
ถึงแม้เมืองลำปางจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองรถม้า แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เราไม่ได้มีอู่ต่อรถม้าโดยเฉพาะที่จะเนรมิตรถม้าขึ้นมาสักคันจากอู่เดียว หมายความว่า กว่าจะเป็นรถม้า 1 คัน ต้องอาศัยสล่าอย่างน้อย 5 คน ต่างตำบล ต่างอำเภอ สล่าคนหนึ่งทำล้อ คนหนึ่งทำตัวถัง อีกคนเชี่ยวชาญงานเหล็กก็รับงานประกอบไป ส่วนอีกคนทำสี อีกคนทำหลังคากับเบาะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องมาประกอบกันที่นี่ ที่บ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง


เดิมทีพ่อของสล่าจันทร์เป็นเพียงลูกมือช่วยทำเกวียนในหมู่บ้านอื่น
สมัยนั้นเกวียนคือพาหนะจำเป็นที่ชาวบ้านใช้ลากไม้ บางคนไปลากไกลถึงเมืองลำพูนก็มี
เมื่อสั่งสมประสบการณ์จนชำนาญ ก็ออกมาทำเกวียนเอง ซึ่งต่อมาบ้านก็กลายเป็นศูนย์กลางการทำเกวียน
มีชาวบ้านมารวมตัวกันทำเกวียนอย่างคึกคัก สล่าจันทร์เห็นพ่อทำเกวียนมาตั้งแต่เด็ก
เมื่อโตพอที่จะหยิบจับงานไม้ก็ทำได้อย่างคล่องแคล่ว
เพราะมีทักษะเชิงช่างเป็นทุนเดิมอยู่บ้าง

วงล้อรถม้าเหมือนจะทำง่าย
แต่มันก็ไม่ใช่อย่างที่คิดเสียทีเดียว ล้อรถม้า 1 ชุด
ประกอบด้วยวงล้อไม้ 4 ล้อ ล้อหน้า 2
ล้อจะเล็กกว่าอีก 2 ล้อที่เป็นล้อหลัง
วงล้อไม้ที่ดีจะทำจากไม้เนื้อแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากบ้านเก่าที่รื้อขาย
เพราะไม้อยู่ตัวแล้ว ไม่ยืดหดอีก
สำหรับรถม้าโดยทั่วไป
ล้อคู่หน้าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ประกอบด้วยซี่ล้อ 12 ซี่ 6 ฝัก ส่วนล้อคู่หลังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร ประกอบด้วยซี่ล้อ 14 ซี่ 7 ฝัก สล่าจันทร์บอกว่า ความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรให้วงล้อกลมเท่านั้นเอง
นั่นแหละคือปัญหา ขณะเดียวกันชายชราก็ปฏิเสธการพึ่งพาเครื่องมือทุ่นแรงสมัยใหม่
พึงพอใจจะอาศัยความชำนาญในการคิดคะเนเอาเองทั้งสิ้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ
ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน ทว่าหากการทำวงล้อไม้เป็นเรื่องง่ายดาย
ก็แล้วเหตุใดกันเล่า จึงไม่อาจหาช่างฝีมือที่สามารถทำวงล้อไม้ได้ยอดเยี่ยมเทียบเทียม

ใช่เพียงประกอบวงล้อไม้เข้าด้วยกันแล้วจะเสร็จสมบูรณ์
ขั้นตอนสุดท้ายคือการรัดเหล็ก โดยการก่อไฟกลางลานบ้านเพื่อเผาเหล็กเส้นแบน
จากนั้นนำมารัดรอบวงล้อไม้ให้พร้อมสำหรับการใส่ยางรถม้าต่อไป ทั้งนี้
สล่าจันทร์จะเว้นช่องว่างระหว่างฝักไว้เล็กน้อย เวลารัดเหล็กส่วนของฝัก
หรือขอบล้อจะได้ชิดกันพอดี ไม่เบียดแน่นจนทำให้ไม้ชิ้นหนึ่งชิ้นใดแอ่น หรือโก่งขึ้นมา
“รถม้าที่ใช้ล้อเหล็กกับล้อไม้เสียงจะดังต่างกัน”
สล่าจันทร์ว่า “ล้อไม้วิ่งนิ่มกว่า เสียงไม่ดัง มันจะดังกรึกๆๆ เท่านั้น”

สล่าเสริมเป็นช่างไม้เก่าแก่มากฝีมือ
สืบทอดภูมิปัญญานี้มาจากพ่อ ตลอดระยะเวลา 30 ปี ชายวัย 69 ปีแห่งบ้านวังหม้อ อำเภอเมืองฯ คนนี้ ทำตัวถังรถม้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คัน ทั้งรถม้าที่วิ่งในเมืองลำปางเอง รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยวต่างๆก็ล้วนมีต้นทางจากที่นี่ทั้งสิ้น
สล่าเสริมบอกว่า งานไม้ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ
หากทำพลาดไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
บ้านของสล่าเสริมระเกะระกะไปด้วยเศษไม้และเครื่องมือช่าง
กลิ่นของไม้อบอวลอยู่ทุกที่ สล่าเสริมใช้เวลาทำตัวถังรถม้าแบบง่ายที่สุด ราว 5 วัน
แต่หากเป็นรถม้าแบบรถตู้จะยากหน่อย ต้องใช้เวลา
สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำตัวถังรถม้า คือการทำส่วนที่เรียกว่า “แก้ม”
เพราะต้องโค้ง ได้สัดส่วนพอดิบพอดี
“มีแบบมาให้
ทำได้หมดล่ะ บอกแค่สัดส่วนพอ” สล่าเสริมบอกพลางยิ้มกว้าง “งานไม้ต้องละเอียด
รอบคอบ ผิดแล้วผิดเลย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่างหมีวังหม้อได้วงล้อไม้จากสล่าจันทร์
ตัวถังไม้จากสล่าเสริม ก็จะนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบที่บ้าน ต่อไปนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนงานเหล็ก
งานเชื่อม ต่อด้วยการทำสี ระหว่างนั้นก็สั่งการไปยังช่างทำเบาะ-หลังคาด้วย
รถม้าขนาดกว้าง 90
เมตรตามออเดอร์นี้ ต้องใช้เวลาประกอบ 7 วัน
หากนับรวมในทุกขั้นตอน รถม้าคันหนึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกำลังดี
ไม่เร่งจนเกินไป
ทุกวันนี้รถม้าลำปางมีออเดอร์มาเรื่อยๆจากร้านอาหาร
ร้านกาแฟ โรงแรม รีสอร์ตในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่าง พัทยา ภูเก็ต
และประเทศมาเลเซีย บางแห่งนำไปวิ่งรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ก็ต้องสั่งม้าของเราไปด้วย
บางแห่งไม่เอาม้า เพราะนำไปตั้งประดับตกแต่งเฉยๆ ขณะที่บางแห่งสั่งทั้งรถม้า ม้า และคนขับ
ไปถึงต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ทันที
จะมีที่ไหนจัดหาให้ได้เพียบพร้อมเท่านี้
หากไม่ใช่ที่บ้านวังหม้อ เมืองลำปางของเรา
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1094 วันที่ 2 - 8 กันยายน 2559)
อยากรู้สถานที่ บ้านช่างหมีครับ มี โลเคชั่นหรือป่าว
ตอบลบ