วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ลำปาง...ร้อนมาก


ภาวะโลกร้อน ร้อนมากจนถึงร้อนที่สุด จนแทบจะทำให้ประเทศไทยมีฤดูหนาวที่น้อยลงเรื่อยๆ จำได้ว่าสมัยยังเด็ก ราวต้นเดือนธันวาคมจะได้สัมผัสถึงความหนาวเย็นราว 3 เดือน แต่นานวันผ่านไปดูเหมือนช่วงเวลาของฤดูหนาวจะสั้นลง และผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยบอกว่า ลำปาง...หนาวมาก” มาวันนี้ความหนาวที่เคยสัมผัสกลายเป็นเม็ดเหงื่อในยามบ่ายพร้อมแสงแดดแสบผิว

ผ่านมาราว 20 ปีเห็นจะได้ ที่เราพร่ำพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน จนมาถึงการประชุมรัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2558 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือได้ได้ว่าเป็น วาระของมนุษยชาติ” เลยทีเดียว เพราะมีผู้นำจากทั่วโลกกว่า 150 ประเทศเดินทางมาเข้าร่วม เครือข่ายด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกกว่า 2,000 องค์กร และภาคส่วนต่างๆอีกราว 5 หมื่นชีวิต ซึ่งทั้งหมดจะร่วมกันทำข้อตกลงและกำหนดเป้าหมาย เพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงเปลี่ยนวิธีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เหตุผลที่ต้องจับตาการประชุม COP21 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โลกเดินมาสู่ จุดวิกฤติ” แล้ว หากข้อตกลงหรือเป้าหมายที่แต่ละประเทศให้ไว้ในการประชุมครั้งนี้ไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง ในอนาคตอันใกล้โลกจะเต็มไปด้วยมหันตภัยครั้งเลวร้ายที่สุด เกินกว่าใครจะจินตนาการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมประชุม และเตรียมประกาศเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ลง 25% ภายในปี 2573 (ภายใน 14 ปีข้างหน้า) นอกจากนี้ นายประเสริฐ ศิรินภาพร ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เป้าหมายที่ประเทศไทยเตรียมประกาศต่อที่ประชุมครั้งนี้ เป็นไปตามแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ปีละ 5,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่ป่าขึ้น 40% ของประเทศ เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองไม่น้อยกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายอย่างน้อย 25% รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประเทศไทย ใน ปี 2557 สูงถึง 250 ล้านตัน มาจากการผลิตไฟฟ้า 40% อุตสาหกรรม 28% การขนส่ง 25% อื่นๆ 7%  ล่าสุด 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 255 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน)

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องสูญเสียป่าไม้ เกิดภูเขาหัวโล้นมากขึ้นทุกปี บางปีเกิดปัญหาน้ำท่วม  บางปีก็เกิดปัญหาน้ำแล้ง โดยเฉพาะปีนี้ที่ชาวนาทุกข์หนักมาก ถามว่าข้าราชการและนักการเมืองไทยที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้าร่วมประชุม COP1 จนถึง COP20 นั้นได้นำผลของการประชุมมาผลักดันให้รัฐบาลให้ความสนใจในเชิงนโยบายเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้มากแค่ไหน

การไปร่วมประชุมเวทีระดับโลกแต่ละครั้ง ควรมีเป้าหมายของการประชุมเพื่อนำองค์ความรู้และผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมและเจรจามากำหนดในเชิงนโยบายในประเทศไทยเพื่อให้สอดรับกับมติหรือผลของการเจรจา ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดโลกร้อนให้ได้ร้อยละ 7 - 20 ภายใน 15 ปีข้างหน้าเริ่มจากปี 2563 เป็นต้นไป

แต่มันเหมือนเป็นการโกหกตัวเอง และเป็นการโกหกสังคมโลกอย่างไม่ละอาย เพราะหลายนโยบายดูจะเป็นการผลักดันโครงการและกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยและของโลกตลอดเวลาและเพิ่มมากขึ้น อาทิ การผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 9 แห่งในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2015 รวมทั้งการสนับสนุนให้เพื่อนบ้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างเขื่อนทำลายป่าไม้

ไม่แปลกใจที่ชาวบ้านทั่วประเทศจึงออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกันทั่วทุกหัวระแหง เพราะยุคนี้ สมัยนี้ไม่ใช่สมัยปี 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมอีกต่อไปแล้ว ที่ผู้นำพูดอะไร ชาวบ้านจะเชื่อถือตามทุกอย่าง เพราะเขาสามารถเข้าถึงระบบสารสนเทศต่างๆ มากมายเพื่อรู้เท่าทันสิ่งที่แอบแฝงอยู่ข้างหลัง แต่ผู้มีอำนาจก็ยังลำพองใจในอำนาจ ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แม้แต่การกำจัดขยะซึ่งมีทางเลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นคัดแยกขยะ ฝังกลบ รีไซเคิล แต่ทุกองค์กรส่วนกลาง ทุกหน่วยงานท้องถิ่นต่างชี้นิ้วไปที่การนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งๆที่รู้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นสาเหตุโลกร้อนของไทย ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดกว่า 50 โรงทั่วประเทศ

สาเหตุและคำถามเหล่านี้ ฝ่ายการเมืองและข้าราชการทั้ง  81 คน ที่ไปร่วมประชุม COP 21 หมดงบประมาณเกือบ 20 ล้านบาท คงต้องคอยดูว่าท่านจะนำปัญหาในเชิงนโยบายเหล่านี้ไปแถลงให้สังคมระหว่างประเทศที่มาร่วมประชุมกว่า 194 ประเทศรับรู้หรือไม่ หรือเตรียมแต่จะนำผักชีไปสาธยายถึงความสำเร็จในการควบคุมปัญหาโลกร้อนในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาลอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการและกิจกรรมของรัฐ

เนื่องเพราะปัญหาโลกร้อน มิได้แก้ด้วยท่าทีห่วงใย หรือใช้แต่ถ้อยคำ แต่ต้องรู้จริงและลงแรงทำอย่างจริงจังด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1057 วันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์