นายอำเภอแม่ทะ พร้อม ส.อบจ. นำกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร้องลำน้ำจางแห้งและเน่าเสีย อ้างผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ชาวบ้านได้รับความเสียหายหนัก ของบกองทุนฯช่วยแก้ปัญหา สร้างอาชีพ ขุดลอก ด้าน กฟผ.ยันตรวจวัดคุณภาพน้ำก่อนปล่อยได้มาตรฐาน แหล่งข่าวในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตใช้ชาวบ้านเป็นข้ออ้างหาผลประโยชน์ ขณะที่เกษตรกรยังปลูกข้าวได้ ยอมรับสภาพน้ำแล้ง
· นายอำเภอนำ
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.58 นายธนิต สุภาแสน นายอำเภอแม่ทะ พร้อมด้วยนายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.อ.แม่ทะ และกำนันผู้ใหญ่บ้านประมาณ 50 คน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเพื่อเรียกร้องให้ กฟผ.แม่เมาะ สนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่ทะ ที่ใช้ลำน้ำจางหล่อเลี้ยงชีวิต เนื่องจากน้ำจางนำเหม็น มีวัชพืชปกคลุม โดยอ้างว่าเหตุมาจากการบริหารจัดการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
· ขาดงบสนับสนุน
นายธนิต สุภาแสน นายอำเภอแม่ทะ เปิดเผยว่า ทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะปล่อยน้ำน้อยลง เพราะเหตุผลหลายอย่าง รวมไปถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าและรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาทางอำเภอแม่ทะเคยได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า แต่ช่วง 2-3 ปีหลังนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ราษฎรก็ประสบปัญหาเรื่องแล้ง น้ำในลำน้ำจางแห้งแล้ง น้ำน้อยชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ อยากได้โครงการเข้าไปสนับสนุนอาชีพให้กับชาวบ้าน เช่น โครงการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งได้นำโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยมาแนะนำให้ชาวบ้าน คือการปลูกข้าวโพดหวาน โดยจะนำเสนอโครงการให้กับทางแม่เมาะ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้ อ.แม่ทะเหมือนที่ผ่านมา ทางอ.แม่ทะก็ไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเข้าร่วมพิจารณาโครงการเลยทั้งที่มีพื้นที่อยู่ติดกัน เมื่อมีการตั้งเหมืองไฟฟ้าแม่เมาะ ทำให้แหล่งน้ำของอำเภอแม่ทะลดลง โดยเฉพาะในปีนี้ อ.แม่ทะ จำนวน 4,000 ไร่ ไม่ได้เพาะปลูกเลย จึงขอให้ทาง กฟผ.แม่เมาะช่วยสนับสนุนโครงการให้กับ อ.แม่ทะด้วย โดยการยื่นข้อเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
· เดือดร้อนจาก กฟผ.
สำหรับข้อเรียกร้องในหนังสือ ระบุว่า สภาพลำน้ำจางเปลี่ยนแปลงไปมาก มีวัชพืชปกคลุมเต็มลำน้ำ ระบบนิเวศถูกทำลาย ชีวิตของราษฎรลุ่มน้ำจางได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น ทำการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการของ กฟผ.แม่เมาะ ดังนั้น ราษฎรส่วนใหญ่ของอำเภอแม่ทะ ได้อาศัยลำน้ำจางหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายมาก ทางผู้นำท้องถิ่นโดยการนำของนายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.ลำปาง เขต อ.แม่ทะ พร้อมนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล นายก อบต. ผู้นำท้องที่นำโดยนายเกษม เครือปัญญา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.แม่ทะ พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้าน 94 หมู่บ้าน 10 ตำบล เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและเยียวยาให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก กฟผ. แม่เมาะ เพื่อจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือราษฎรผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด
· เรียกร้อง 3 ข้อ
ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ จ.ลำปางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อม กฟผ.แม่เมาะ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำรวจความจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นของราษฎรลุ่มน้ำจาง สภาพแม่น้ำตื้นเขินเน่าเสีย เกษตรกรไม่มีน้ำทำสวน ขอให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณกำจัดวัชพืช 2. ขอให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณเยียวยาแก่ราษฎรผู้ได้รับความเสียหาย ส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้าน และ 3. ขอให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในการบริหารลำน้ำจางอย่างเป็นระบบ เช่น ทำฝาย สูบพลังงานไฟฟ้า ขุดลอกลำน้ำจางที่ตื้นเขิน ฯลฯ ที่เห็นสมควร
· มีน้ำส่งเลี้ยงลำน้ำจาง
ด้านนายอนุสรณ์ บุญรอด หัวหน้ากองโยธาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เปิดเผยว่า กรณีที่ได้มีการร้องเรียนว่าชาวบ้าน อ.แม่ทะได้รับผลกระทบจาก กฟผ.นั้น คงจะเป็นความเข้าใจผิดกัน ในส่วนของการส่งน้ำให้ในพื้นที่ลำน้ำจาง กฟผ.เปิดน้ำส่งให้ตลอดทั้งปี ส่วนปริมาณน้ำแล้วแต่ว่าปีไหนจะแล้งมากหรือน้อย ซึ่งน้ำที่ส่งให้ลำน้ำจางไม่เคยขาด ก่อนที่จะมีการร้องเรียนในวันที่ 1 ธ.ค. 58 ทาง กฟผ.ก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบฝายวังพร้าว อ.เกาะคา ซึ่งเป็นฝายสุดท้ายของลำน้ำจาง ก็พบว่าน้ำยังไหลล้นฝายอยู่ ถ้าชุมชนขาดน้ำเมื่อไรก็จะเร่งระบายให้กับชุมชน แต่จากการตรวจสอบน้ำก็ยังไม่ขาด สำหรับ กฟผ.จะมีน้ำบางส่วนที่เปิดเลี้ยงลำน้ำจางอยู่แล้ว และถ้าราษฎรขาดแคลนก็จะมีช่องทางการเปิดน้ำให้มากขึ้น ให้ไหลไปถึงฝายท้ายน้ำ ซึ่งก่อนที่จะปล่อยจะมีการไปตรวจสอบท้ายน้ำก่อนว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจริง เราไม่เคยปล่อยให้น้ำแห้งจนเห็นพื้นดินถึงเปิดน้ำให้ หากว่าน้ำลดลงต่ำจากฝายนิดหน่อยก็เปิดให้ราษฎรได้มีน้ำใช้แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงปล่อยน้ำเลี้ยงลำน้ำแม่จางอยู่
· ยังระบายน้ำตลอด
เรื่องการงดปล่อยน้ำนั้น เมื่อเดือน พ.ย.58 ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการเชิญประชุมนายอำเภอ เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ทั้งจังหวัดไปประชุมร่วมกับชลประทาน โดยให้นโยบายว่าขอให้งดปลูกพืช เพราะปีนี้น้ำน้อย เกรงว่าจะไม่พอใช้ สามารถจ่ายให้ได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ซึ่งทางนายอำเภอต้องนำมาแจ้งให้กับในพื้นที่รับทราบ
· ยืนยันไม่มีน้ำเสียจาก กฟผ.
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า น้ำที่ไหลลงลำน้ำจางนั้นจะมี 2 ส่วน คือน้ำออกจากโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการวัดคุณภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด จึงจะปล่อยลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ ยืนยันว่าไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกไปแน่นอน และน้ำอีกส่วนจะเป็นน้ำที่มาจากหมู่บ้าน ชุมชน เนื่องจากลำน้ำจางไหลผ่านบ้านเรือนราษฎรจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีน้ำทิ้งจากบ้านเรือนบางส่วนปะปนเข้ามา ส่วนนี้ต้องมีการส่งเสริมให้ราษฎรเรียนรู้และสร้างถังบำบัดน้ำทิ้งจากครัวเรือนก่อน
· หากเดือดร้อนพร้อมช่วย
“ ทางผู้ว่าการ กฟผ. มีนโยบายว่า จะต้องบริหารจัดการทั้งชุมชนและการผลิตกระแสไฟฟ้าต้องควบคู่กันไป ถ้าในตอนนี้ชุมชนมีความเดือนร้อนจริงและขอเข้ามาก็สามารถปล่อยให้ได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานที่ว่าชุมชมอยู่ได้ โรงไฟฟ้าก็ต้องอยู่ได้ด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าว
ในส่วนของงบประมาณที่จะช่วยสนับสนุนในพื้นที่ อ.แม่ทะ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่ทางนายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้มาพูดคุยกับผู้ว่าราชการฯ และ กฟผ. คือเรื่องเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งทางอำเภอแม่ทะบอกว่าเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับ อ.แม่เมาะ บางหมู่บ้านก็อยู่คาบเกี่ยวกัน จึงคิดว่าจะได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าด้วย ทางจังหวัดก็คงจะมีการผลักดันที่จะให้การช่วยเหลือต่อไป
· สงสัยผลประโยชน์
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในพื้นที่ อ.แม่ทะ ได้ให้ข้อมูลว่า กรณีการยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ชาวบ้านไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังคงทำนาปลูกข้าว ปลูกผักขายได้ตามปกติ โดยใช้น้ำจากลำน้ำจางกันทั้งนั้น จึงเป็นข้อสังเกตว่าการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเป็นการต้องการงบประมาณเพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ เพราะผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ทำอาชีพผู้รับเหมากันทั้งนั้น การที่จะนำงบประมาณมาขุดลอกแม่น้ำเห็นชัดเจนว่าใครจะได้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการทำลายระบบนิเวศมากกว่า เพราะดอกบัวต่างๆ ที่อยู่ในน้ำก็จะถูกขุดไปหมด ควรจะใช้วิธีการตักวัชพืชขึ้นมาจากน้ำ หากผู้นำมีความตั้งใจที่จะทำจริงๆ ชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่านำชาวบ้านไม่เป็นข้ออ้างในการหาผลประโยชน์ให้กับตัวอง
· หัวเสือน้ำไม่เน่า
นอกจากนี้ ในพื้นที่ ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นจุดแรก เจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้อ้างว่า ประสบปัญหาน้ำเสียจากที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขณะนี้แหล่งข่าวซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ ให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันว่า ในพื้นที่ยังคงใช้น้ำในลำน้ำจางได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาน้ำเสียแต่อย่างใด
· น้ำยังล้นฝาย
ลานนาโพสต์จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวและสอบถามชาวบ้านริมฝั่งลุ่มแม่น้ำจางว่าได้รับผลกระทบขนาดไหน จากที่ลานนาโพสต์ลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำจางพบว่าน้ำในแม่น้ำยังไหลล้นเขื่อน ไม่ได้แห้งจนเห็นดินทรายกลางแม่น้ำ ในส่วนของมวัชพืชปกคลุมแต่ไม่มากขนาดทำให้น้ำเน่าเสีย
· ใช้น้ำจางทำสวนครัว
นางบัวจันทร์ อินทะนัก อายุ 60 ปี เกษตรกรบ้านนากว้าว ตำบลป่าตันกล่าวว่าปีนี้แม่น้ำจางน้อยกว่าปีที่แล้ว ทางรัฐบาลได้ประกาศห้ามใช้น้ำทำการเกษตรแล้ว แต่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะว่า ปลูกเพียงแปลงผักใช้น้ำไม่เท่ากับการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว ทางหมู่บ้านได้แก้ปัญหาน้ำแล้ง
ในปีนี้โดยการให้ไปเลี้ยงสัตว์แทน หนึ่งบ้านจะได้ไก่ 5 ตัว หรือเลือกเป็นหมูก็ได้ โดยครั้งแรกจะมีอาหารสัตว์สำเร็จรูปให้ 3 กระสอบแต่เรื่องนี้มีชาวบ้านค้านขึ้นเพราะราคาหมู่กับไก่ไม่เท่ากัน จึงยังเป็นเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะจัดการอย่างไรต่อ
ในปีนี้โดยการให้ไปเลี้ยงสัตว์แทน หนึ่งบ้านจะได้ไก่ 5 ตัว หรือเลือกเป็นหมูก็ได้ โดยครั้งแรกจะมีอาหารสัตว์สำเร็จรูปให้ 3 กระสอบแต่เรื่องนี้มีชาวบ้านค้านขึ้นเพราะราคาหมู่กับไก่ไม่เท่ากัน จึงยังเป็นเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะจัดการอย่างไรต่อ
· ทำนาได้ปกติ งดปลูกถั่ว
นายบุญเรือน วงศ์อุ่นใจ อายุ 62 ปี เกษตรกรบ้านหลุก ตำบลนาครัวกล่าวว่าปีนี้ข้าวที่ทำได้น้อยกว่าทุกๆ ปีเพราะว่าน้ำน้อยทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง จากที่รัฐบาลประกาศงดส่งน้ำสนับสนุนการทำเกษตรในช่วงนาแล้ง ก็ไม่ทำ หากทำไปก็ตาย ตนเลิกปลูกถั่วเหลืองมา 3 ปี เพราะต้องใช้น้ำเยอะ แต่น้ำในพื้นที่ไหลน้อย และในที่นาไม่ได้ขุดน้ำบาดาล จึงไม่มีแหล่งน้ำในการทำเกษตรหากปลูกไปถั่วก็ตาย โดยเฉพาะปีนี้น้ำน้อยกว่าทุกปีด้วยแล้วถั่วคงไม่โต ส่วนงานในหน้าแล้งหากไม่สามารถทำเกษตรได้ก็เข้าเมืองไปทำงานก่อสร้าง หรือไม่ก็รับจ้างแกะสลักไม้เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านแกะสลัก ไม้มีงานเข้ามาตลอด
· สูบน้ำจากลำน้ำจางไปถึงนา
นายเกษม แก้วขัน เกษตรกรบ้านดอกสะบันงา หมู่ 8 กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการส่งน้ำในการทำการเกษตรไม่มีปัญหา อำเภอแม่ทะทุกหมู่บ้านนะมีเครื่องสูบน้ำตั้งอยู่ตามจุดของหมู่บ้านกว่า 20 จุด และจะมีระยะเวลาในการเปิด-ปิดน้ำ แล้วแต่การบริหารจัดการในหมู่บ้านนั้น ในส่วนของที่นี่จะมีกำหนดในการปล่อยน้ำ เพื่อที่จะให้มีน้ำพอเพียงในการทำการเกษตร จนถึงระยะเก็บเกี่ยว เวลาในการเปิดคือ 08.00-17.00 น. ในช่วงเวลาที่หมู่บ้านทำการสูบน้ำ ชาวบ้านก็จะเปิดน้ำเพื่อให้เข้านาของตัวเองเพื่อทำการเกษตร น้ำไปถึงได้ทุกพื้นที่ไม่ใช่ได้เฉพาะแต่ที่นาอยู่ต้นน้ำ หากช่วงไหนที่น้ำไม่พอจริงๆ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ชาวบ้านก็รวมตัวกันแล้วไปขอให้เหมืองแม่เมาะปล่อยน้ำให้เพิ่มเพื่อทำการเกษตรก็สามารถทำได้ แต่ในปีนี้ที่น้ำแล้งจริงๆ ไม่ใช่แค่จังหวัดลำปางเท่านั้นแต่แล้งทั่วประเทศ ทางรัฐบาลประกาศไม่ให้ใช้น้ำ เพื่อทำการเกษตรก็เข้าใจ และก็ทำตามที่ประกาศ หากทำไปพืชผลที่ปลูกก็ตายเพราะขาดน้ำ
นางบัวเหลี่ยม อินนันชัย ผู้ช่วยผู้ใหญ่หมู่ที่ 8 บ้านสะบันงา กล่าวว่า การส่งหนังสือร้องเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่องปัญหาน้ำนั้น ไม่ทราบเรื่องว่ามีการไปยื่นหนังสือ อาจจะเป็นส่วนที่ผู้นำพูดคุยกันเอง ส่วนเรื่องของปัญหาน้ำขาดแคลนในการทำการเกษตรนั้น หมู่ที่ 8 ไม่มีปัญหา เพราะว่าน้ำเพียงพอ
แต่ยอมรับว่าปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ถึงขนาดกับกระทบกระเทือนขนาดที่ไม่สามารถทำนาได้
แต่ยอมรับว่าปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ถึงขนาดกับกระทบกระเทือนขนาดที่ไม่สามารถทำนาได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1057 วันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2558)