วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

ปิดคดีแม่เมาะกฟผ.ลอยตัวเดินหน้าฟื้นชุมชนมะลิวรรณเสียใจ



มะลิวรรณเผยเสียใจ หวังให้เป็นบทเรียนทางกฎหมายของประเทศไทย  หลังศาลสั่งยุติคดี ระบุ กฟผ.ปฏิบัติตามรายงานมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว  ด้าน กฟผ. เชื่อจะเกิดเรื่องราวดีๆขึ้นที่ อ.แม่เมาะ พร้อมพัฒนาชุมชุนและสิ่งแวดล้อมต่อไป

·         เรื่องเดิมศาลสั่ง 5 ข้อ

หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 58  ให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ข้อ คือ 1ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว  800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้   2) ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร  3) ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ. นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ   4) ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland    และ  5) ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

·         ต่อมา กฟผ.ยื่นแก้ไขมาตรการใหม่

ทาง กฟผ.ได้ยื่นขอแก้ไขมาตรการใหม่ทั้งหมด ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.58 พร้อมกับยืนยันว่า พื้นที่นำไปทำสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติไม่ใช่แปลงประทานบัตรตามคำขอประทานบัตรที่ 3-6/2530  และ 30-46/2535 ที่เป็นข้อพิพาทตามคำพิพากษาในคดีนี้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของแปลงประทานบัตรที่ 20010/15937 คำขอที่ 13/2558  กฟผ.ได้สิ้นสุดการทำเหมืองและถมกลับ ฟื้นฟูโดยการปลูกต้นไม้โตเร็วแล้ว  ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่เหมืองแม่เมาะ เพื่อติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาหลายครั้ง  และหลังจาก กฟผ.ยื่นแก้ไขมาตรการดังกล่าว  ทางสภาทนายความ โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา  ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีที่ 1  ได้ใช้สิทธิโต้แย้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องที่ 7 คือ กฟผ.แม่เมาะ ใน 3 ประเด็นคือ  การยื่นแก้ไขมาตรการหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย   , กรณีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นพิจารณาการอพยพราษฎรออกนอกรัศมี 5 ก.ม.  ไม่มีชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย   และ กรณีพื้นที่ของสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงมาพูดคุยในศาลชั้นต้น   

·         ใช้เวลา 8 เดือน ศาลรายงานผล

นับจากวันที่ กฟผ.ยื่นแก้ไขมาตรการ รวมระยะเวลา 8 เดือน ล่าสุดสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่  โดยนายร่วมบุญ โพธิ์ทอง พนักงานคดีปกครองเชี่ยวชาญ ปฏิบัติราชการแทน ผอ.สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ ได้ลงนามหนังสือที่ ศป 0006.4/ 1811 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 58  เรื่องรายงานผลคำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่  ในคดีของศาลปกครองสูงสุด ระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  กับพวกรวม 318 คน  กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับพวกรวม 11 คน  เป็นผู้ถูกฟ้องคดี  ส่งกลับมายังผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี แยกเป็นกรณีไป

·         กฟผ.ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

กรณีที่ ตามที่ผู้ร้องเห็นว่า มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. ที่ยื่นเสนอต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการอนุญาตภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว กฟผ.ได้นำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯ ได้มีมติเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนฯ  เสนอต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่  เพื่อขอแก้ไขมาตรการฯดังกล่าว ต่อมาอธิบดีกรมอุตาสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้อนุญาตให้ กฟผ.เปลี่ยนแปลงมาตรการฯแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 58เป็นต้นไป ถือว่ามาตรการฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์แล้ว    การดำเนินการของ กฟผ. ที่ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ภายในเวลา 90 วัน ถือว่า กฟผ. ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ศาลมีคำสั่งแล้ว

·         ตั้งคณะกรรมการฯถูกต้อง

กรณีที่ ผู้ฟ้องโต้แย้งว่า การแต่งตั้งคณะทำงานที่แต่งตั้งล้วนแต่เป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคและเจ้าหน้าที่ กฟผ. ไม่มีผู้แทนชาวบ้าน ผู้ฟ้อง และองค์กรสิ่งแวดล้อมนั้น ศาลพิจารณาว่า เมื่อมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม(ฉบับใหม่) มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์แล้ว  คำสั่งของจังหวัดลำปางที่แต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย ตัวแทนจากหมู่บ้าน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ (คชก.) ถือว่า การจัดตั้งถูกต้องตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

·         สนามกอล์ฟไม่อยู่ในขุมเหมือง

กรณีที่ ผู้ฟ้องโต้แย้งว่า พื้นที่สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟอยู่ในพื้นที่พักผ่อนตามแผงผังการฟื้นฟูที่ระบุไว้ในรายงานฯ และอยู่นอกเขตการทำเหมือง แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ยกขึ้นมาว่ากันในศาลปกครองชั้นต้น  การที่  กฟผ.กล่าวอ้างจึงไม่อาจรับฟังได้  ศาลวินิจฉัยว่า  ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าพื้นที่สนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติอยู่นอกเขตการทำเหมือง ไม่ได้ทับซ้อนพื้นที่ขุมเหมืองแปลงประทานบัตรที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้ แต่มีพื้นที่บางส่วนของสนามกอล์ฟ ทับซอนกับพื้นที่แปลงประทานบัตรอื่น ซึ่งไม่ได้พิพาทในคดีนี้  ปัจจุบัน กฟผ.ได้สิ้นสุดการทำเหมืองและถมกลับฟื้นฟูโดยการปลูกไม้โตเร็วแล้ว การที่ไม่ได้ยกมาพูดในศาลปกครองชั้นต้น เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้  อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์แล้ว   ประกอบกับสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟไม่ใช่พื้นที่ขุมเหมืองแต่เป็นพื้นที่ทิ้งดินเดิม จึงไม่สามารถถมดินกลับในบ่อเหมืองได้ และ กฟผ. ได้มีการปลูกพืชคลุมดินหรือปลูกไม้ยืนต้นแล้ว จึงถือว่า ได้มีการฟื้นฟูสภาพเหมืองถูกต้องแล้ว

·         สั่งยุติคดี

ดังนั้น กฟผ. ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ถือว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแล้ว และศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้ยุติการบังคับคดีนี้


·         กฟผ.เผยนิมิตรหมายดี

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ได้มีข้อยุติในคดีความ ทั้งจากการดำเนินการที่แล้วเสร็จของ กฟผ. ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง และคำตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่ดังกล่าว รวมทั้งการที่ กฟผ. ได้แก้ไขปัญหามลภาวะลุล่วงด้วยการติดตั้งอุปกรณ์และมาตรการควบคุมคุณภาพอากาศจนไม่เกิดปัญหาขึ้นอีกมากว่า 15 ปี  ต่อไปจะมีเรื่องราวดีๆ ของชาวแม่เมาะปรากฏอยู่ในสายตาคนทั้งประเทศมากขึ้น ทั้งในเรื่องศูนย์การเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการ เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี มียอดนักท่องเที่ยว แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 - 3 แสนคน รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งถึง 30 กลุ่มใน ตำบล เช่น กลุ่มตัดเย็บ กลุ่มข้าวกล้อง กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรและก่อสร้างก่อให้เกิดรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กฟผ. จะร่วมกับชุมชนแม่เมาะ มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

·         มะลิวรรณเสียใจ

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ผู้ฟ้องคดีที่ 1  กล่าวหลังจากทราบผลการรายงานของสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ว่า การที่สู้ที่ผ่านมาของพวกเราเหมือนเป็นศูนย์ แต่ทำอะไรไม่ได้แล้ว เมื่อศาลสั่งให้ยุติคดีก็ต้องยอมรับ ขณะที่กลุ่มชาวบ้านยังคงรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น  อยากให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนเรื่องกฎหมายของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างของชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ให้นำไปคิดให้รอบคอบและแก้ไขจากบทเรียนของกลุ่มพวกเรา

·         ลั่นต่อสู้คดีที่เหลือ

นางมะลิวรรณ กล่าวต่อไปว่า  ส่วนคดีที่ยังค้างอยู่อื่นๆก็ต้องต่อสู้กันต่อไป ที่ยังเหลืออยู่อีก คดีด้วยกัน คือ การยื่นฟ้องกองทุนรอบโรงไฟฟ้า เมื่อปี 55  ยื่นฟ้องคดีภาพเขียนสีดอยผาตูบ และเรื่องน้ำปนเปื้อนสารพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เมื่อประมาณปี 56  ซึ่งยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1062 วันที่ 15 - 21 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์