วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เลี้ยงหมูขายครบวงจร วิสาหกิจชุมชนไม่พึ่งนายทุน

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/
     
เรื่องของการทำธุรกิจของคนในชุมชนเล็กๆอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หากมีความตั้งใจและรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เหมือนภาษิตคำสอนโบร่ำโบราณว่า "ไม้ขีดก้านเดียวหักง่าย แต่รวมกันหลายๆก้านก็หักยาก"เช่นเดียวกับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง รวมตัวกันเป็น "วิสาหกิจชุมชนโรงแปรรูปสุกร" เพื่อตอบสนองแนวทางการไม่พึ่งพาตลาดซื้อขายสุกรทุกรูปแบบ
           
ชะเลงศักดิ์ วงศ์สุวภาพอายุ 39 ปี เกษตรกรหนุ่มไฟแรง บ้านสบฟ้า ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ผู้ก่อตั้ง วิสาหกิจชุมชนโรงแปรรูปสุกร เล่าว่า จากเดิมตนและครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรมมาหลายรูปแบบ ก่อนหน้านี้เลี้ยงไก่อยู่หลายปีแต่ขายไม่ได้ราคามีผู้บริโภคน้อย จึงหันมาเลี้ยงสุกร เนื่องจากให้ผลกำไรได้มากกว่าการเลี้ยงไก่ เนื่องจากสุกรมีรูปแบบการเลี้ยงที่ประหยัดต้นทุนได้มากกว่าไก่ ด้วยการให้อาหารธรรมชาติ คือผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่นผสมกับอาหารสุกรทั่วไป ใช้สมุนไพรแทนยา จึงสามารถลดต้นทุนได้กว่า 30-40 % เมื่อเทียบกับการเลี้ยงแบบให้อาหารสำเร็จรูปขณะเดียวกันได้ทดลองนำหมูที่เลี้ยง เชือดและขายเนื้อให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนปรากฏว่ามีผลกำไรมากกว่าการขายหมูให้กับพ่อค้าคนกลางหรือพ่อค้าที่เรียกกันทั่วไปว่า "พ่อค้าเขียงหมู"แม้จะขายในราคาที่ต่ำกว่าพ่อค้าในตลาดก็ตาม
           
โดยเริ่มจากการเชือดเองวันละ 1-2 ตัว เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น จึงเปิดเป็นร้านขายเนื้อสุกรแบบปิด ติดแอร์ ที่ถูกสุขอนามัย ชื่อร้าน"หมูโอ๊กแดง" มีสัญลักษณ์เป็นรูปสุกรใส่รองเท้าบูธ แสดงถึงเนื้อสุกรที่สะอาด โดยนำสุกรที่เลี้ยงเองไปจ้างโรงฆ่าสัตว์ แล้วนำขายปลีกแบบครบวงจร
           
"สิ่งที่ผมพบจากการเลี้ยงสุกรขายแบบครบวงจร นอกจากการมีผลกำไรมากขึ้นแล้ว ยังเกิดวงจรธุรกิจเล็กๆในชุมชน เช่น เราซื้อเศษข้าวโพดที่ถูกคัดทิ้ง มาเป็นบดผสมกับอาหารเพื่อลดต้นทุน คนในชุมชนบางส่วนมีรายได้จากการรับจ้างเก็บ ขน ข้าวโพด โรงฆ่าสัตว์มีรายได้เพิ่ม เพื่อนบ้านมีรายได้จากการรับจ้างขนส่งสุกรจากโรงฆ่าสัตว์มาที่ร้าน และคนรับจ้างประจำร้ายขายหมูก็มีงานทำมีรายได้ ผมจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่แล้ว มาเป็นวงจรเดียวกัน ในการซื้ออาหาร และซื้อผลผลิตเกษตรที่นำมาทำอาหารสุกรกันเอง มีการแลกเปลี่ยนกันเองทุกเรื่องในกลุ่มตั้งแต่การปรับปรุงสายพันธ์ การดูแลคอกสุกร และอื่นๆ ซื้อและขายกันเองไม่ต้องพึ่งพาตลาดจากพ่อค้าหรือนายทุน"
           
ชะเลงศักดิ์ เล่าว่า หลังจากรวมตัวกัน เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการเลี้ยงสุกร แล้ว สิ่งที่ก้าวเดินต่อคือการสร้างกลไกตลาดในกลุ่มครบวงจร โดยสมาชิกทั้ง 30 คน ในกลุ่มจะร่วมกัน สร้างโรงแปรรูปสุกร โดยอาศัยงบประมาณเริ่มต้นจากโครงการ 1 ตำบล 1 SMEs เบื้องต้นในแผนโครงการ คือสร้างโรงเชือดที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยปศุสัตว์อำเภอแจ้ห่มเป็นผู้ออกแบบระบบการทำโรงเชือดที่ถูกหลักอนามัยให้ เพื่อใช้เป็นโรงเชือดกลางสำหรับสมาชิก โดย ชะเลงศักดิ์ เป็นผู้รับซื้อสุกรตามราคากลางในท้องตลาด(กก.ละ 100 บาท)มาขายปลีกที่ร้าน "หมูโอ๊กแดง" ของเขาตั้งอยู่ใกล้ตลาดแจ้ห่ม ในราคาขายปลีกเพียงกิโลกรัมละ 120 บาทซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ขณะนี้เริ่มลูกค้าขาประจำในชุมชนหนาแน่นขึ้น จากการบอกต่อและตอบรับแนวทางการตลาด "หมูคนแจ้ห่มขายเพื่อคนแจ้ห่ม" นับว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น มียอดขายประมาณ 5 ตัวต่อวัน ปัจจุบันมีสุกรที่เลี้ยงในกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 200 ตัว เพียงพอต่อการหมุนเวียนส่งป้อนเข้าสู่ระบบการตลาดอย่างต่อเนื่อง  

"หลังจากเรามีโรงเชือดสุกรแล้ว เราก็มีแผนจะพัฒนาแปรรูปเนื้อสุกรรูปแบบต่างๆ เช่น แหนม หมูยอ หรืออื่นๆ ตามลำดับ โดยจะต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ ฝึกอบรมการแปรรูปให้เชี่ยวชาญ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการแปรรูปของกลุ่มจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ แนวทางนี้ตอบโจทย์เรื่องการการสร้างกลไกธุรกิจครบวงจรที่ชัดเจน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มแน่นอน คนในชุมชนมีงานทำ ไม่ต้องจากบ้านไปไกล จากโครงการแปรรูปและการตลาดอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอนาคต ในส่วนของผมได้วางแผนจะขยายสาขาร้านหมูโอ๊กแดง ไปยังอำเภอใกล้เคียง ดังนั้นเราไม่มีปัญหาเรื่องตลาดในอนาคต วิธีนี้ผมและเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเชื่อมั่นว่า ไม่ต้องรอพึ่งตลาดนายทุนเราอยู่ได้แน่นอน"
           
นี่เป็นเพียงหนึ่งก้าวของแนวคิดที่ไม่ต้องรอศึกษาอะไรให้ยืดยาว แต่พวกเขาเน้นลงมือลุยภาคสนาม แม้จะเป็นวิธีเรียบง่ายแบบบ้านๆ แต่ก็ได้ผลลัพธ์และเกิดพลังที่น่าทึ่ง ของการสร้างวงจรธุรกิจเล็กๆในชุมชน หวังผลแค่ดันรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างมีตัวชี้วัดที่แน่นอน คนในชุมชนมีรายได้แถมผู้บริโภคในชุมชนยังได้ซื้อสินค้าของชุมชนในราคาย่อมเยา หากโมเดลนี้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโรงแปรรูปสุกร ต.แจ้ห่มเติบโต อาจจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสร้างฝันให้กลุ่มเกษตรกรอื่นได้อีกมากมาย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1106  วันที่  25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559)
Share:

1 ความคิดเห็น:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์