วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

ขายยางกำไรหดลดฮวบ70เปอร์เซ็นต์ชาวสวนดินหนีวิกฤติ



วิกฤตยางพารา กระทบผู้ปลูกลำปาง รายได้หายถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ต้องคิดวิธีหาทางรอด ปรับเวลาการกรีดยางให้ได้ผลผลิตมากที่สุด  ขณะที่ สกย.และสภาเกษตรฯ หาทางช่วย แนะอาชีพเสริมในช่วงราคาตก

ปัญหายางพาราตกต่ำกระทบเป็นวงกว้างทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารา ซึ่งชาวสวนยาง จ.ลำปาง ก็ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวครั้งใหญ่  หลังจากที่รายได้หายไปมากกว่าครึ่ง

นายสายัณห์  ปานพินิจ  เจ้าของไร่ชวนฝัน  ตั้งอยู่ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง  เปิดเผยว่า ไร่ชวนฝันมีเนื้อที่ 153 ไร่ แต่ก็แบ่งไปเป็นสระเก็บน้ำ 2 สระ  มีต้นยางอยู่ประมาณ 9,000 กว่าต้น ปลูกเกือบเต็มพื้นที่ เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 47 ปลูกมาได้ 5 รุ่น  เราคิดปลูกเองในปีนั้นพอดีเนื่องจากเดิมทำสวนมะม่วงมาก่อนหน้านี้ได้ 18 ปี เป็นมะม่วงต้นเตี้ย ราคาก็ค่อยตกลงเรื่อยๆ  จึงมองหาพืชตัวใหม่ พบว่ายางพาราใช้สารเคมีน้อย น้ำน้อย ปุ๋ยน้อย  และร่มเย็นเหมือนปลูกป่า จึงเปลี่ยนจากมะม่วงเป็นต้นยางพาราทั้งหมด  และได้ผลผลิตมาเป็นปีที่ 4 แล้ว  แปลงไหนใหญ่โตพอก็กรีดได้  

ที่ผ่านมาได้ทำยางแผ่นขายเพราะราคาดี มาในช่วงฤดูกรีดปี 58 ต้องเปลี่ยนมาขายเป็นยางก้อนถ้วยแทน หลายสวนยางเลิกทำยางแผ่นไป เพราะเสียเวลา เงินหมดไปกับค่าแรงเยอะ ในขณะที่ราคาขายก็ไม่ดี  ครั้งแรกที่ขายยางแผ่นได้กิโลกรัมละ 186 บาท  ตอนนี้ราคายางแผ่นไม่ถึงกิโลกรัมละ 40 บาท 
รายได้ที่หายไปมีผลกระทบมากมาย  ส่วนตัวมองว่าเรื่องราคา เป็นเรื่องที่เกษตรกรแก้ไขไม่ได้มาก  แต่ที่เราทำได้คืออย่าขี้เกียจ  ต้องกรีดยางได้ให้ตามระบบ เพื่อให้ได้น้ำยางจำนวนมาก อย่าให้เสียโอกาสเพราะจะทำให้วันกรีดน้อยลง   นอกจากนั้นต้องเปลี่ยนหลักการกรีดยางใหม่ จากที่ต้องกรีดในช่วงดึกอากาศเย็น  แต่ในภาวะแบบนี้ ก็ต้องหาวิธีกรีดยางให้ได้มากที่สุด อาจจะมากรีดตอนเช้า  และกรีดหน้ายางให้สั้นลง เพื่อกรีดได้จำนวนต้นมากขึ้น  

นายสายัณห์ กล่าวต่อไปว่า  เรื่องราคาเป็นปัญหาอยู่แล้วทำให้รายได้ลดลง คนกรีดก็จะมีรายได้ลดลงด้วย  เพราะฉะนั้นก็จะหาคนงานได้ยากขึ้น เพราะคนงานจะไปเทียบค่าแรงกับการก่อสร้างที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท  ก็จะเปลี่ยนอาชีพไปทำงานก่อสร้างที่หางานได้ง่ายกว่า หลายสวนยางจึงขาดคนงานกรีดยางไป  การแบ่งเปอร์เซ็นต์กับคนกรีดยาง   เจ้าของได้ 60 คนกรีดได้ 40  แต่หากบางสวนยางที่มีความยากลำบากในการกรีด เช่น ต้องขึ้นเนินสูง น้ำไฟไม่มี ก็จะแบ่ง 50 ต่อ 50   ถ้าคนงานกรีดยางได้เยอะขึ้นเขาก็จะมีรายได้มากขึ้น  ช่วงนี้จึงต้องทำทุกวิธีการ  รวมทั้งการใช้สารเร่งที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง  จากยางที่ได้ 100 กิโลกรัม ก็จะได้ 150 กิโลกรัม  แทนที่จะไปกรีดตอนตีสอง อาจจะเปลี่ยนมากรีดตอน โมงเย็น  และกรีดได้อีกครั้งช่วงตีสี่  หากคนกรีดมีรายได้มากขึ้น เขาอยู่ได้เราก็จะอยู่ได้ และจะไม่ขาดแคลนแรงงาน  

“ไม่นึกว่าจะราคาตกลงมาขนาดนี้  รายได้ที่เคยมีลดลงไปอย่างมาก เทียบกันง่ายๆได้จากราคายางแผ่นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท  แต่ตอนนี้เหลือกิโลกรัมละไม่ถึง 30 บาท รายได้จากปี 58 ลดลงจากปี 57 ราว 50 เปอร์เซ็นต์ ” นายสายัณห์ กล่าว

เจ้าของสวนยางพาราที่ อ.แจ้ห่ม  กล่าวว่า ตนเองปลูกยางพาราอยู่ 100 ไร่  เริ่มปลูกในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริม เนื่องจากมีที่ดินอยู่แล้ว  เคยคุยกันเล่นๆว่ายางพาราตกมา 3 กิโล 100 บาท จะทำอย่างไร แต่ตอนนี้กลายเป็น 5 กิโล 100 บาทแล้ว เพราะยางก้อนถ้วยขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท  จากเดิมที่เคยมีรายได้เดือนละ 5-6 หมื่นบาท ลดเหลือ 2 หมื่นบาท  ยังดีที่ตนเองมีอาชีพเสริมด้วยการปลูกมันฝรั่ง จึงพอจะมีเงินหมุนเวียนมาบ้าง  และตอนนี้คงต้องมองหาอาชีพเสริมอื่นๆมาเพิ่มเติมด้วยอีกทางหนึ่ง

ด้านเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ต.บ้านแลง อ.เมือง   เปิดเผยว่า ตนมีพื้นที่ปลูกอยู่ 10 ไร่ ช่วงนี้ก็ต้องใช้สอยอย่างประหยัดมากๆ เพราะรายได้ของตนหายไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์  เดิมตนรับราชการและได้มองหาอาชีพเสริม จึงได้ลงทุนปลูกยางพารา เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนและมีตลาด มีความต้องการสูง ได้เริ่มปลูกเมื่อปี 48 เมื่อต้นยางโตสามารถให้ผลผลิตได้ ก็ลาออกจากงานและมาทุ่มเททำสวนยางอย่างเต็มที่ ในช่วงที่ยางขายได้ราคาดีก็มีเงินเก็บ  ซึ่งหลายคนก็ซื้อบ้านซื้อรถได้ แต่พอเกิดปัญหายางราคาตกต่ำ รายได้ที่มีหายไปก็ประสบปัญหาเรื่องเงินใช้จ่ายในการผ่อนบ้านผ่อนรถ  ส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้กันเกือบหมด อีกทั้งการเข้าโครงการกับรัฐบาลก็ได้เงินมาไม่มากนัก แต่ก็ยังดีที่มีมาช่วยเสริมบ้าง

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดลำปาง (ศปจ.ลำปาง)  ร่วมกับสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.ลำปาง  สภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง  จัดอบรมให้ความรู้ในการนำวัตถุดิบจากต้นยางพารามาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร  รวมทั้งแนะนำอาชีพเสริมเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชอื่นๆร่วมกับยางพารา

นายวันชัย เชาวลิต  ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  จ.ลำปางมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ประมาณ  5-6 หมื่นไร่  ที่ได้รับผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 6-7 พันไร่ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทางการยางได้ร่วมกับสหกรณ์  พยายามแก้ปัญหาด้วยการทำการตลาด ซึ่งจะมีศูนย์รับซื้อยางที่เป็นตลาดมีราคาค่อนข้างดี  มาตรการที่สองคือการสร้างโรงงานแปรรูปที่ลำปาง ตอนนี้ได้งบประมาณ 36 ล้านบาท ที่กระทรวงมหาดไทยอนุมัติผ่าน จ.ลำปาง  กำลังอยู่ในกระบวนการของการก่อสร้าง ในพื้นที่ของสหกรณ์  อ.เสริมงาม  ปีหน้าจะได้ใช้ประโยชน์  เป็นการแปรรูปยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น   ในการประชุมครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ยางพาราน่าจะทำอะไรได้เยอะกว่านี้ เป็นสิ่งใหม่ที่มีความเป็นไปได้สูง เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ต้นยางพารามาผลิตเป็นพลังงาน เป็นทางเลือกที่ได้มากขึ้น ปัญหายางล้นตลาดก็จะไม่เกิด

ข้อดีของการตั้งโรงงานแปรรูป เป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าของยางพาราจากต้นน้ำไปปลายน้ำ  ปัจจุบันเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายยางดิบ  เราจะแปรรูปเป็นยางแท่งพร้อมจะเข้าโรงงานอุตสาหกรรม   ไม่ต้องผ่านโรงงานเอกชนหรือพ่อค้าคนกลาง  ขั้นปลายสิ่งที่คิดต่อคือ ต้องการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่อไป นายวันชัย กล่าว

นายสวัสดิ์ ลาดปาละ  ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.ลำปาง   กล่าวว่า  เรื่องอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรหันมาทำอาชีพเสริม  ไม่ใช่การทำพืชเชิงเดี่ยว แต่แนวทางของเราเชิงนโยบาย คือต้องการให้ จ.ลำปาง จากเกษตรกรรมไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม และเกษตรประดิษฐยกรรม  ซึ่งตอนนี้ได้เปิดคู่ค้ากับจีน และส่งออกไป ครั้งแล้ว  ตอนนี้ยังไม่มีโรงงานแปรรูปยางแท่งก็ได้ส่งเป็นยางก้อนไปก่อน  อาชีพเสริมมีนโยบายจากภาครัฐให้เกษตรกรกู้ได้ 1 แสน เพื่อมาทำอาชีพต่างๆ  ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการการยางของประเทศไทย ก็จะขับเคลื่อน 16 มาตรการของภาครัฐให้ไปสู่การปฏิบัติจริงให้ได้  หากทำทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูป ไปสู่สินค้า อนาคตยางพาราก็อยู่ได้ และมองว่ายังเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกร

ผลผลิตของ จ.ลำปาง ประมาณ 700 กว่าตัน  ซึ่งสหกรณ์จะเป็นผู้รับซื้อ ราคาสูงกว่าท้องตลาด  ราคาแต่ละท้องถิ่นถือว่าใกล้เคียงกัน  แต่โอกาสที่สหกรณ์รับซื้อและนำไปแปรรูปส่งออก ก็จะขายได้ดีกว่าขายผ่านพ่อค้าคนกลาง   ยกตัวอย่างเดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ขายยางก้อน 22 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทางสหกรณ์รับซื้อ 25 บาทต่อกิโลกรัม  ราคาต่างกัน 3 บาท  แล้วในรอบปีที่ผ่านมาที่นำยางก้อนไปแปรรูปเป็นยางแท่งที่โรงงานขององค์การสวนยางที่อีสาน   สามารถซื้อสูงกว่าราคาในท้องถิ่นและได้กำไร ล้านบาท ก็นำเงินมาเฉลี่ยให้กับเกษตรกรที่นำยางมาขายกับเรา กิโลกรัมละ 80 สตางค์  และมีเงินปันผลอีกต่างหาก เราพยายามทำให้เกษตรกรมองเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์มีผลประโยชน์ให้เกิดกับเกษตรกร
มีสมาชิกอยู่ 500 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่กรีดยางขายได้แล้ว ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกยางรายอื่นๆใน จ.ลำปางมีกว่า 4,000 คน   อยู่ระหว่างการปลูกยังไม่มีผลผลิต ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดลำปาง (ศปจ.ลำปาง)

นายศรีสะเกษ สมาน   หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  สภาเกษตรกรมีแนวทางให้ผู้ปลูกยางพาราหันมาสนใจอาชีพอื่นเพิ่มเติมมาขึ้นที่ไปด้วยกันได้   ไม่ควรไปตัดยางตามกระแส เลี้ยงให้ต้นโตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆได้ การผันผวนของราคาน้ำยางก็มีขึ้นลงอยู่แล้ว  ช่วงนี้ก็ควรจะหาอาชีพเสริมทำไปก่อน เช่น การเลี้ยงแพะ แกะ ไก่พื้นเมือง ในสวนยางพารา  การปลูกไผ่เสริม และการปลูกกาแฟในสวนยางพารา  สิ่งเหล่านี้ทางสภาเกษตร ได้ไปศึกษาจากผู้ที่ทำจนมั่นใจในระดับหนึ่งว่าทำได้ดี  ความยากคือเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแนวคิด  รวมกับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำถ่านจากยางพารา ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาได้ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์