กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
เคยคิดเหมือนกันไหมว่า บ้านเรานั้นไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาคารเก่าสักเท่าไร นอกเหนือจากย่านตลาดเก่า (กาดกองต้า) ย่านสถานีรถไฟแล้ว บนถนนทิพย์ช้าง ถนนบุญวาทย์เราก็มีอาคารสวย ๆ หลายแห่ง ทว่าความงามอันละเมียดละไมเหล่านั้นไม่เคยได้รับการชื่นชม เพราะต่างถูกบดบังด้วยป้ายโฆษณาใหญ่ยักษ์ บ้างถูกต่อเติมจนไม่เหลือเค้าเดิมอีกต่อไป หรือไม่ธุรกิจที่มาเช่าทำกิจการก็แปลงโฉมด้วยการทาสีอย่างไร้รสนิยม แต่ที่น่าใจหายกว่านั้นก็คือ หลายอาคารถูกรื้อ แล้วสร้างใหม่เป็นอาคารพาณิชย์หน้าตาเหมือน ๆ กันทั้งประเทศ
เมืองลำปางเรามีอายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ผ่านร้อนหนาวมายาวนานเป็นรองก็แต่เมืองลำพูน ช่วงที่อังกฤษเข้ามาขยายกิจการค้าไม้ในภาคเหนือของไทย ได้เข้ามาตั้งบริษัทค้าไม้ในลำปาง ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้ชาวพม่า ซึ่งเป็นคนในบังคับของตน เข้ามาเป็นหัวหน้างานด้วย ชาวพม่าเหล่านั้นเมื่อมีฐานะดีขึ้น ก็ลงหลักปักฐาน สร้างบ้านเรือน ร้านค้า และวัดวาประจำตระกูล ในยุคนั้นจึงเรียกได้ว่าเมืองของเรามีความหลากหลายมากขึ้น เพราะกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มล้วนมีความคิดความเชื่อแตกต่างกันไป และต่างก็สะท้อนออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนาเอง สถาปัตยกรรมแบบพม่า ไทยใหญ่ อาคารรูปแบบโคโลเนียล อาคารขนมปังขิง อาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน ผสมกลมกลืนกันอยู่อย่างสวยงาม น่าสนใจ
อาคารหลายแห่งโชคดีที่เจ้าของดูแลรักษา บ้านคหบดีเก่าหลายหลังในย่านตลาดจีนได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ยืนยันว่า สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างดี พร้อมที่จะส่งต่อเรื่องราวแต่หนหลังให้คนรุ่นใหม่ได้ซึมซับรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นอาคารฟองหลี-รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารพาณิชย์ ปี พ.ศ. 2551 หอศิลป์ลำปาง มูลนิธินิยม ปัทมะเสวี-รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา ปี พ.ศ. 2550 อาคารหม่องโง่ยซิ่น-รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา ปี พ.ศ. 2550 และบ้านสินานนท์-รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน ปี พ.ศ. 2548
ปัจจุบันยังมีอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับเจ้าของ ชุมชน หรือองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จะตระหนักถึงคุณค่าอย่างแท้จริงหรือไม่ว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่จะทำให้เมืองลำปางของเราเป็นเมืองน่าอยู่และน่าท่องเที่ยวมากขึ้น
ทั้งนี้ เทศบาลนครลำปางได้มีโครงการที่จะปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่าเหล่านั้น และได้จัดทำโครงการสำรวจรูปแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยพบว่า มีบ้านที่ต้องการจะปรับปรุงซ่อมแซมจำนวน 140 หลัง ในจำนวนนี้มี 30 หลังที่เจ้าของมีความพร้อม โดยหลายครอบครัวยังต้องการที่จะแปลงโฉมบ้านเก่าของตนเองให้เป็นบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม น่ายินดีที่ในวันที่ 11-15 มกราคมนี้ มูลนิธินิยม ปัทมะเสวี และการเคหะแห่งชาติ โดยความร่วมมือของ Mr. Cornelis Dijkgraaf (Director of Assistance in Implementation and Management for Urban Development) ได้ร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรม “การจัดทำนครลำปางให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยการปกป้องรักษามรดกอันมีคุณค่าของเมือง” โดยระบุวัตถุประสงค์ที่น่าสนใจไว้ว่า เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และปกป้องรักษามรดกของเมืองลำปางที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อันเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงดูดการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อเสนอแนะวิสัยทัศน์และจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์มรดกอันมีคุณค่าของเมืองสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น เพื่อนำไปบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนาในภาคส่วนอื่น เช่น การจัดย่าน (Zoning) การจราจร การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว การจัดทำภูมิสถาปัตยกรรมของเมือง แผนงานอนุรักษ์ และแผนการท่องเที่ยว
งานนี้คนรักตึกเก่า ย่านเก่า โปรดรอด้วยใจระทึกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นบ้าง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1062 วันที่ 15 - 21 มกราคม 2559)