วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บนฟากฟ้ามองหาชาละวัน


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

กระแสแห่ดูปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่เพิ่งจะผ่านไปหมาด ๆ เมื่อคืนวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา คล้อยหลังมาได้เพียงวันเดียว กลุ่มคนที่หลงใหลท้องฟ้ายามราตรีก็มีเฮอีก เพราะเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศผลการคัดเลือกชื่อสามัญโลกต่างระบบ 20 แห่ง ที่สำคัญก็คือ มีดาวฤกษ์ดวงแรกบนท้องฟ้าที่มีชื่อสามัญสากลเป็นชื่อไทย ได้แก่ ดาว 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris) ได้ชื่อว่า ชาละวัน ส่วนดาวบริวาร ดวง คือ 47 หมีใหญ่บี ชื่อ ตะเภาทอง และ 47 หมีใหญ่ซี ชื่อ ตะเภาแก้ว 
           
สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดชื่อและนิยามต่าง ๆ ในทางดาราศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการ NameExoworlds มีเป้าหมายที่จะตั้งชื่อสามัญให้แก่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นจำนวน 20 ระบบ บางระบบที่ดาวฤกษ์ยังไม่มีชื่อสามัญก็ให้ตั้งชื่อสามัญด้วย โดยเปิดโอกาสให้องค์กรทางดาราศาสตร์จากทั่วโลกเสนอชื่อเข้าไป และจะตัดสินด้วยการลงคะแนนเสียงออนไลน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ มีองค์กรทางดาราศาสตร์กว่า 584 องค์กรทั่วโลกร่วมเสนอชื่อ

แน่นอนว่า สมาคมดาราศาสตร์ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น มีการจัดประกวดชื่อผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคมฯ และในที่สุดก็ได้เลือกชื่อ ชาละวัน ของนายสุภาภัทร อุดมรัตน์นุภาพ และ ตะเภาแก้ว  ของเด็กหญิงศกลวรรณ ตระการรังสี โดยคณะทำงานยังได้เพิ่มชื่อ ตะเภาทอง อีกหนึ่งชื่อ เพื่อนำไปตั้งให้แก่ระบบสุริยะของดาว 47 หมีใหญ่ เหตุที่เลือกดาวดวงนี้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มดาวที่ตรงกับดาวจระเข้ของไทย สอดคล้องกับตัวละครในนิทานพื้นบ้านเรื่องไกรทองพอดี โดยให้ชื่อ ชาละวัน แก่ดาวฤกษ์ ส่วน ตะเภาแก้ว กับ ตะเภาทอง ยกให้เป็นชื่อของดาวเคราะห์ทั้งสองของดาวชาละวัน

การลงคะแนนเพื่อคัดเลือกของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พ.ศ 2558 ก่อนที่ผลจะออกมาว่า ชื่อดาวชาละวัน ดาวตะเภาแก้ว และดาวตะเภาทอง มีผู้ลงคะแนนให้สูงสุด ได้เป็นชื่อสามัญของดาว 47 หมีใหญ่และบริวารอย่างเป็นทางการ

ดาวชาละวันของเราอยู่ที่ตำแหน่งไรต์แอสแซนชัน 10 ชั่วโมง 59 นาที 27.97 วินาที เดคลิเนชัน +40 องศา 25 ลิปดา 48.9 พิลิปดา อยู่ในเขตของกลุ่มดาวหมีใหญ่ ใกล้กับดาวจระเข้ของไทย เป็นดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ มีมวลมากกว่าเล็กน้อย อยู่ห่างจากโลก 46 ปีแสง มีความสว่างพอมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องดูในพื้นที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน ในช่วงฤดูหนาวมองเห็นได้ง่ายในช่วงเช้ามืด

อันที่จริง ชาวบ้านภาคเหนือเรียกกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือดาวจระเข้ว่า ดาวช้าง นับเป็นกลุ่มดาวที่ชาวบ้านทั่วทุกถิ่นไทยใช้สังเกตเวลา ฤดูกาล และทิศทางอย่างถูกต้องตรงกัน เพื่อประโยชน์ในการหาอยู่หากิน

ชาวนาทางภาคเหนือนิยมดูดาวอยู่ กลุ่ม คือ ดาวช้างและดาววี ในช่วงเดือน ถึงเดือน ของภาคเหนือ (พฤษภาคม-มิถุนายน) ซึ่งชาวบ้านต้องออกทำนาตอนหัวรุ่ง ถ้าเห็นดาวช้างงวงชี้ตรง แสดงว่าใกล้เช้าแล้ว ถึงเวลาต้องลุกตื่นไปทำนา ช่วงเดือน ของทางเหนือ (ธันวาคม) ดาวช้างจะขึ้นตอนใกล้เช้า พอเห็นดาวช้าง ก็ต้องลุกขึ้นมาตีข้าว ขณะเดียวกัน คนที่ตีข้าวตอนกลางคืนในช่วงเดือน แรม (ประมาณธันวาคม) จะใช้ดาวช้างเป็นเครื่องบอกเวลาเลิกตีข้าวอีกด้วย ช่วงนี้ดาวช้างออกดึกประมาณตีหนึ่งตีสอง หากเห็นดาวช้างตากหงาย (หงายหลัง) ก็หยุดตีข้าวได้ เพราะใกล้จะสว่างแล้ว

หนุ่มเมืองเหนือสมัยก่อนยังจำเป็นต้องดูดาวช้างให้เป็น เพราะยามค่ำคืนสาวคู่รักออกปั่นฝ้ายที่หัวเติ๋น (ระเบียง) หนุ่ม ๆ ออกไปแอ่วสาว จะรู้เวลาว่าดึกมากก็โดยดูดาวช้าง หากเป็นฤดูหนาว ถ้าเห็นดาวช้างตากหงาย ปกงวง (ตั้งงวง) แสดงว่าใกล้เช้าเต็มที ถึงเวลาต้องลากลับบ้านได้แล้ว ขืนยังไม่กลับ ทางบ้านฝ่ายสาวลุกขึ้นมานึ่งข้าวแล้วเจอกัน จะเป็นเรื่องน่าอายมาก

มนุษย์เราดูดาวด้วยตาเปล่ามาไม่รู้กี่พันปีแล้ว ทุกคนสามารถหัดดูดาวได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจระเบียบของท้องฟ้าให้ได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1059 วันที่ 18 - 24 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์