ยและอากงของลุงวิรัตน์อพยพมาจากเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เพื่อหนีการเมืองที่คุกรุ่นในสมัยเหมาเจ๋อตง ไม่เพียงแบกความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าลงเรือมา แต่ผู้ชายทั้งสองยังหอบเอาความรู้ล้ำค่าด้านสมุนไพรจีนมาด้วย
หลังได้ใบอนุญาตขายยาจากกรุงเทพฯ เตี่ยกับอากงตัดสินใจขึ้นเหนือมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดลำปาง เตี่ยเปิดร้านขายยาจีนตามความถนัดบนถนนทิพย์ช้าง ซึ่งนับเป็นร้านขายยาจีนยุคแรกๆ ร่วมสมัยกับร้านน่ำเคี้ยวโอสถและร้าน ช เภสัช กิจการในยุคนั้นนับว่าเจริญรุ่งเรือง แต่ละเดือนจะมีตัวแทนจำหน่ายยาจีนจากกรุงเทพฯ หิ้วกระเป๋ามาหาที่ร้านกันอย่างคึกคัก
“สมัยก่อนร้านขายยาจีนจะรับใบสั่งยาจากหมอแมะครับ” ลุงวิรัตน์เล่า “หมอแมะที่ร้านเราเช่าบ้านอยู่ในตลาดจีน และจะมากินข้าวเช้ากับเตี่ย มานั่งคุยกันทุกวัน คือเขาทำงานร่วมกันน่ะครับ คนไข้ไปพบหมอแมะที่บ้านก่อน จากนั้นหมอแมะจะเขียนใบสั่งยาเป็นภาษาจีน คนไข้ก็ถือมาให้เตี่ยจัดยาให้”
หมอแมะในจังหวัดลำปางเคยมีไม่ต่ำกว่า 10 คน แต่ก็ค่อยๆร่วงโรยจากไปตามวัย ภายหลังจึงเหลือเพียงคนขายยาเท่านั้น ที่ยังคงจัดยาให้คนไข้ตามความรู้ที่สั่งสมมา
หลังเตี่ยจากไป ลุงวิรัตน์จึงลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับมาสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่ในบรรดาพี่น้องทั้งสี่กลับไม่มีใครสืบทอดความรู้ด้านภาษาจีนจากเตี่ยเลย จึงทำให้ไม่สามารถขายยาจีนต่อไปได้ เนื่องจากการขายยาจีนนั้น คนขายต้องมีความรู้ด้านภาษาจีน เพื่อที่จะอ่านใบสั่งยาจากหมอแมะ สั่งยากับตัวแทนจำหน่าย หรืออ่านใบกำกับชื่อยา ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมเป็นภาษาจีนทั้งหมด
ในที่สุดรัตนโอสถจึงต้องผันมาขายยาสมุนไพรไทยเป็นหลัก แต่ก็อีกนั่นแหละ สมุนไพรไทยบางชนิดเริ่มหายากขึ้น เพราะถูกนำออกมาจากป่าโดยไม่ได้มีการปลูกทดแทน บางชนิดก็เป็นไม้ต้องห้ามในพื้นที่อนุรักษ์ บ่อยครั้งที่ลูกค้าเดินถือสูตรยามายื่นให้ แต่ก็ต้องผิดหวังกลับไป เพราะเครื่องยามีไม่ครบ
“ยิ่งช่วงนี้กระแสโซเชียลแรงมาก พอใครแชร์สูตรยาโน่นนี่มา ก็จะมีลูกค้าถือโพยมาให้จัดตามสูตรในโซเชียล เราต้องคอยอัพเดตเรื่องเหล่านี้ไปด้วย ซึ่งบางสูตรก็ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ เราต้องเตือนเขาถึงผลข้างเคียง ไม่ใช่ขายอย่างเดียว” ลุงวิรัตน์เล่า
ทุกวันนี้ สมุนไพรส่วนหนึ่งหาได้ในท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งยังคงสั่งจากตัวแทนจำหน่ายที่ติดต่อกันมาตั้งแต่รุ่นเตี่ย ส่วนยาจีนจะมีก็แต่เครื่องเทศสำหรับตุ๋นยาจีนเท่านั้น
......................................
ดูเหมือนว่าภาษาจีนจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ร้านขายยาจีนไม่สามารถดำรงอยู่ได้เมื่อถึงวันที่ต้องมองหาคนรุ่นใหม่มาสืบทอดกิจการ ทว่าสำหรับ น่ำเคี้ยวโอสถ ร้านขายยาเก่าแก่ย่านสถานีรถไฟ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการขายยาจีนเช่นเดียวกับรัตนโอสถ กลับมองไปที่ความนิยม ซึ่งลดน้อยถอยลงมากกว่า
“สมัยอากงครับ ที่ขายยาจีน ตอนนั้นกิจการดีมาก เพราะเป็นร้านแรกๆ ในเมืองลำปาง และอีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นลำปางมีรถไฟมาถึง เจริญกว่าเชียงใหม่เสียอีก ที่ร้านจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางการกระจายยาไปสู่จังหวัดอื่นๆ จำได้ว่า เตี่ยจะเอายาใส่ลังไม้ แล้วนั่งรถไปส่งยา เวลาไปเก็บเงินก็ขนเงินกลับมาเป็นฟ่อนเลยทีเดียว” เจ้าของร้านน่ำเคี้ยวโอสถรุ่นที่ 3 เล่า
ร้านน่ำเคี้ยวมาถึงจุดเปลี่ยนในรุ่นเตี่ย เมื่อความนิยมในยาจีนลดน้อยถอยลง พร้อมกับยาแผนปัจจุบันเริ่มเข้ามาแทนที่
“พอมาถึงรุ่นเตี่ยทางร้านก็เปลี่ยนมาขายยาฝรั่งทั้งหมด เพราะคนไม่นิยมยาจีนแล้ว ที่จริงยาจีนได้กำไรดีนะครับ แต่มีรายละเอียดมาก ทั้งเรื่องการดูแลรักษาที่ยากกว่า ต้องสะอาดจริงๆ ทุกวันนี้ผมยังนึกเสียดายที่ไม่ได้สืบทอดภาษาจีนจากเตี่ย” เจ้าของร้านน่ำเคี้ยวโอสถเป็นคนรุ่นใหม่ จบการศึกษาระดับสูง แต่ลึกๆแล้ว เขายังคงเชื่อมั่นในภูมิปัญญาจีน “ผมมีเพื่อนเป็นหมอ ภรรยาคลอดลูก ยาฝรั่งไม่มีนี่ครับ ยาสำหรับอยู่ไฟ หมอยังมาหายาจีนไปให้ภรรยาอยู่ไฟ คือยาจีนจะรักษาองค์รวม รักษาทั้งระบบของร่างกาย คล้ายปรับสมดุล ไม่ใช่แก้เฉพาะจุดเหมือนยาฝรั่ง แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจ่ายยาโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนะครับ”
......................................
อาจสรุปได้คร่าวๆว่า ทำไมร้านขายยาจีนในเมืองลำปาง หรือแม้แต่ที่อื่นๆจึงค่อยๆล้มหายตายจากไปทีละร้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีนที่ไร้การสืบทอด ความละเอียดอ่อนในการเก็บรักษายาจีน รวมถึงความนิยมที่ลดน้อยถอยลง เพราะถูกมองเป็นทางเลือกท้ายๆของการรักษาโรคมากกว่า หลายสิ่งที่ประกอบกันนี้ เทวินทร์ ศักดาศิริสถาพร วัย 68 ปี เจ้าของร้านเอียเม่งหลีย่านถนนประสานไมตรี ร้านขายยาจีนหนึ่งในไม่กี่ร้านที่ยังเปิดให้บริการทุกวัน ยืนยันว่าจริงทุกประการ
ทุกเช้าเมื่อลืมตาตื่น สิ่งแรกที่ลุงเทวินทร์ทำก็คือ รวบรวมความคิดว่า วันนี้ถึงคิวของยาชนิดไหนที่จะต้องนำไปตากแดดป้องกันเชื้อราและแมลงต่างๆ
“คนขายยาจีนต้องเป็นนักพยากรณ์อากาศด้วยนะครับ ถ้าหน้าฝนก็วิ่งเข้าวิ่งออกตากยาทั้งวัน” ลุงเทวินทร์หัวเราะอารมณ์ดี “ผมนี่ไม่ใช่หลงจู๊ หรือผู้จัดการนะครับ แต่เป็นหลงจ๊ง คือเหมาหมด ทำคนเดียวทุกอย่าง”
บรรยากาศในร้านเอียเม่งหลีไม่ได้เปลี่ยนไปสักเท่าไรจากสมัยอากง ตู้ไม้ขนาดมหึมาทุกลิ้นชักเต็มแน่นไปด้วยยาจีนนานาชนิด ในบานเลื่อนกระจกนั้นเล่า ก็เรียงรายไปด้วยยาจีนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกบ้าง กล่องกระดาษบ้าง หรือแม้แต่กระป๋องลูกอมคลาสสิกที่คนสะสมของเก่าเห็นแล้วต้องตาโต ที่สำคัญทุกบรรจุภัณฑ์ล้วนกำกับไว้ด้วยภาษาจีน นอกจากนี้ ตรงเคาน์เตอร์ที่ลุงเทวินทร์ยืนประจำการอยู่นั้น เป็นที่ที่เราจะได้เห็นมาตราชั่งตวงวัดแบบจีนอย่างลูกตุ้ม ตราชั่ง และลูกคิด โดยลุงเทวินทร์ยังคงคิดราคายาจีนตามน้ำหนัก คือ สลึง ตำลึง และบาท ส่วนแพ็กเกจยา ลุงเลือกกระดาษสีชมพูบรรจงห่อให้ เพื่อคนป่วยจะได้รู้สึกสดชื่น
“หลายคนบอกยาจีนขม ต้มก็ยาก” ลุงเทวินทร์ว่า “ยาจีนคือธรรมชาตินะครับ ถ้าใครทนกับรสชาติของมันได้ ยาจีนจะเข้าไปฟื้นฟูร่างกายทั้งระบบ จึงอาจจะหายช้า แต่ถ้าหายก็หายเลย หลักในการต้มยาจีนผมว่าไม่ยาก น้ำ 2 ถ้วย ต้มให้เหลือเกือบ 1 ถ้วย กินร้อนๆก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง” ชายชราแนะนำ
ด้วยจำนวนยาจีนที่มากมายในร้านเอียเม่งหลี บ่งบอกว่าที่นี่น่าจะรวบรวมชนิดของยาจีนไว้ไม่น้อย มีตั้งแต่สมุนไพรพื้นๆที่เราเห็นจนเจนตา ไปจนกระทั่งถึงสมุนไพรรักษาโรคมะเร็ง (ระยะแรก) หรือโสมเกาหลีตำลึงละ 5,000 บาท นั่นเพราะสมุนไพรจีนไม่ขาดแคลนเหมือนสมุนไพรไทย ลุงเทวินทร์บอกว่า ประเทศจีนกว้างใหญ่ มีการปลูกสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรม แต่ละมณฑลแบ่งชนิดการปลูกอย่างชัดเจน ส่วนสมุนไพรไทยบางชนิดที่หายากขึ้นก็เนื่องจากป่าไม้ของเราถูกทำลายไปมากแล้วนั่นเอง
“ถ้าถามว่าทุกวันนี้กิจการเป็นอย่างไร ผมว่าก็พอไปได้ บางคนใช้ยาฝรั่งมานาน เขาจะสลับมาใช้ยาจีนบ้าง เพื่อลดผลข้างเคียง บางคนเป็นโรคร้าย ลองมาหลายวิธี เขาก็จะลองมาใช้ยาจีน แล้วอีกอย่าง ข้อมูลจากโซเชียลนี่มีอิทธิพลมาก ใครได้สูตรยาอะไรมาก็จะให้จัดยาตามนั้น เราต้องคอยดู”
แม้สูตรยาแปลกๆจะมีมาให้เห็นเป็นระยะ แต่ไม่มีสูตรไหนที่เทวินทร์จะไว้วางใจเท่าตำรายาของอากงอีกแล้ว ชายชราบรรจงวางถุงพลาสติกที่รัดหนังยางไว้อย่างแน่นหนา ในถุงมีแผ่นกระดาษสีน้ำตาลเก่าคร่ำเรียงกันเป็นปึก บรรจุถ้อยคำเป็นตัวอักษรจีน เทวินทร์บอกว่า อากงเขียนตำรายาจีนนี้ไว้ด้วยพู่กันจีน นี่คือมรดกตกทอดล้ำค่าของเขา
“มีคนสนใจอยากเรียนรู้เรื่องยาจีนกับผมเหมือนกัน ผมจะถามก่อนเลยว่า คุณรู้ภาษาจีนไหม ถ้าเขาบอกว่าไม่ ก็คือจบ ใครจะสืบทอดร้านยาจีนอันดับแรกต้องมีใจรัก สอง รู้ภาษาจีน และสาม อดทน เพราะมันจำเจมาก ตื่นเช้ามาต้องคิดก่อนว่าวันนี้ตากยาไปถึงไหนแล้ว ถ้าเป็นราต้องทิ้งทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจ่ายยาไปเราก็ไม่สบายใจ” ลุงเทวินทร์โคลงศีรษะ
ไม่มีใครรู้ว่าวันข้างหน้าร้านเอียเม่งหลีจะดำเนินไปในทิศทางไหน ดูเหมือนว่าฝ่ายที่น่าเป็นห่วงจะไม่ใช่คนไข้ที่เดินเข้ามาซื้อยาในร้าน แต่กลับเป็นร้านขายยาจีนเองต่างหาก ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเฉพาะตัว และนับวันจะหายใจรวยรินด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1055 วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2558)