วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

กฟผ.ยืนกรานอพยพ แต่3ปีเรื่องยังไม่จบ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ แจงกรณีคำสั่งศาลให้อพยพชาวบ้านภายใน 1 ปี   ยัน กฟผ.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 56 จนได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่อพยพ  เตรียมเข้าชี้แจงต่อศาลปกครอง  ด้านผู้ใหญ่ฯแสงจันทร์ รอความชัดเจนว่า กฟผ.ยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เผยยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ให้ช่วยเร่งรัดการอพยพอีกทาง
           
จากกรณีคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 59  ที่ผ่านมา ให้อพยพราษฎรออกนอกรัศมี 5 กิโลเมตรจากเหมืองแม่เมาะ ตามมติ ครมปี 2556 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 

นายบรรพต ธีระวาส  ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า  กฟผชุมชน และหน่วยราชการ ได้ดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ข้อสรุปราษฎรยินดีอยู่ในเขตรัศมี 3 กิโลเมตร และบางส่วนสมัครใจไม่อพยพ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนขออนุญาตจากกรมป่าไม้และเตรียมพื้นที่สำหรับสาธารณูปโภค เพื่อให้ผู้อพยพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายบรรพต กล่าวว่า  จากเมื่อวันที่ 22 มี.ค.59  ศาลปกครองเชียงใหม่ตัดสินให้ กฟผอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ต.ค.56 นั้น คำพิพากษาของศาลดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการยื่นฟ้องของราษฎร ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.53 ซึ่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา กฟผ. ได้ทำงานร่วมกับชุมชน และหน่วยราชการ ในรูปแบบคณะทำงานไตรภาคี เพื่อเสนอเรื่องต่อ ครมในการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ซึ่งรวมถึงบ้านห้วยคิงด้วย จนนำไปสู่การมีมติ ครมเมื่อวันที่ 15 ต.ค.56 เห็นชอบให้อพยพราษฎรไปอยู่พื้นที่ใหม่โดยความสมัครใจ
         
ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ ครมมีมติ ในปี 2556 กระทรวงพลังงาน กฟผและภาคประชาชน ได้ดำเนินการทันที โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันมาโดยตลอด จนได้ข้อสรุปว่าราษฎรผู้ได้รับผลกระทบฯ ยินดีสมัครใจที่จะอพยพอยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร จากเหมืองแม่เมาะ แทนรัศมี 5 กิโลเมตร ตามที่ศาลฯตัดสิน และมีราษฎรอีกจำนวน 34 คน ยินดีสมัครใจที่จะไม่อพยพ และขออยู่ในพื้นที่เดิม ปัจจุบันมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การขอใบอนุญาตจากกรมป่าไม้ สำหรับพื้นที่รองรับการอพยพ และการสำรวจทรัพย์สินของผู้อพยพเพื่อจ่ายค่าชดเชย พร้อมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่รองรับในเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้ผู้อพยพมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการอพยพที่ผ่านมาในอดีต จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3-5 ปี
           
ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวฯ จึงเป็นการสั่งในสิ่งที่ กฟผหน่วยราชการ และภาคประชาชน ได้ดำเนินการร่วมกันอยู่แล้ว โดย กฟผจะรายงานขั้นตอนการดำเนินการอย่างละเอียดนี้เพิ่มเติมต่อศาลเพื่อรับทราบอีกครั้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวในที่สุด
           
ด้านนางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง  ผู้ฟ้องคดีที่ 1  เปิดเผยว่า ถึงแม้จะมีกระแสข่าวว่าทาง กฟผ.จะยื่นอุทธรณ์คดี แต่ทางชาวบ้านก็ต้องรอความชัดเจนอีกครั้งว่าทาง กฟผ.ยื่นอุทธรณ์หรือไม่  ถ้าอุทธรณ์ก็ต้องมาประชุมกันร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป ในส่วนของปัญหาการติดพื้นที่ป่าไม้อยู่นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ยื่นหนังสือผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อประสานไปยังอธิบดีกรมป่าไม้เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดให้แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้  ตาม มติ ครม.  วันที่ 15 ต.ค.56  ได้อนุมัติแนวทางแก้ไขปัญหาราษฎรทั้ง 5 หมู่บ้าน โดยเห็นชอบในหลักการให้อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ให้ กฟผเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านงบประมาณจำนวน 2,970,500,000 บาท และให้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับราษฎรที่ยืนยันไม่ต้องการอพยพว่าพื้นที่รองรับการอพยพมีความเหมาะสม และได้ความเห็นชอบจากการทำประชาคมหมู่บ้านแล้ว   มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งหมู่บ้านให้สอดคล้องกับแนวทางการปกครองในระดับหมู่บ้าน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการให้บริการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบประปาในพื้นที่ของครัวเรือนที่ขออพยพเพื่อป้องกันการย้ายกลับเข้าพื้นที่เดิม 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1073 วันที่ 1 - 7 เมษายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์