‘ประพัฒน์’
ไม่เห็นด้วยชี้บ.ประชารัฐเอื้อระบบทุนนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง เปิดเผยกับ ลานนาโพสต์ ว่า
หลังจากที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแนวนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยเน้นให้เกษตรกรลุกขึ้นมาพัฒนาพาตัวเองให้ก้าวไปมากกว่าจะเป็นแค่เกษตรกรที่ขายแค่ผลผลิตทางการเกษตร
ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านเกษตรนั้น
สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมขบวนในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม
ภายใต้นโยบาย 1 ตำบล 1 SMEs
โดยสภาเกษตรกรร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
ร่วมกันผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่ในระดับตำบลที่มีความตั้งใจพัฒนาศักยภาพทำวิสาหกิจหรือ
ทำธุรกิจการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สำหรับ ธกส.ที่ต้องลงไปทำงานระดับพื้นที่
เพื่อทำความเข้าใจและเป็นที่ปรึกษาร่วมกับเกษตรกรที่สนใจจะกู้เงินไปพัฒนาศักยภาพตนเองมากกว่านั่งรอให้เกษตรกรเดินเข้าไปหาและขอคำปรึกษาเรื่องเงินกู้โดยต่างฝ่ายต่างไม่มีความชัดเจนในการใช้เงินกู้เพื่อต่อยอดในการนำสินค้าเกษตรไปสู่ธุรกิจการค้าขายที่ยั่งยืน
ซึ่งต่างกับการปล่อยกู้วิธีเดิมที่ดุแต่หลักทรัพย์
แต่โครงการไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งโครงการ1 ตำบล 1 SMEs มีงบประมาณรอให้กู้ทั่วประเทศ 20,000
ล้านบาท รองรับ 14,000 โครงการ
ขณะนี้มีหลายจังหวัดขับเคลื่อนไปได้เร็วมาก มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งเป็นธุรกิจในชุมชนขึ้นมาเป็นรูปธรรมเกิดวงจรธุรกิจการเกษตร
ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของจังหวัดลำปาง
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลักดันมากกว่า 10 กลุ่ม SMEs ที่มีแนวทางชัดเจนในการขอกู้เงินในโครงการไปดำเนินการพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านผลผลิตการเกษตร
หลายอำเภอแล้ว เช่นที่ แจ้ห่ม มีเกษตรกรรุ่นใหม่คิดวิธีใหม่ในการพัฒนาตัวเองไปสู่การทำธุรกิจเกษตรครบวงจร
ของกลุ่มเลี้ยงสุกร ลุกขึ้นมาก่อตั้งโรงเชือดแบบถูกกฎหมายเอง
ทำตลาดซื้อขายครบวงจรในกลุ่มกันเอง เห็นชัดว่ามีแนวทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายลง
ผลกำไรมีมากขึ้น มีความยั่งยืน ซึ่งกลุ่มนี้ก็ขอกู้ในโครงการ 1 ตำบล 1 SMEs ที่มีอนาคต เป็นต้น
นอกจากนี้
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังได้ตอบข้อซักถามในความเห็นเกี่ยวกับกรณี
นโยบายการก่อตั้ง บริษัทประชารัฐรักษาสามัคคี(วิสาหกิจเพื่อสังคม)
ทั่วประเทศของรัฐบาลชุดนี้ว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายในภาพรวมของการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก
แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง บริษัทประชารัฐรักษาสามัคคีฯ เพราะเชื่อว่า
แนวทางของการให้คนรวยแล้ว
หรือนักธุรกิจที่เป็นพ่อค้ารายใหญ่มาบริหารงานช่วยคนจนให้อยู่รอด
และท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความล้มเหลว เพราะคนที่รวยแล้วจะบริหารแบบคนที่รวยแล้วซึ่งไม่มีทางจะเอื้อประโยชน์ต่อคนจน
หรือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มได้อย่างแท้จริง
"เรามีประสบการณ์มาแล้ว มากมายจากการมให้คนรวยในภาคอุตสาหกรรม
และพาณิชย์เข้ามาบริหารกำหนดแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจน มันไม่ใช่เรื่องจริง
เพราะทุกวันนี้มีนักธุรกิจพ่อค้ารายไหน ที่กล้า นโยบายคืนกำไรให้คนจน
หรือเกษตรกรที่เดือดร้อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรวยเอาเปรียบคนจนเสมอมา
เกษตรกรไม่มีทางจะเติบโตถ้ารอความหวังจากความช่วยเหลือจากบริษัทประชารัฐ
เพราะการตั้งบริษัทประชารัฐก็ไม่พ้นวิธีคิดเดิมๆจากกลุ่มคนที่เอาเปรียบคนจนอยู่ดี
เกษตรกรจึงต้องมีแนวทางในการเดินเส้นทางใหม่ ยืนด้วยขาของตัวเอง
พึ่งพาตลาดของตนเองที่รวมกลุ่มกันเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งตลาดจากนายทุน"
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1106 วันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น