วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คนบ้านแหง จับตาทุกก้าวเขียวเหลือง ขวางพื้นที่ตั้งตารอศาล

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ชาวบ้านแหง อ.งาว ยังตึงเครียด คุมเข้มคนเข้าออกแบ่งเวรยามเฝ้าระวัง ห่วง บ.เขียวเหลืองลักลอบเข้าพื้นที่ แม้ยื่นขอหยุดทำเหมืองแล้ว เผยการฟ้องร้องไม่คืบหน้า อยู่ระหว่างชั้นศาลปกครองรอพิจารณา

นับจากปี 51ที่บริษัทเขียวเหลือง จำกัด ได้กว้านซื้อและรวบรวมที่ดินจากชาวบ้านบ้านแหงเหนือ หมู่ 1 และหมู่ 7 อ.งาว จ.ลำปาง โดยบอกกับชาวบ้านว่าจะปลูกต้นกระดาษยูคาลิปตัส แต่ในปี 2553 บริษัทเขียวเหลือง จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ลิกไนต์ จำนวน 5 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวและคัดค้านการทำเหมืองแร่ แต่เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 58 บริษัทเขียวเหลืองได้ใบประทานบัตรแล้ว 1 แปลง พื้นที่ 291 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้ยื่นขอหยุดการทำเหมืองไปยังทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เนื่องจากไม่สามารถเปิดหน้าเหมืองได้ภายใน 1 ปีตามข้อกำหนดในประทานบัตรนั้น
           
ลานนาโพสต์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเป็นอยู่ของชาวบ้านแหง พบว่า ในส่วนของที่พักอาศัยของชาวบ้านนั้น บ้านเรือนส่วนมากมีลักษณะเป็นบ้านไม้ ยกใต้ถุนสูง อยู่ติดๆ กัน เมื่อเดินทางลึกเข้าไปจะพบพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ป่า ชาวบ้านที่บ้านแหงจะประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีการปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น ข้าว กระเทียม ข้าวโพด ถั่วลิสง หมุนเวียนกันไป
           
ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า แม้ในขณะนี้บริษัทเขียวเหลืองได้ยื่นขอหยุดการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ไปแล้ว ในวันที่ 10 .. 59 แต่ชาวบ้านแหงก็ยังคงตกอยู่ในความกังวลและตึงเครียด มีการแบ่งเวรยามเฝ้าระวัง และมีการตรวจตราที่ค่อนข้างรัดกุม การที่บริษัทเขียวเหลืองยื่นขอหยุดการทำเหมือง มีสาเหตุมาจากทางบริษัทไม่สามารถดำเนินการเปิดหน้าเหมืองทันได้ภายในเวลาที่กำหนด เนื่องด้วยหลายๆ ปัจจัย เช่น ความขัดแย้งกับชุมชน ที่ดิน ส... ที่ดินป่าสงวน จึงจำเป็นต้องหยุดไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะโดนยึดใบอนุญาตประทานบัตร ทั้งนี้สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือทางบริษัทจะไปยื่นขอสำนักงานอุตสาหกรรมลำปางดำเนินการต่อเมื่อไรก็ได้
           
นางสาวชุทิมา ชื่นหัวใจ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทเข้ามาประกาศทำเหมือง มีการทำประชาคมที่บิดเบือน อีกทั้งยังพยายามแฝงตัวเข้ามาในหลายๆ รูปแบบ โดย 6 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับความจริงใจจากบริษัทเลย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวงคนภายนอก จึงมีการตั้งเวรยามกันขึ้นตามจุดต่างๆ รอบพื้นที่ 5 จุด เพื่อป้องกันคนจากบริษัทที่อาจแฝงตัวเข้ามา และหากมีธุระที่ต้องการเข้ามาในพื้นที่ ต้องติดต่อกับผู้นำชุมชนเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนประมาณ 3-7 วัน
           
“บริษัทเคยส่งคนมาทำทีว่าเป็นเซลล์ขายของ ไปตามบ้าน ติดเครื่องวัดคุณภาพอากาศ แล้วผลการวัดดันไปอยู่ใน EIA เราก็เลยระแวงไปหมดเลย จึงต้องมีการตรวจสอบคนที่จะเข้ามา ว่าจะไปไหน และทำอะไร บางทีกระทบกระทั่งกัน แต่ก็ต้องทำเพราะเราโดนมาเยอะ” นางสาวชุทิมา กล่าว
           
นางสาวชุทิมา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามาของบริษัทเขียวเหลืองส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยก่อนบริษัทเข้ามาชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปี หรืออาจทำงานรับจ้าง แต่หลังจากมีการตั้งเวรยามทำให้ชาวบ้านต้องขาดรายได้ไป เนื่องจากเวรยามเป็นแบบจิตอาสาไม่มีรายได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะกังวลและหวาดกลัวการเข้ามาของเหมือง ส่งผลให้โรคประจำตัวกำเริบ
           
นางสาววรรณา ลาวัลย์ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มรักษ์บ้านแหงได้มีการฟ้องร้องหน่วยงานต่างๆ ที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 9 .. 56 ฟ้องอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนรายงานใบอนุญาตรายงานใบไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรของบริษัทเขียวเหลือง วันที่ 7 .. 57 ฟ้องอธิบดีกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีให้เพิกถอนใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน และยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประทานบัตรและรายงานใบไต่สวน ในวันที่ 22 .. 58 โดยทุกคดียังคงอยู่ในชั้นศาลปกครอง และไม่มีคำสั่งศาลออกมา
           
นางสาววรรณา กล่าวต่ออีกว่า โดยปกติแล้วกลุ่มรักษ์บ้านแหงก็ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปทั้งหน่วยงานท้องถิ่น และส่วนกลาง เพื่อย้ำเตือนถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการและขอให้ทำการเพิกถอนในอนุญาตต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือนแร่ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนตอบรับ เลยใช้กระบวนการยุติธรรม โดยหวังว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งเพิกถอนในเร็ววัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1106  วันที่  25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์