วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คนข่าวบ้านนอก บนเวทีระดับชาติ



มีเรื่องเล่าเล็กๆน้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับลานนาโพสต์ และเวทีสื่อระดับชาติ เมื่อบรรณาธิการลานนาโพสต์ ได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

เรียกว่าเป็นบทบาทสื่อท้องถิ่นเพียงฉบับเดียวในประเทศนี้  ที่มีบทบาทร่วมกับสื่อส่วนกลาง ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ

ความไม่รับผิดชอบของสื่อ คือที่มาของการปฏิรูป โดยเฉพาะการกำกับดูแลสื่อ ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วงว่า องค์กรวิชาชีพสื่อเป็นเสือกระดาษ ไม่สามารถจัดการสื่อแตกแถวได้ จึงมีความพยายามที่จะสร้างกลไกที่แข็งแรงขึ้นโดยมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

การกำกับดูแลสื่อ มีมิติที่เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมาย การกำกับดูแลกันเอง การกำกับดูแลโดยประชาชน และสุดท้ายคือการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ ทว่า ก็ยังคงมีประเด็นการกำกับสื่อในยุคหลอมรวม  ว่าจะแยกแบ่งหรือรวมกันกำกับอย่างใด

ในยุคหลอมรวมสื่อ การกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อสารมวลชนและสารสนเทศ ในลักษณะแยกส่วนออกจากกันไม่สามารถทำได้ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ ใช้วิธีกำกับแบบรวม ไม่แยกแบ่งประเภทของสื่อ อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการกำกับ ดูแลสื่อมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่รูปแบบการกำกับใน ระดับด้วยกัน

ระดับแรก คือการกำกับในระดับองค์กรสื่อ หรือ media organization ระดับองค์กรวิชาชีพสื่อ และระดับสภาวิชาชีพ

อาจสรุปยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ เป็น เรื่อง คือเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มุ่งเน้นให้มีโครงสร้างการคุ้มครองเสรีภาพ และส่งเสริมจริยธรรมทั้งด้านกฎหมาย การศึกษา ด้านมาตรฐานวิชาชีพสื่อที่ให้ความสำคัญกับพันธะสัญญาและจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่

ถัดมา คือการกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ มุ่งสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งภาควิชาชีพ ภาครัฐและประชาชน โดยการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และกำหนดให้องค์กรวิชาชีพต้องเป็นสมาชิก การจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมกำกับ ดูแลและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ

สุดท้าย คือการป้องกันการแทรกแซงสื่อ มุ่งสร้างกลไกด้านกฎหมายที่เป็นหลักประกัน ป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐและทุน ทั้งองค์กรสื่อภาครัฐและภาคเอกชน  การส่งเสริมการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสื่อ และส่งเสริมกลไกการเฝ้าระวังจากภาคประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพูดง่าย แต่เข้าใจยาก หากนายทุนสื่อคิดแต่จะแสวงหากำไร ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

แต่อย่างน้อย คนไกลปืนเที่ยง ที่มีโอกาสเข้าไปนั่งเสวนาหาทางออกกันบนเวทีระดับชาติ ก็อาจมีโอกาสมาบอกกล่าวคนอ่านลานนาโพสต์เป็นระยะๆ ว่า การปฏิรูปสื่อจะสำเร็จหรือล้มเหลว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1057 วันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์