วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ดราม่า ฉายา !


ความเป็น “บุคคลสาธารณะ” และ “ข่าวบันเทิง” ถูกตีความด้วยทัศนะใหม่ จนผู้คนแยกไม่ออกว่า ดารา ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะชัดเจน จะต้องยินยอมให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะนักข่าว รุกล้ำเรื่องส่วนตัวของพวกเขาได้ทุกกรณีหรือไม่ 

ในขณะเดียวกัน ความเป็นข่าวบันเทิง นั่นหมายถึงเรื่องราวที่วนเวียนกับเรื่องรักๆใคร่ๆ เรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัวของเขาแต่ประการเดียวหรือไม่

มองในภาพความจริง พฤติกรรมของดารา หรือคนที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ก็ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กและเยาวชน ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะที่จะแยกแยะถูก ผิดได้ เช่น การที่ดารามีพฤติกรรมในเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดความคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่พวกเขาก็ควรจะทำได้เหมือนกัน

แต่นั่นไม่ได้แปลว่า สื่อสามารถใช้เสรีภาพในการวิพากษ์ วิจารณ์ ให้ฉายา ในลักษณะหมิ่นแคลน ดูถูก ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นการให้ฉายานักการเมือง ดารา ตำรวจ หรือบุคคลสาธารณะประเภทใดก็ตาม พฤติกรรมของบุคคลย่อมแสดงออกด้วยสิ่งที่เขากระทำ และปรากฏเป็นข่าวอยู่แล้ว

การให้ฉายาจากฐานคิด จาก “ข่าวฉาว” ซึ่งล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวของดารา ด้วยเจตนาให้เป็นบทเรียนของดารา ด้วยถ้อยคำที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นคนละเรื่อง คนละกรณี กับการเสนอข่าว การให้ฉายา หรือการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของดารา อันถือเป็นบุคคลสาธารณะ

เราสามารถให้ฉายา ด้วยถ้อยคำที่มีรสนิยม และไม่ละเมิดบุคคลอื่นได้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ นิยามของข่าวบันเทิง เราอาจเข้าใจว่าข่าวบันเทิงคือเรื่องชีวิตส่วนตัวของดารา เรื่องชีวิตครอบครัวของเขา จนความคิดนี้บดบังข่าวบันเทิงในมิติของศิลปะ วัฒนธรรม นาฏกรรม หรือกระทั่งบทบาทการแสดงของดารา ที่มีพื้นที่ให้พูดถึงน้อยอย่างยิ่งบนหน้าข่าวบันเทิง

ในรอบปีที่กำลังจะผ่านไป ข่าวบันเทิง คนบันเทิงที่ถูกนำมาให้ฉายา เกือบทั้งหมดจึงเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ที่แน่นอนว่าต้องเป็นข่าว แต่ไม่ได้เนื่องมาจากเรื่องงานการอาชีพนักแสดง

วิวาทะเรื่องฉายาดารา จึงอาจถูกมองด้วยทัศนะที่แตกต่างกัน ด้วยวัฒนธรรมการคิดและการทำข่าวที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นที่ต้องตอบคำถามตรงกัน ก็คือ นี่คือการใช้เสรีภาพที่มีความรับผิดชอบหรือไม่ การใช้เสรีภาพที่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นหรือไม่

ถามนักข่าวบันเทิง เขาก็ตอบว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาทุกปี เช่นเดียวกับที่นักข่าวการเมืองจัดอันดับนักการเมือง ซึ่งเว้นไปปีที่แล้ว เช่นเดียวกับนักข่าวสายอาชญากรรม ให้ฉายาตำรวจ เป็นการหยอกล้อกันตามธรรมเนียมแบบไทยๆเมื่อถึงวาระปีใหม่

แต่หากมองในมิติของกฎหมาย นักข่าวบันเทิงอาจบอกว่า ทั้งหมดที่มาของฉายา เป็นเรื่องจริง เขาไม่ได้นั่งเทียน หรือปั้นข่าวขึ้นมาเองเพื่อทำร้ายดารา อีกทั้งดาราก็พึงพอใจ ซึ่งหากมีการฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งถ้อยคำหลายถ้อยคำฟ้องได้ เขาก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง

แต่...เรื่องจริงที่เป็นส่วนตัว ถึงแม้พิสูจน์ได้ ก็ยังเป็นความผิด เหมือนเช่นที่กล่าวกันว่า ยิ่งจริงยิ่งผิด

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่อธิบายได้ว่า เรื่องส่วนตัวของคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสาธารณะหรือไม่ เขาย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมายทุกกรณี

เราไม่ได้ถกเถียงกันเรื่อง “ขาว” หรือ “ดำ”

เรื่องธรรมเนียมปฏิบัติ หรือเหตุผลใด

แต่เรากำลังร่วมกันใคร่ครวญถึงคำๆเดียว

นั่นคือจิตสำนึก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1060 วันที่ 25 ธันวาคม 2558 - 7 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์