วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

สล่าบุญตัน สืบสาย 7 รุ่น ตำนานดาบ ‘บ้านขามแดง’


ขึ้นชื่อว่า “ช่างตีมีด-ดาบ” นับเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะขั้นสูง ทั้งด้านเทคนิค ฝีมือ การสั่งสมประสบการณ์และใจรักดาบหนึ่งเล่ม มีดหนึ่งด้ามจึงมีจิตวิญญาณของความอดทน แข็งแกร่ง ในความอ่อนหวานของรูปทรงดาบเล่มนั้นเข้าด้วยกันอย่าลงตัว

บ้านขามแดง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อในเรื่องของงานตีมีดหรือดาบ ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น  สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันยังคงสืบทอดเอาไว้หลายหลังคาเรือน เป็นงานฝีมือที่มีคุณภาพ และเป็นแหล่งความรู้ด้านตีมีดที่สำคัญของจังหวัดลำปาง

ช่างบุญตัน สิทธิไพศาลหนึ่งในช่างผู้ผู้สืบทอดการตีดาบรุ่นที่ จากบรรพบุรุษ และรวมกลุ่มช่างเป็นกลุ่มผลิตมีดและดาบ บ้านขามแดง เล่าว่า งานมีดหรือดาบทุกชิ้น โดยเฉพาะงานผลิตดาบทั้งหมดต้องเป็นเหล็กจากเยอรมัน ซึ่งเป็นเหล็กที่มีมาตรฐานคุณภาพสูง นำไปผ่านขั้นตอนการเผา 750 องศาเซลเซียสจากนั้นนำเหล็กร้อนไปตีเข้ารูป ส่งเข้าไปเจียเพื่อเหลาเตรียมก่อนลับคม จากนั้นนำดาบไปชุบแข็งซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องอาศัยช่างที่มีประสบการณ์สูงในการสังเกตปฏิกิริยาระหว่างการชุบแข็งในช่วงที่มีอุณหภูมิ และภูมิอากาศที่แตกต่างกัน  จากนั้นประกอบด้าม ทำปลอกสวยงามตามหลักของดาบที่มีลักษณะสง่างาม

นอกเหนือจากเรื่องเทคนิคการทำดาบทั่วไป ในเชิงความเชื่อ“ช่างตี”จะขึ้นรูปตีเหล็กเฉพาะวันพฤหัสเท่านั้น เพราะวันพฤหัส ถือว่าเป็น “วันครู” ซึ่งหมายถึงการบูชาครูและบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดวิชาให้ ส่วนความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือ วันอาทิตย์ จะงดลับคมมีดเพราะเชื่อกันว่า วันอาทิตย์มีดจะกินมือผู้ลับ หรืออาจถูกคมมีดบาดได้ง่ายนั่นเอง ดาบ เล่ม ใช้เวลาไม่น้อยกว่า วันดาบและมีดทุกเล่มมีชีวิตและจิตวิญญาณอยู่ในทุกขั้นตอน ช่างฝีมือที่นี่จึงได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างสูง คนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อวัน นอกจากนี้ชาวบ้านอีกหลายส่วนก็มีรายได้จากกระบวนการผลิตดาบหรือมีดไทย คือ กลุ่มชาวบ้านที่มีทักษะในการทำด้าม ปลอกซึ่งทำจากไม้สักเก่า ผู้สูงอายุที่ถักหวายเป็น เราจะซื้อเส้นหวายคุณภาพดีส่งไปให้ผู้สูงอายุถักให้ ส่วนประกอบอื่นๆของด้ามดาบเราก็ใช้ทองเหลืองหล่อประกอบเป็นเครื่องตกแต่งด้ามให้สวยงามมีคุณค่า มีสายดาบที่ผลิตจากฝ้ายแดงจากชาวเชียงตุง เมียนม่าร์ เมื่อประกอบเป็นดาบไทยจะมีลักษณะสง่างามสมคุณค่าความเป็นดาบไทย

เรื่องของดาบทั่วไปเป็นพื้นฐานของงานผลิตที่หมู่บ้านขามแดงทำกันเกือบทุกครัวเรือนเพราะที่นี่ผลิตมีดทุกประเภทไม่น้อยกว่า 100 ชนิดและขนาด กำลังการผลิตอยู่ที่เดือนละประมาณ 300 เล่ม ผลิตดาบไทยได้เดือนละ 150 เล่ม  แต่ความพิเศษเฉพะของดาบที่บ้านสล่าบุญตัน คือดาบซามูไรแบบญี่ปุ่น ซึ่งที่นี่นับเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักและไว้วางใจ โดยก่อนหน้านี้ “สล่าบุญตัน” ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำดาบซามูไรจากช่างชาวญี่ปุ่นที่มาขอให้ช่วยผลิตในขั้นตอนของการตีดาบ เหลาเจียร พร้อมด้าม เพื่อนำส่งออกไปสู่กระบวนการขึ้นลายคมดาบซามูไรที่ประเทศญี่ปุ่น (ที่เรียกกันว่า“ฮามอน”หรือTemper Line คือเส้นหนาๆที่เกิดจากการแบ่งชั้นระหว่างเนื้อเหล็กที่มีความแข็งมากๆ กับชั้นที่มีความแข็งน้อยกว่า โดยเกิดจากการ ทุบ เผา แล้วทำให้เย็นอย่างรวดเร็วโดยมีโคลนเป็นตัวทำลาย  กลายเป็นคมดาบซามูไรที่สมบูรณ์) ด้วยความละเอียดและขั้นตอนการผลิตดาบซามูไรที่แท้จริงเป็นศิลปะขั้นสูง ในระยะเวลา 1 เดือนจึงสามารถผลิตดาบซามูไรได้เพียง 2 เล่มเท่านั้น ที่บ้านสล่าบุญตันจึงกลายเป็นแหล่งผลิต ดาบซามูไรที่พร้อมนำไปชุบแข็งขั้นลายฮามอน ส่งออกไปญี่ปุ่นปีละไม่น้อยกว่า 100 เล่ม


สล่าบุญตันปิดท้ายเอาไว้ว่างานตีมีดและดาบถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ควรค่าแก่การสืบทอดอนุรักษ์ไว้ เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นที่น่าภาคภูมิใจ
                                                                                               
 เรื่อง/ภาพ ศชากานท์ แก้วแพร่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1061 วันที่ 8 - 14 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์