วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

อุทยานชาติเขลางค์ "ป่าของชาวบ้าน"

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

การเกิดขึ้นของอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่การเกิดขึ้นของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมาจากการผลักดันของชาวบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสงวนรักษาป่า รักษาต้นน้ำไว้ ยิ่งน่ายินดีเป็นเท่าทวีคูณ และว่าที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต คือ “ลำปางโมเดล” ต้นแบบการรักษาป่าที่มาจากคนพื้นที่ อันอาจเป็นกระแสธารที่ไหลไปยังที่อื่นๆต่อไป

สำคัญ วรรณบวร ประธานเครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ บริเวณดอยพระบาทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า
99,000 ไร่ เขตติดต่อ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่เมาะ และ อ.แม่ทะ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาหมอกควันไฟป่า ปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จะทำให้เกิดการควบคุมดูแลป่าได้อย่างเป็นระบบ และทั่วถึงมากขึ้น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ เมื่อวันแห่งความรักที่ผ่านมา คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมพิจารณาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติรวม 3 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต จ.ลำปาง อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก

ถือเป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งที่ 5 ของลำปาง ถัดจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ดอยจง ถ้ำผาไท และแม่วะ

เป็นอุทยานแห่งชาติ ที่ใกล้เมืองที่สุด จากการวิจัยและศึกษาหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง พบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณในพื้นที่ของดอยพระบาท ดอยผางาม โดยค้นพบหลุมศพแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งเรียกว่า หินตั้ง เรื่องจะเป็นประเด็นหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราว และเตรียมที่จะขออนุรักษ์เป็นมรดกโลกด้วย

ดังนั้น ในบริเวณผืนดินนี้อาจเป็นได้ทั้งอุทยานแห่งชาติ และมรดกโลก

สำหรับการประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติ เรียกว่าเป็นวิธีการในการรักษาป่าที่ดีที่สุด ยั่งยืนที่สุด

ในประเทศไทย อุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นจาก พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งได้ให้ความหมายของอุทยานแห่งชาติไว้ว่า ได้แก่ "บริเวณที่ดินแห่งใดที่มีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน

เมื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว รัฐจะประกาศพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

จะมีกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรเป็นประธาน อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมมหาดไทย ผู้แทนกรมที่ดิน และกรรมการอื่นไม่เกินสิบเอ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง" ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียง เช่น อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน และอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี

ในความตั้งใจของ “ลานนาโพสต์” ที่ปรารถนาให้คนจดจำแบรนด์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ว่าเป็นแบรนด์สีเขียว การเกิดขึ้นของอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต จึงเป็นเรื่องน่ายินดี และยินดีเปิดพื้นที่ให้กับความเขียวขจี ไม่ว่า ณ ที่ใดของลำปาง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1119 วันที่ 3 - 9 มีนาคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์