วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จากเจ้าเกษม ถึงพ่อเกษม

 

วามเป็นลำปาง นำความสว่างไสวไปสู่ทุกแห่งหน ด้วยโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ความเป็นลำปางนำความสว่างไสวไปสู่หัวใจของทุกผู้คน ก็ด้วยการมีอยู่ของหลวงพ่อเกษม เขมโก พระเถระและเกจิอาจารย์ผู้เคร่งครัดในธุดงค์วัตร นี่ย่อมเป็นความภาคภูมิของคนลำปางที่คนบ้านอื่น เมืองอื่น อาจไม่มีโอกาสพานพบ

หลวงพ่อเกษมนั้น นับเป็นเจ้านายองค์หนึ่งในราชวงศ์ทิพย์จักร มีไม่มากนัก  เจ้านายที่อาจเลือกมีชีวิตที่สุขสบายได้ หากแต่กลับละความสุขทางโลก มุ่งสู่ทางธรรมอย่างแน่วแน่ มั่นคง

ครูบาศรีวิชัย อริยสงฆ์แห่งภาคเหนือครั้งเมื่อมาบูรณะพระวิหารหลวงวัดพระแก้วดอนเต้า  ได้กล่าวถ้อยคำพยากรณ์กับพ่อหนานติ๊บ นามคุณา มรรคนายก วัดศรีล้อม ซึ่งขณะนั้นอายุ 19 บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า ว่า

เณร วันหน้าต๋นบุญสู จะมาเกิดในเมืองเวียงละกอน (ลำปาง) บ่าเดี่ยว (เวลานี้) ยังน้อยอยู่

ต๋นบุญสู ก็คือหลวงพ่อเกษมในกาลต่อมา

มีผู้บันทึกประวัติหลวงพ่อเกษมไว้ อย่างน่าสนใจ

หลวงพ่อเกษม เขมโก เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง ประสูติ เมื่อ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ. 131 เป็นบุตรใน เจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ)รับราชการเป็นปลัดอำเภอกับ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

สมัยตอนเด็กๆมีคนเล่าว่าท่านซนมากมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านปีนต้นบ่ามั่น(ต้นฝรั่ง)เกิดผลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ เมื่อท่านอายุได้ 13 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งเป็นการบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ)ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ววันได้ลาสิกขาและท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปีและจำวัดอยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง

ท่านได้ศึกษาด้านพระปรัยัติธรรมจนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ. 2474 และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีถัดมา โดยมีพระธรรมจินดานายกเจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหารอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ท่านได้รับฉายาว่า "เขมโก" แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม โดยพระภิกษุ เจ้าเกษมเขมโก ได้ศึกษาภาษาบาลีที่สำนักวัดศรีล้อมต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย

พ.ศ. 2479 ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกท่านเรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้ รวมทั้งสามารถแปลเป็นภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี แต่ท่านไม่ยอมสอบเอาวุฒิจนครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างเข้าใจว่าพระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโกไม่ต้องการมีสมณะศักดิ์สูงๆเรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น

เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติธรรมแล้วท่านเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาจนกระทั่ง ท่านทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือครูบาแก่น สุมโน ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์

ท่านได้ตามครูบาแก่น สุมโนออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึกจนถึงช่วงเข้าพรรษาซึ่งพระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราวท่านจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิมพอครบกำหนดออก ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

ต่อมา เจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลงทางคณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโกมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส

เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้ายแต่ท่านก็ห่วงทางวัดเพราะท่านเคยจำวัดนี้ท่านเห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนาเพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน

หลังจากนั้นท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้งเนื่องจากท่านอยากจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้นท่านจึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทานพร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ตลอดชนชีพเป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ
ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง

หลวงพ่อเกษม เขมโก มรณภาพ ณ ห้องไอซียูโรงพยาบาลลำปางจังหวัดลำปางเมื่อเวลา 19:40 น. ของวันจันทร์ที่15 มกราคมพ.ศ. 2539ซึ่งตรงกับวันแรม 11 ค่ำ เดือน ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่สานุศิษย์ทั่วประเทศ

ส่วนสรีระของท่านนั้นก็ยังความอัศจรรย์ด้วยเนื่องจากไม่เน่าเปื่อยเหมือนอย่างสังขารทั่วไป ทั้งยังเขียนป้ายบอกผู้ที่มาเคารพสรีระท่านด้วยว่าให้พนมมือไหว้ที่หน้าอกเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์อย่างศพของพระเถระทั่วไปนับว่าท่าน นั้นถือสมถะเป็นอย่างมาก

นี่คือหลวงพ่อเกษม เขมโก เราคงมีโอกาสรำลึกถึงหลวงพ่ออย่างเป็นการเป็นงานอีกครั้งในโอกาสครบรอบวันมรณภาพของท่านกลางเดือนหน้า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1057 วันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์