วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เปิดศูนย์กำจัดขยะ อบจ. รับอปท.51แห่ง เป้าวันละ 350ตัน


ศูนย์กำจัดขยะครบวงจร อบจ.ลำปางเตรียมเปิดให้บริการ หลังทดลองเดือนเครื่อง 1 เดือน พร้อมเปิดรับขยะจาก อปท. 6 อำเภอ เริ่ม 1 ม.ค.59  และภายใน 6 เดือนข้างนี้พร้อมจะเปิดระบบได้เต็มที่ 100%

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.58  องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการทดสอบระบบกำจัดขยะมูลฝอยโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ตั้งอยู่ เขตป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย (ป่าแม่เมาะแปลง2) ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง  โดยมีนายทองดี จอมวงค์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง  นำบุคลากรองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุป ชมกระบวนการทดสอบระบบกำจัดขยะมูลฝอย ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 600 กว่าล้านบาท  และมีนายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการโครงการศูนย์กำจัดขยะครบวงจร  เป็นผู้ให้ข้อมูล

นายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี  ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า  จากการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาลแบบครบวงจร  พื้นที่ก่อสร้างของ อบจ.ลำปาง ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ 2 แบ่งเป็น 6 อำเภอ  ประกอบด้วย อ.เมือง อ.เกาะคา อ.เสริมงาม อ.ห้างฉัตร อ.แม่ทะ และ อ.แม่เมาะ  โดยให้ อ.เมืองเป็นศูนย์กลาง ประมาณการขยะ 340 ตันต่อวัน  วิเคราะห์ตามการอพยพย้ายถิ่น การท่องเที่ยว เป็นต้น  โดยจะไม่รวมขยะของเทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร    ซึ่งจะไม่รับขยะจากเอกชนเข้ามา จะมีเฉพาะขยะจาก อปท.ที่ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ หากนำขยะเข้ามาในศูนย์จะมีการช่างน้ำหนักและเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่ทาง อบจ.กำหนด  และขยะรับเฉพาะขยะจากครัวเรือนและตลาดสดเท่านั้น ไม่รับขยะจากอุตสาหกรรมเด็ดขาด

ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับกระบวนการกำจัดขยะมูลฝอยของศูนย์แห่งนี้ เริ่มจากการช่างน้ำหนัก   เมื่อขยะถูกลำเลียงส่งเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะนำขยะดังกล่าวไปดำเนินการตามขั้นตอน โดยเริ่มต้นที่อาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล กับขยะที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ออกจากกัน จากนั้นจะส่งขยะรีไซเคิลไปอัดเป็นก้อน แปรรูปเป็นขยะ RDF ส่งขายไปที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยลำปาง  ส่วนขยะจากเศษอาหารก็จะส่งไปที่อาคารหมักปุ๋ยชีวภาพ อาคารผึ่งปุ๋ย และบรรจุปุ๋ยหมัก เหลือขยะที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แล้วจะนำไปบ่อฝังกลบมูลฝอย ตามลำดับ  ซึ่งทุกอาคารจะมีระบบการกำจัดกลิ่น รวมทั้งมีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณ

“ความคืบหน้าของโครงการฯตอนนี้แล้วเสร็จไปกว่า 95 เปอร์เซ็นต์  อยู่ในขั้นตอนการทดสอบ 2 ส่วน คือ ทดสอบเครื่องจักรกับขยะจริง  และทดสอบกับคน เพื่อสร้างความคล่องตัวในการจัดการขยะร่วมกับเครื่องจักร โดยได้จ้างคนงานในพื้นที่  ซึ่งเริ่มนำขยะจริงเข้ามาโดยความอนุเคราะห์จาก อบต.บ่อแฮ้ว วันละ 5 ตัน  เมื่อคนงานคล่องตัวมากขึ้นก็จะเพิ่มปริมาณขยะไปเรื่อยๆ คาดว่าจะเสร็จทั้งหมดในเดือน ม.ค.59 ตรงตามที่ทางจังหวัดได้ให้นโยบายไว้”  ผู้จัดการโครงการฯ กล่าว

นายไกรศักดิ์ กล่าวอีกว่า  จากการศึกษาความเป็นไปได้ ทางศูนย์กำจัดขยะฯ สามารถรองรับขยะได้ 350 ตันต่อวัน แต่ขึ้นอยู่กับทางจังหวัดว่าจะทำความเข้าใจกับ อปท.ต่างๆ ให้นำขยะเข้ามาทิ้งได้อย่างไร  ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมหารือกันว่าจะมีการคิดค่าธรรมเนียมน้ำหนักของขยะเท่าไร โดยใน 6 เดือนแรกจะเป็นการทดลองอย่างเต็มรูปแบบ อบจ.จะทำความเข้าใจกับ อปท.ให้นำขยะเข้ามา หากเข้ามาเยอะเท่าไรก็จะคุ้มทุนมากเท่านั้น  ส่วนค่าธรรมเนียม การจัดการอยู่ที่จังหวัด และอบจ.ไปดำเนินการ

ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยแห่งนี้ นอกจากช่วยแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชน ได้อย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนจากการขายวัสดุรีไซเคิล การจำหน่ายปุ๋ยหมัก และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปขยะอีกด้วย  ถือว่าเป็นมาตรการในการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปทิ้งจริงๆ ได้มากถึง 40%  นายไกรศักดิ์ กล่าว

สำหรับ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านศรีดอนไชย ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 311 ไร่  โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 ก.ย.52 สัญญาแล้วเสร็จในวันที่ 18 ก.พ. 59  โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 50 จังหวัดลำปางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล 6 อำเภอ 51 แห่ง  ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมจังหวัดลำปาง (MOU) โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกหลักสุขาภิบาล การลักลอบนำขยะมูลฝอยทิ้งตามที่รกร้าง ข้างถนน ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น แมลงวัน และมีการเผาขยะทำให้เกิดภาวะหมอกควัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1060 วันที่ 25 ธันวาคม 2558 - 7 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์