กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
ดาบซามูไรเล่มงามที่วางอยู่ตรงหน้า ให้ทั้งความรู้สึกน่าตื่นตะลึงและน่าเกรงขามไปพร้อมกัน นี่คืองานทำมือในทุกขั้นตอนของบุญตัน สิทธิไพศาล หรือโกเนี้ยว สล่าทำมีดคนดังแห่งบ้านขามแดง ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร ว่ากันว่า ฝีมือของโกเนี้ยวในการทำดาบซามูไรตามขนบของชาวญี่ปุ่นทุกประการนั้น ไม่เป็นรองใครในประเทศนี้
โดยคร่าว ๆ เราอาจแบ่งกลุ่มทำมีดบ้านขามแดงออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มทำมีดแบบเน้นปริมาณ เน้นประโยชน์ใช้สอย อาทิ มีดที่ใช้ในครัวเรือน กลุ่มนี้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเน้นความประณีตสวยงาม พูดง่าย ๆ ว่าขายงานฝีมือ ทุกขั้นตอนจึงใช้มือทำเป็นหลัก และแน่นอนว่า ราคาย่อมสูงขึ้นไปหลายเท่าตัว
“ผมเป็นสล่าตอนปลายแล้วครับ” โกเนี้ยวออกตัว “สล่าในยุคแรกและยุคกลางของบ้านขามแดงไม่เหลือแล้ว”
ยังไม่แน่ชัดว่า ชาวบ้านขามแดงเริ่มทำมีดมาตั้งแต่เมื่อไร โกเนี้ยวบอกแต่เพียงว่า เตาต้นนั้นอยู่ที่บ้านพ่อหลวงแน่น มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 อาจประมาณได้ว่า ชาวบ้านขามแดงทำมีดกันมาไม่ต่ำกว่า 113 ปีแล้ว และทำกันแทบทุกหลังคาเรือน โดยมีเตาย่อมถึงกว่า 90 เตา แม้ทุกวันนี้จะเหลืออยู่ไม่กี่เตาก็ตาม
โกเนี้ยวสืบทอดวิชาทำมีดจากสล่ามา สล่ารุ่นแรกของบ้านขามแดง เป็นลูกมือสล่ามาตั้งแต่อายุ 13 ปี จนกระทั่งสล่ามาเอ่ยปากว่าสามารถออกไปทำมีดเองได้แล้ว ทว่ากว่าโกเนี้ยวจะหันมาจริงจังกับธุรกิจการทำมีดก็ล่วงเข้าปี พ.ศ. 2529 โดยเปิดเตาใหญ่ที่บ้านและรับคนงานมาทำมีดด้วยกัน ที่สำคัญคือ เน้นงานฝีมือเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ โกเนี้ยวจึงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศที่หลงใหลงานแฮนด์เมด และในที่สุดก็ได้ออเดอร์จากประเทศญี่ปุ่นให้ทำดาบซามูไรส่งเรื่อยมา
ไม่ง่ายเลยกับการทำดาบซามูไรสักเล่มที่ล้วนเต็มไปด้วยทักษะเฉพาะตัว แต่ก็คุ้มค่าเมื่องานฝีมือชนิดนี้ขายได้ราคาสูงลิบลิ่ว “ผมทำส่งญี่ปุ่นเล่มละ 57,000 บาท ที่โน่นเขาขายได้เล่มละ 300,000 บาท”
นอกจากดาบซามูไร อันเป็นจุดเด่นของโกเนี้ยว เขายังเน้นไปที่มีดโบวี่ มีดเลิฟเลส ดาบล้านนา และมีดอื่น ๆ อีกตามออเดอร์ ซึ่งแต่ละเล่มจะใช้เหล็กคุณภาพเยี่ยมจากประเทศเยอรมนีเป็นหลัก นอกจากนี้ ก็ยังมีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้ฝักไม้สัก รวมถึงมีลายเซ็นของโกเนี้ยวอยู่ในเนื้อเหล็ก หรือไม่ก็มีตัวอักษร ต แทนชื่อบุญตัน และตัวอักษร ม แทนชื่อสล่ามา ครูของโกเนี้ยวนั่นเอง
หากมีดโกเนี้ยวคือตัวแทนของสะสมอันล้ำค่า มีดของสล่าป๋องกับสล่ารินทร์ก็คงเป็นเครื่องมือคู่ใจของใครสักคนที่ใช้ประโยชน์จากความคมของมันอยู่ทุกวี่วัน
มีดดายหญ้า มีดฟันไม้ มีดอีโต้ คราด เสียม จอบ ฯลฯ เรียงกันอยู่เต็มแน่นในร้านแม่ลาค้ามีด บ่งบอกให้รู้ว่า ธุรกิจการทำมีดของพินิจ ธรรมชัย หรือสล่าป๋องนั้น เน้นมีดในครัวเรือนเป็นหลัก
แม้จะเน้นปริมาณ แต่การทำมีดแต่ละเล่มก็ใช่ว่าจะละเลยขั้นตอนสำคัญใด ๆ ได้ เริ่มจากการจัดหาถ่านสำหรับเผาเหล็ก ซึ่งต้องใช้ถ่านจากไม้สัก หรือไม้เต็ง ไม้รัง จึงจะดี ส่วนเหล็กที่จะนำมาใช้ก็ต้องเป็นเหล็กกล้า เน้นไปที่เหล็กแหนบ เมื่อได้เหล็กมาก็นำไปตัดให้ใกล้เคียงกับประเภทของมีดที่จะทำมากที่สุด จากนั้นจึงเอาเข้าเตาเผาให้เหล็กแดงจนใกล้จะถึงจุดหลอมเหลว ก็นำออกมาขึ้นรูปมีดด้วยการตี แต่งให้สวย เอาไปเจียให้คม มาถึงขั้นตอนชุบให้กล้า โดยการนำไปเผาอีกรอบ แล้วชุบน้ำ เหล็กจะคม จากนั้นนำไปใส่ด้าม หากอยากให้มีดคมสุด ๆ ก็ต้องนำไปลับกับหินอีกครั้งหนึ่ง เท่านี้ก็จะได้มีดที่คมกริบเลยทีเดียว
“เมื่อก่อนจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน เดี๋ยวนี้เราต้องเอาไปส่งเขาที่ร้าน” สล่าป๋องพูดพลางโคลงศีรษะ “ผมเคยทำมีดปาดตาลส่งเดือนละ 1,000 เล่ม แต่เดี๋ยวนี้ออเดอร์เหลือแค่ 100-200 เล่มเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม สล่าป๋องก็ยังทำมีดส่งหลายจังหวัด ทั้งในเมืองลำปางเอง จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ไกลถึงพระนครศรีอยุธยา
แม้จะมีเครื่องมือทุ่นแรงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเตาขนาดใหญ่ หรือเครื่องตีมีด แต่สล่าป๋องก็ยอมรับว่า การทำมีดเป็นงานที่เหนื่อยและต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่งยวด คล้าย ๆ กับโกเนี้ยว ผู้รักษาแบบแผนการทำมีดโบราณไว้อย่างไม่ตกหล่น ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การทำมีดต้องอาศัยใจรักและความมุ่งมั่น ซึ่งมันได้สะท้อนความจริงอันน่าเสียดายที่ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีในคนรุ่นใหม่ ๆ เสียแล้ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1055 วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2558)
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1055 วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2558)