วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

หนึ่งรางวัลของ น.ส.พ.บ้านนอก


นทนากับ ผู้บริหาร “อีสานบิสวีค” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ซึ่งผมร่วมก่อการ ตั้งชื่อ และวางแนวทางไว้ให้ตั้งแต่ฉบับแรก เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ตอนหนึ่งได้เล่าให้ฟังถึงการทำหนังสือพิมพ์ที่อาจจำเป็นต้องแสดงตัวตน ด้วยรางวัลต่างๆ

เพราะนั่นหมายถึง หลักประกันคุณภาพและความเชื่อถือ ที่ไม่ได้นิมิตขึ้นเอง เหมือนหนังสือพิมพ์บางฉบับ ที่คุยคำโตแต่เป็นเพียงผลัดกันเขียน เวียนกันชม หาความภาคภูมิใจอะไรมิได้

“อีสานบิสวีค” มีฐานการผลิตอยู่ที่ขอนแก่น เนื้อหาหลักอยู่ที่เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา ผมคิดว่า พวกเขาถึงเวลาที่ต้องอัพเกรด ด้วยรางวัลอย่างน้อยก็ในระดับชาติ

เนื่องเพราะการมีรางวัล จะต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆได้ แม้ในแง่ธุรกิจจะไม่ได้ส่งผลชัดเจนก็ตาม

เมื่อมามีส่วนร่วมในการคิดอ่าน ทำ “ลานนาโพสต์” ผมก็จับจุดที่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในพื้นที่นี้ ควรเดินไปได้ นั่นคือข่าวสิ่งแวดล้อม เพราะลำปางคือแม่เมาะ แม่เมาะอันเป็นหลักไมล์แรกของการทำข่าวสิ่งแวดล้อม

แล้วพวกเขาก็ทำสำเร็จ  ด้วยรางวัลข่าวสิ่งแวดล้อม สองปีซ้อน ของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

จากระดับชาติ ก็ก้าวกระโดดไปสู่ระดับสากล อีก 2 – 3 สัปดาห์จากนี้ อาจมีข่าวใหญ่อีกครั้งสำหรับรางวัลระดับสากล

แน่นอน นั่นย่อมมีฐานรากมาจากแม่เมาะ

นานกว่าหกทศวรรษแล้ว ที่ชาวบ้านแม่เมาะ มีเพื่อนบ้านเป็นเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมพลังงานที่ใหญ่โต ทันสมัย และเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาวบ้านไม่เคยรู้เลยว่า วันหนึ่ง เพื่อนบ้านใหม่ ที่คล้ายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า ของท้องถิ่นนั้น จะกลายเป็นฆาตกร  ทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง เรือกสวนไร่นา สัตว์เลี้ยงของเขา อย่างที่เรียกร้องความรับผิดชอบจากใครไม่ได้เลย

จนกระทั่งมีกฎหมายและประกาศหลายฉบับที่กำหนดหน้าที่ของ กฟผ.ในการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำหนดให้มีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ความคิดที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนอันก่อตัวมายาวนานของชาวบ้านก็เริ่มต้นขึ้น

แต่การต่อสู้สำหรับชาวบ้านที่ไม่มีพลังอำนาจทางสังคม ไม่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ กับหน่วยงานรัฐคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การหนุนช่วยจากภาคประชาสังคม เช่น จากกลุ่มสื่อท้องถิ่นจึงมีความจำเป็น เพราะมันทำให้เสียงเล็กๆ จากคนเล็ก คนน้อยนี้ ส่งเสียงได้ดัง และกังวานออกไปในวงกว้าง

ถึงกระนั้น ด้วยธรรมชาติของสื่อโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ความสนใจที่จะเสนอข่าวประเภทประชานิยม เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ข่าวบอกใบ้ให้หวย ซึ่งเป็นข่าวที่ขายได้ ก็มีมากกว่า ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ผลตอบรับในแง่ยอดขาย หรือความสนใจของคนอ่านในท้องถิ่นน้อย

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา คงมี ลานนาโพสต์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ต่อยอดมาจากหนังสือพิมพ์ ไทยลานนา ด้วยบรรณาธิการคนเดียวกัน เพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่เสนอข่าวการต่อสู้ของชาวบ้านแม่เมาะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่เหยื่อสารพิษแม่เมาะชุมนุมใหญ่ยกขบวนบุกโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อทวงถามความเป็นธรรม

อีกไม่นานวัน ผลแห่งการลงแรงต่อสู้เพื่อท้องถิ่น อาจปรากฏในรูปของรางวัลระดับสากล

รางวัลของหนังสือพิมพ์บ้านนอก อันเป็นความภาคภูมิของคนลำปางทุกคน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1061 วันที่ 8 - 14 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์