ภายในร้านเช่าบูชาพระเครื่องของ ธีรเดช จังตระกูล ประธานชมรมผู้นิยมพระเครื่องเมืองลำปาง กรรมการรับและตัดสินพระเครื่องประเภทหลวงพ่อเกษม เขมโก และผู้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับหลวงพ่อเกษมหลายเล่ม หรือที่เซียนพระรู้จักกันดีในชื่อ ‘ต้น ลำปาง’ นั้น เต็มไปด้วยวัตถุมงคลหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่งธีรเดชได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเซียนพระที่รู้จักวัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษมทุกรูปแบบ
หนุ่มใหญ่วัย 47 ปี คลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่องมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี อาจเพราะได้รับอิทธิพลจากทั้งตาและพ่อ ที่ต่างก็สะสมพระเครื่องไว้มากมาย ประกอบกับแม่ ซึ่งเป็นพยาบาลหัวหน้าตึกสงฆ์ ได้มีโอกาสดูแลรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อเกษมขณะท่านอาพาธและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ด้านหนึ่งของผนังในร้านจึงประดับไว้ด้วยภาพถ่ายหลวงพ่อเกษม กำกับลายมือของท่านที่เขียนมอบให้กับแม่ ภาพแม่ในชุดนางพยาบาลนั่งอยู่ข้างเตียงเมื่อหลวงพ่อเกษมมรณภาพ ส่วนธีรเดชเองในวัยเด็กแม่ก็พาเข้าไปกราบหลวงพ่อเกษมอยู่สองสามครั้ง
ช่วงวัยรุ่นธีรเดชเริ่มสนใจพระเครื่อง เขาเทียวเข้า-ออกตลาดพระเครื่อง ซึ่งสมัยก่อนอยู่บริเวณศาลากลางหลังเก่า เพื่อดูว่าเขาซื้อ-ขายพระเครื่องกันอย่างไร นอกจากนี้ ยังแอบเอาพระเครื่องที่ตาและพ่อสะสมไว้ในตู้ไปขาย กระทั่งเมื่อถูกหลอกมากๆเข้าจึงหันมาศึกษาพระเครื่องอย่างจริงจัง เพื่อให้ตัวเองรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบรรดาเซียนพระ และในที่สุดหลังจากทำงานประจำอยู่พักหนึ่ง ธีรเดชก็ค้นพบว่าการเช่าบูชาพระเครื่องนั้น สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ เขาจึงยึดมั่นในอาชีพนี้เรื่อยมา โดยเน้นไปที่วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม ซึ่งเขารู้สึกใกล้ชิดและผูกพันมาตั้งแต่เด็ก
“เกิดมาก็แขวนพระหลวงพ่อเกษมแล้ว ท่านอยู่ในใจอยู่แล้วครับ” ธีรเดชพูดพลางยิ้ม อาจเป็นเช่นเดียวกับคนลำปาง ที่ล้วนแล้วแต่เคารพนับถือท่านอย่างที่สุด “สำหรับหลวงพ่อเกษม ณ ปัจจุบันถือเป็นพระเกจิยอดนิยมอันดับ 1 ของภาคเหนือ และเป็นพระเกจิอาจารย์ในระดับประเทศครับ” เขาว่า
อาจกล่าวได้ว่า พระเครื่องหลวงพ่อเกษมนั้น แบ่งเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคต้น (ปี พ.ศ. 2503-2518) ยุคกลาง (ปี พ.ศ. 2518-2530) และยุคปลาย (ปี พ.ศ. 2530-2538) ทั้งนี้ ธีรเดชกล่าวว่า ในยุคต้นเป็นช่วงที่หลวงพ่อเกษมใช้คำว่า “ปลุกเสก” โดยหลังจากยุคต้น หรือหลังปี พ.ศ. 2518 ท่านจะใช้คำว่า “อธิษฐานจิต”
“ท่านบอกเลยครับว่า ปี 2518 จะ ‘ปลุกเสก’ เป็นรุ่นสุดท้าย”
นี่เองคือกุญแจสำคัญที่ทำให้พระเครื่องหลวงพ่อเกษมในยุคต้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสิบรุ่น ล้วนแล้วแต่เป็นที่ต้องการของผู้คน ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงลิบลิ่วจนแตะหลักล้าน ขณะที่ยุคกลางและยุคปลายก็มีราคารองลงมา ทั้งนี้ สามารถประมาณได้คร่าวๆว่าราคาเช่าบูชาพระเครื่องหลวงพ่อเกษมทั้ง 3 ยุคนั้น อยู่ที่หลักหมื่นถึงหลักล้าน
“ไม่เฉพาะคนไทยนะครับที่เคารพนับถือหลวงพ่อเกษม คนสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ต่างก็ต้องการเช่าบูชาพระเครื่องของท่านด้วยกันทั้งนั้น” ธีรเดชเปิดโลกของตลาดพระเครื่องในอินเตอร์เน็ตให้ดู บทสนทนาต่อรองราคาเป็นภาษาอังกฤษปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เขายอมรับว่า ทุกวันนี้ตลาดเช่าบูชาพระเครื่องอยู่ในโลกออนไลน์ถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และที่เปิดหน้าร้านอยู่ก็เพื่อใช้เป็นที่พบปะระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
“ก่อนอื่นผู้ซื้อจะถามหาประกาศนียบัตรของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยครับ” ธีรเดชยื่นประกาศนียบัตรฉบับหนึ่งให้ดู “ถ้าพระเครื่องรุ่นไหนชนะการประกวด จะได้รับประกาศนียบัตรเกียรตินิยมแบบนี้ แสดงว่าได้รับการรับรองทั่วโลกครับ” พูดง่ายๆว่า ประกาศนียบัตรฉบับนี้ ยืนยันว่าพระเครื่องรุ่นนั้นๆเป็นของแท้แน่นอนนั่นเอง
ช่วงปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีที่หลวงพ่อเกษมมรณภาพ นับเป็นปีที่วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยมสูงสุด แน่นอนว่าราคาก็ย่อมแพงมากเช่นกัน ทว่าหลังจากนั้นเมื่อฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่ว แวดวงการเช่าบูชาพระเครื่องก็ได้รับผลกระทบ พลอยซบเซาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 จังหวัดลำปางจึงมีการจัดงานประกวดพระเครื่องขึ้น หวังกระตุ้นตลาดพระเครื่องในพื้นที่ และก็จัดต่อเนื่องกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยธีรเดชเป็นหัวเรือใหญ่ในงานดังกล่าวมา 5 ครั้งแล้ว ซึ่งก็ทำให้ราคาเช่าบูชาพระเครื่องหลวงพ่อเกษมขยับสูงตามไปด้วย
ธีรเดชยังได้ยกตัวอย่างรุ่นยอดนิยมและเป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาเซียนพระ ได้แก่ 1. เหรียญที่ระลึกวัดนางเหลียว 2. เหรียญและเนื้อผงรุ่นที่ระลึกครบ 5 รอบ (ปี พ.ศ. 2515) 3. เหรียญระฆัง ปี พ.ศ. 2516 และ 4. เหรียญกองพันลำปาง ปี พ.ศ. 2517 ซึ่งทั้งหมดนี้มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้าน โดยราคาจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้หล่อองค์พระด้วย คือถ้าเป็นเนื้อทองคำแท้ ราคาก็ยิ่งสูง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับจำนวน อาทิ บางรุ่นสร้างเพียง 13 เหรียญ จึงหายาก ราคาย่อมสูงตามกลไกตลาด
“รุ่นพวกนี้ส่วนใหญ่อยู่กับตระกูลคหบดีเก่า หรือไม่ก็ตระกูลดังๆ สมัยก่อนคนที่จะจองพระเครื่องรุ่นเหล่านี้ได้ ย่อมต้องเป็นคนกว้างขวาง ต้องมีเงินมาก คิดดูว่าคนที่จะขอเช่าบูชาต่อจากคนกลุ่มนี้ ยิ่งต้องมีเงินมากๆๆแน่นอนครับ”
กล่าวกันว่า วัตถุมงคลหลวงพ่อเกษมมีพุทธคุณทางด้านเมตตาและแคล้วคลาด เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธีรเดชบอกว่า ผู้ที่อาราธนาพระเครื่องหลวงพ่อเกษมไปบูชาต่างพูดถึงด้านเมตตากันอย่างมาก “คนที่ทำการค้านี่หาเลย ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะทำให้ค้าขายดี เข้าหาใครก็คุยรู้เรื่อง อาจเพราะตอนที่ท่านยังอยู่ ท่านเป็นพระที่มีเมตตา ไม่ค่อยปฏิเสธใครก็เป็นได้ครับ”
ส่วนตัวธีรเดชเองมองว่า วัตถุมงคลไม่ใช่เรื่องงมงาย ตราบใดที่เรามองว่าเป็นสิ่งมงคล ให้คุณค่าทางจิตใจมากกว่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อถามถึงพระเครื่องหลวงพ่อเกษมที่เขาห้อยบูชาอยู่ที่คอ เขายิ้มก่อนนำออกมาให้ดู เป็นภาพถ่ายหลวงพ่อเกษมพร้อมลายมือของท่าน ซึ่งเขานำไปเลี่ยมทองเท่านั้น
“แค่นี้เองครับ แต่ก็ยังมีคนมาขอซื้อนะ ผมยังงงเลยว่าจะเอาไปทำไม” เซียนพระตัวยงหัวเราะ เราไม่แปลกใจเท่าไร ก็ในเมื่อที่บังแดดในรถยนต์ มีลายมือของหลวงพ่อกำกับ ยังมีคนนำมาขายให้เขา และเขาก็รับซื้อเสียด้วย
กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง