วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไทยพีบีเอส ไม่ใช่สื่อสาธารณะ


           
วามหมายที่ต้องการสื่อสาร ก็คือมิใช่สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอสเท่านั้น ที่เป็นสื่อสาธารณะ หากความหมายของคำว่าสื่อสาธารณะ  ยังหมายถึงสื่อที่มีการทำงานตามระเบียบแบบแผน มีเป้าหมายชัดเจน และมีความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและกลไกตลาด
           
ดังนั้น เรื่องราวความขัดแย้งใน ไทยพีบีเอส จนกระทั่งคณะกรรมการนโยบาย มีคำสั่งเลิกจ้างนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ด้วยเหตุผลที่อิงอยู่กับเรทติ้ง หรือความนิยมชมชอบของคนดู จึงน่าจะไม่มีเหตุผลเพียงพอสำหรับการเลิกจ้างนายสมชัย ดุจสายฟ้าแลบ
           
พบข้อเขียน เรื่องสื่อสาธารณะ  ไม่ใช่ (แค่) สถานีโทรทัศน์ ของนายสมชัย สุวรรณบรรณ ตีพิมพ์ในนิตยสาร “อิศราปริทัศน์” เล่มแรก ที่ “ม้าสีหมอก” ริเริ่มให้ทำขึ้นเมื่อราว ปีก่อน  บางเรื่องราวอาจเป็นข้อมูลเก่า แต่สำหรับคนที่สนใจเรื่องของสื่อสาธารณะ และความขัดแย้งภายใน จนกระทั่งถึงวันที่นายสมชัย สุวรรณบรรณ ฟ้องศาลปกครอง เพื่อพิสูจน์ความจริง ก็น่าจะได้ความจริงบางด้าน ที่อาจทำให้มองภาพความจริงได้ชัดขึ้น
           
ภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดหายนะและโศกนาฏกรรมในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ทำให้ประชาชนในหลายประเทศ แสดงความชื่นชมในความมีระเบียบวินัย และลักษณะพิเศษของคนญี่ปุ่น
           
แต่ความจริงยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ (Nippon Hoso Kyokai) ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะของญี่ปุ่น ได้แสดงบทบาทตามคตินิยมและมาตรฐานของความเป็นสื่อสาธารณะ ที่รายงานข่าวได้รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ตามเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่เพิ่มเติมอารมณ์ให้เกิดความตื่นตระหนก อึกทึก หรือตื่นเต้นโกลาหล
           
ที่สำคัญ ไม่ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลของผู้เคราะห์ร้าย
           
สิ่งที่บ่งบอกถึงสาระความเป็นสื่อสาธารณะ คือการทำงานตามคตินิยม มาตรฐาน และวินัยของสื่อที่มีผลประโยชน์สาธารณะเป็นธงนำ และที่สำคัญ ต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและกลไกตลาด โดยเนื้อหาสาระและรูปแบบที่ปรากฏหน้าจอก็แสดงให้เห็นความแตกต่างที่เป็นลักษณะของความเป็นสื่อสาธารณะ
           
ยกตัวอย่าง เช่น คนที่ทำหน้าที่สื่อสาร พึงระวังมิให้อัตตาหรือตัวตนคนส่งสาร (messenger) บดบังเนื้อหาสาระ (message) ที่ตนกำลังสื่อสาร เป็นต้น
           
สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทยส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้กลไกตลาดมายาวนาน ย่อมทำให้สังคมไทยถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันมา และจากกลุ่มธุรกิจที่ทำการค้าภายใต้กลไกตลาด มากกว่าผลประโยชน์ของผู้บริโภค จนเกิดมีกลุ่มประชาชน เรียกร้องให้ก่อตั้งสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงขึ้นมา
           
ความจริงเป็นเรื่องไม่ผิดกติกาอะไร ที่สังคมจะมีสื่อทำงานภายใต้อำนาจการเมือง หรือกลไกตลาด หลายประเทศทั่วโลกก็มีสื่ออย่างนี้ เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยม และมีนักการเมืองบริหารประเทศ
           
แต่สังคมที่มีสื่อสาธารณะ ได้แสดงให้เห็นว่า มีประโยชน์ตรงที่ทำให้เกิดคัดคานกับสื่อรัฐและตลาด เปิดให้ประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ และความบันเทิงที่ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์จากการค้า หากำไร หรือการใช้อำนาจรัฐที่ปราศจากการตรวจสอบ
           
สื่อสาธารณะถือว่าผู้ชม ผู้ฟังเป็น “พลเมือง” ไม่ใช่แค่ “ผู้บริโภค”
           
ผลงานที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่า ในประเทศที่มีสื่อสาธารณะที่เข้มแข็ง โดยภาพรวมแล้ว ประชาชนในประเทศนั้นจะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่า อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบผู้รับผิดชอบที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า accountability จะมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าในประเทศที่ไร้สื่อสาธารณะ..
           
บางช่วงตอนที่นายสมชัย สุวรรณบรรณ อธิบาย และแสดงออกว่าเขาคือผู้รู้จริงคนหนึ่งในเรื่องสื่อสาธารณะ
           
น่าเสียดายที่กรรมการนโยบาย หลงประเด็นและยังคิดว่าเรทติ้งคือตัววัดความสำเร็จเรื่องเดียวในโลกนี้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1053 วันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์