ทุกวันนี้ดูเหมือนวิถีธรรมดา ๆ ในต่างจังหวัดจะเป็นที่สนใจของคนมาเที่ยวมากขึ้น พวกเขาบางคนไม่ได้อยากไปแหล่งท่องเที่ยวฮอตฮิต ประเภทที่ว่าไม่มาก็เหมือนไม่ถึงอะไรอย่างนี้แต่คิดเกี่ยวกับการสำรวจชีวิตประจำวันของคนพื้นถิ่นว่ากินอะไร อยู่อย่างไร มีชีวิตแบบไหน
ดังนั้น เมื่อไปตลาด
เราจึงมักเห็นคนต่างถิ่นเดินไป ยกกล้องถ่ายรูปไป
หรือไม่ก็เซลฟีกับแม่ค้าอย่างสนุกสนาน ถามโน่นถามนี่ (แต่ไม่ซื้อ...แหะ ๆ
ก็บางอย่างเขากินไม่เป็นนี่)
ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีตลาดเช้าชื่อตลาดสายหยุด
ที่มาของชื่อก็ตรงตัว คือ สายหยุดขาย แม่ค้ากลับบ้าน เมื่อ 20 ปีก่อนตลาดสายหยุดไม่ได้มีหน้าตาแบบนี้ ซึ่งก็แน่ล่ะ ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง
แต่กำลังจะบอกว่าในอดีต ตลาดเช้าเมืองแม่ฮ่องสอนคือที่ที่เราต้องฝ่าหมอกหนาและความหนาวยะเยือก
เพื่อมาเดินดูแม่ค้าชาวไทยใหญ่สวม “กุบไต” หรือหมวกชาวไทยใหญ่ สวมเสื้อแขนกระบอก
นุ่งผ้าซิ่น นำสินค้ามาแบกับดินอยู่ข้างตลาดที่ไร้ซึ่งหลังคา
ของที่วางขายก็แปลกหูแปลกตา น่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน พืชผัก อาหาร อยากดู
อยากชิมไปเสียทุกอย่าง ของกินไทยใหญ่อย่างส่วยทะมิน อาลาหว่า จิ๊นลุงอุ๊บไก่
ข้าวเหลืองเนื้อลุง เมี่ยงหวาน โถ่พู เปงม้ง ข่างปอง โอยสารพัด
ทว่าทุกวันนี้
ตลาดสายหยุดกลายเป็นตลาดใหญ่ใต้หลังคา ของกินพื้นถิ่นไม่ค่อยเห็นอีกแล้ว
แม่ค้าก็ไม่ได้สวมชุดพื้นถิ่นกับกุบไตอันเป็นเอกลักษณ์ ของที่วางขายนอกจากผักสด
ผลไม้ ที่ไม่ต่างอะไรจากตลาดอื่น ก็เห็นจะมีแต่ของที่นำมาขายนักท่องเที่ยว เช่น
ถั่วนานาชนิด น้ำมันงา ข้าวซอยตัด แทบทุกร้านขายเหมือนกันหมด
สำหรับคนที่เคยไปตลาดสายหยุดเมื่อ 10-20
ปีก่อน แน่นอนต้องเดินคอตกกลับไป ปากก็พร่ำบ่นว่า “มันไม่ใช่”
เสน่ห์ของตลาดเช้าไทยใหญ่หายไปไหนหมด คำตอบก็คือ มันตกหล่นไปตามกาลเวลาน่ะสิ
เราว่าตลาดเก๊าจาวบ้านเรายังคงความเป็นพื้นถิ่นเอาไว้ได้อยู่
พืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาลมีให้เห็นดาษดื่น แบกับดิน วางบนโต๊ะ
เป็นตลาดสำหรับชาวบ้านชาวเมืองจริง ๆ เคยพาคนต่างถิ่นมาเดินเที่ยว
นั่งกินกาแฟกันในตลาด ซื้อแคบหมูมาแกล้ม ซื้อโน่นนี่มานั่งชิมกันสนุก
ตลาดเก๊าจาวจึงเป็นสถานที่ต้อนรับแขกต่างเมืองของเราเสมอ (ถ้าเขายอมตื่นเช้าอ่ะนะ)
เป็นตลาดเช้าในดวงใจสำหรับคนชอบเดินตลาดจริง ๆ ทั้งบรรยากาศก็คลาสสิก
เพราะห้อมล้อมไปด้วยอาคารไม้เก่า เสน่ห์ยังไม่จางหายไปกับกาลเวลาเหมือนตลาดอื่น
ไม่ใช่ทุกที่บนโลกใบนี้จะต้องการการเปลี่ยนแปลง
เพราะมันมักสวนทางกับความดั้งเดิมที่วันหนึ่งเราต้องถวิลหา
ตลาดเป็นที่ที่บ่งบอกชัดแจ้งว่าคนเมืองนี้มีวิถีอย่างไร กระทั่งมีคำกล่าวว่า
“อยากรู้ว่าชาวเมืองเขากินอยู่กันอย่างไรให้ไปตลาด” เอ...แต่ทุกวันนี้เราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า
ประโยคนี้ยังใช้ได้อยู่ไหม สำหรับเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ มันกลายเป็นว่า
“อยากรู้ว่านักท่องเที่ยวเขาต้องการอะไรให้ไปตลาด” หมดแล้วน่ะสิ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1106 วันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น