วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

ชุมนุมสล่าสุดยอดฝืมือ คนต้นทาง รถม้า 'วังหม้อ'

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ถึงแม้เมืองลำปางจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองรถม้า แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เราไม่ได้มีอู่ต่อรถม้าโดยเฉพาะที่จะเนรมิตรถม้าขึ้นมาสักคันจากอู่เดียว หมายความว่า กว่าจะเป็นรถม้า 1 คัน ต้องอาศัยสล่าอย่างน้อย 5 คน ต่างตำบล ต่างอำเภอ สล่าคนหนึ่งทำล้อ คนหนึ่งทำตัวถัง อีกคนเชี่ยวชาญงานเหล็กก็รับงานประกอบไป ส่วนอีกคนทำสี อีกคนทำหลังคากับเบาะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องมาประกอบกันที่นี่ ที่บ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง

หลังลูกค้าเลือกรถม้าจากอัลบั้มแล้ว นคร วงค์คำ หรือที่รู้จักกันในนาม ช่างหมี วังหม้อจะกระจายออเดอร์ไปยังบรรดาสล่าที่ทำงานร่วมกันมานาน ในส่วนของวงล้อ หากลูกค้าต้องการวงล้อที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต ไม่ใช่วงล้อเหล็กทั่วๆไป ช่างหมีจะติดต่อลุงจันทร์ขัตตินนท์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านลำปางหลวง อำเภอเกาะคา

ในวัย 82 ปี ลุงจันทร์สล่าทำวงล้อไม้สำหรับรถม้า ยังคงนั่งอยู่ท่ามกลางเครื่องไม้เครื่องมือที่บางชิ้นตกทอดมาตั้งแต่สมัยทำเกวียนกับพ่อ มันดูเนิ่นนาน แต่ในความทรงจำของชายชรา ภาพเกวียนนับสิบๆเล่มต่อเดือนที่พ่อเพียรทำเพื่อส่งไปขายเมืองเพชรบูรณ์ยังคงแจ่มชัดเสมอ
           
เดิมทีพ่อของสล่าจันทร์เป็นเพียงลูกมือช่วยทำเกวียนในหมู่บ้านอื่น สมัยนั้นเกวียนคือพาหนะจำเป็นที่ชาวบ้านใช้ลากไม้ บางคนไปลากไกลถึงเมืองลำพูนก็มี เมื่อสั่งสมประสบการณ์จนชำนาญ ก็ออกมาทำเกวียนเอง ซึ่งต่อมาบ้านก็กลายเป็นศูนย์กลางการทำเกวียน มีชาวบ้านมารวมตัวกันทำเกวียนอย่างคึกคัก สล่าจันทร์เห็นพ่อทำเกวียนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตพอที่จะหยิบจับงานไม้ก็ทำได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะมีทักษะเชิงช่างเป็นทุนเดิมอยู่บ้าง
           
กาลเวลาเปลี่ยนผ่านมาถึงยุคที่เกวียนกลายเป็นพาหนะล้าสมัยและไม้ก็หายากขึ้น อาชีพคนทำเกวียนจำต้องยุติ สล่าจันทร์ในตอนนั้นอายุราว 60 กว่าปีจึงหันมาทำล้อรถม้าตามที่มีลูกค้าคนหนึ่งสั่ง ความรู้ความชำนาญจากการทำล้อเกวียนถูกนำมาปรับใช้กับการทำล้อรถม้า เพราะโดยรวมแล้ว ล้อเกวียนต่างจากล้อรถม้าแค่เพียงขนาดที่ใหญ่กว่าเท่านั้นเอง

วงล้อรถม้าเหมือนจะทำง่าย แต่มันก็ไม่ใช่อย่างที่คิดเสียทีเดียว ล้อรถม้า 1 ชุด ประกอบด้วยวงล้อไม้ 4 ล้อ ล้อหน้า 2 ล้อจะเล็กกว่าอีก 2 ล้อที่เป็นล้อหลัง วงล้อไม้ที่ดีจะทำจากไม้เนื้อแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากบ้านเก่าที่รื้อขาย เพราะไม้อยู่ตัวแล้ว ไม่ยืดหดอีก

สำหรับรถม้าโดยทั่วไป ล้อคู่หน้าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ประกอบด้วยซี่ล้อ 12 ซี่ 6 ฝัก ส่วนล้อคู่หลังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร ประกอบด้วยซี่ล้อ 14 ซี่ 7 ฝัก สล่าจันทร์บอกว่า ความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรให้วงล้อกลมเท่านั้นเอง นั่นแหละคือปัญหา ขณะเดียวกันชายชราก็ปฏิเสธการพึ่งพาเครื่องมือทุ่นแรงสมัยใหม่ พึงพอใจจะอาศัยความชำนาญในการคิดคะเนเอาเองทั้งสิ้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน ทว่าหากการทำวงล้อไม้เป็นเรื่องง่ายดาย ก็แล้วเหตุใดกันเล่า จึงไม่อาจหาช่างฝีมือที่สามารถทำวงล้อไม้ได้ยอดเยี่ยมเทียบเทียม

ความพิถีพิถันในการทำวงล้อไม้ด้วยการยึดต่อไม้แบบโบราณ หรือการตอกสลัก เข้าเดือย เหมือนเมื่อครั้งทำล้อเกวียนกับพ่อ คือสิ่งที่สล่าจันทร์เชื่อมาตลอดว่าจะทำให้วงล้อไม้แข็งแรงคงทนมากขึ้น เหตุนี้เอง ฝีมือของสล่าจันทร์จึงเป็นที่เลื่องลือในแวดวงช่างไม้และคนขับรถม้าเมืองลำปาง วงล้อไม้ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังใช้งานได้ดีเยี่ยม หากเป็นเมื่อก่อนดุมล้อยังทำจากไม้ประดู่ เรียกได้ว่าใช้ไม้ทุกส่วนเลยทีเดียว น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เรี่ยวแรงของสล่าจันทร์เริ่มถดถอยและยังถูกรุมเร้าด้วยอาการกระดูกทับเส้นประสาท ดุมล้อไม้จึงเปลี่ยนมาเป็นดุมล้อเหล็กเพื่อช่วยผ่อนแรงและลดทอนขั้นตอนที่ยุ่งยากออกบ้าง ไม่เช่นนั้นระยะเวลาในการทำวงล้อไม้ 1 ชุดคงต้องยืดยาวออกไปเป็นแน่

ใช่เพียงประกอบวงล้อไม้เข้าด้วยกันแล้วจะเสร็จสมบูรณ์ ขั้นตอนสุดท้ายคือการรัดเหล็ก โดยการก่อไฟกลางลานบ้านเพื่อเผาเหล็กเส้นแบน จากนั้นนำมารัดรอบวงล้อไม้ให้พร้อมสำหรับการใส่ยางรถม้าต่อไป ทั้งนี้ สล่าจันทร์จะเว้นช่องว่างระหว่างฝักไว้เล็กน้อย เวลารัดเหล็กส่วนของฝัก หรือขอบล้อจะได้ชิดกันพอดี ไม่เบียดแน่นจนทำให้ไม้ชิ้นหนึ่งชิ้นใดแอ่น หรือโก่งขึ้นมา

รถม้าที่ใช้ล้อเหล็กกับล้อไม้เสียงจะดังต่างกัน สล่าจันทร์ว่า ล้อไม้วิ่งนิ่มกว่า เสียงไม่ดัง มันจะดังกรึกๆๆ เท่านั้น

สล่าจันทร์จะทำเฉพาะวงล้อไม้ส่งให้ลูกค้าประจำอย่างช่างหมี วังหม้อ ทั้งนี้ ช่างหมีก็ต้องรอตัวถังรถม้าจากบุญเสริม แก้วธรรมไชยหรือสล่าเสริมด้วยเช่นกัน ซึ่งสล่าเสริมจะใช้เวลาในการทำตัวถังไม้ราว 7 วัน พอดีกับที่สล่าจันทร์จะทำวงล้อไม้เสร็จ

สล่าเสริมเป็นช่างไม้เก่าแก่มากฝีมือ สืบทอดภูมิปัญญานี้มาจากพ่อ ตลอดระยะเวลา 30 ปี ชายวัย 69 ปีแห่งบ้านวังหม้อ อำเภอเมืองฯ คนนี้ ทำตัวถังรถม้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คัน ทั้งรถม้าที่วิ่งในเมืองลำปางเอง รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยวต่างๆก็ล้วนมีต้นทางจากที่นี่ทั้งสิ้น สล่าเสริมบอกว่า งานไม้ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ หากทำพลาดไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

บ้านของสล่าเสริมระเกะระกะไปด้วยเศษไม้และเครื่องมือช่าง กลิ่นของไม้อบอวลอยู่ทุกที่ สล่าเสริมใช้เวลาทำตัวถังรถม้าแบบง่ายที่สุด ราว 5 วัน แต่หากเป็นรถม้าแบบรถตู้จะยากหน่อย ต้องใช้เวลา สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำตัวถังรถม้า คือการทำส่วนที่เรียกว่า “แก้ม” เพราะต้องโค้ง ได้สัดส่วนพอดิบพอดี

“มีแบบมาให้ ทำได้หมดล่ะ บอกแค่สัดส่วนพอ” สล่าเสริมบอกพลางยิ้มกว้าง “งานไม้ต้องละเอียด รอบคอบ ผิดแล้วผิดเลย”

ตัวถังรถม้าที่สล่าเสริมกำลังประกอบอยู่นั้น กำลังรอวงล้อไม้จากสล่าจันทร์ ด้วยเพราะเป็นงานทำมือทุกขั้นตอน ประกอบกับสล่าผู้เฒ่าทั้งสองก็อายุมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสล่าจันทร์นั้น เป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละวันทำงานได้น้อยลง ลูกค้าที่มาสั่งบางคนก็เข้าใจ ขณะที่บางคนไม่อาจรอได้ ต้องหันไปหาช่างเหล็กแทน รถม้าเมืองลำปางทุกวันนี้จึงมีทั้งล้อเหล็กและล้อไม้ หากแต่ความนิยมในงานไม้กลับเพิ่มขึ้น บ่อยครั้งสล่าจันทร์จำต้องปฏิเสธ เพราะทำไม่ไหว ถึงแม้จะถ่ายทอดวิชาให้ลูกชายไว้แล้ว แต่ลูกชายก็มีงานประจำ กว่าจะลงมือทำวงล้อไม้ก็ต้องรอให้ว่างจริงๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่างหมีวังหม้อได้วงล้อไม้จากสล่าจันทร์ ตัวถังไม้จากสล่าเสริม ก็จะนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบที่บ้าน ต่อไปนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนงานเหล็ก งานเชื่อม ต่อด้วยการทำสี ระหว่างนั้นก็สั่งการไปยังช่างทำเบาะ-หลังคาด้วย รถม้าขนาดกว้าง 90 เมตรตามออเดอร์นี้ ต้องใช้เวลาประกอบ 7 วัน หากนับรวมในทุกขั้นตอน รถม้าคันหนึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกำลังดี ไม่เร่งจนเกินไป

ทุกวันนี้รถม้าลำปางมีออเดอร์มาเรื่อยๆจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม รีสอร์ตในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่าง พัทยา ภูเก็ต และประเทศมาเลเซีย บางแห่งนำไปวิ่งรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ก็ต้องสั่งม้าของเราไปด้วย บางแห่งไม่เอาม้า เพราะนำไปตั้งประดับตกแต่งเฉยๆ ขณะที่บางแห่งสั่งทั้งรถม้า ม้า และคนขับ ไปถึงต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ทันที

จะมีที่ไหนจัดหาให้ได้เพียบพร้อมเท่านี้ หากไม่ใช่ที่บ้านวังหม้อ เมืองลำปางของเรา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1094 วันที่ 2 - 8 กันยายน 2559)
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากรู้สถานที่ บ้านช่างหมีครับ มี โลเคชั่นหรือป่าว

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์