วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

สร้างฝายให้ดีต่อใจ ไม่ทำร้ายธรรมชาติแบบคาดไม่ถึง

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

เหมืองฝายเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมายาวนานมาก เท่าที่ปรากฏพบเป็นหลักฐานนั้น มีการกล่าวถึงเรื่องเหมืองฝายในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 1100-1200 และในสมัยราชวงศ์มังรายปกครองอาณาจักรล้านนาช่วงปี พ.ศ. 1839-2101 ได้มีการตรากฎหมายมังรายศาสตร์ที่มีการบัญญัติเรื่องระบบเหมืองฝายไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์ นอกจากกฎหมายพญามังรายจะรักษาฝายแล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีฝาย โดยจะมีการสร้างหอผีฝายใกล้กับปากลำเหมืองใหญ่ เพื่อให้ผีฝายรักษาฝาย เมื่อถึงเวลาทำนา ผู้คนที่ใช้สายน้ำร่วมกันจะมาร่วมเลี้ยงผีฝายเป็นประเพณีใหญ่

มาถึงทุกวันนี้เริ่มมีข้อกังขาว่า การสร้างฝายส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จากการที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมออกมาให้ข้อมูลที่เราควรเปิดใจรับฟังเพราะฝายก็เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง

ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการสร้างฝายที่ถูกต้องมาตลอด ใช้เวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ ได้พบเห็นฝายหลากหลายรูปแบบดร. นณณ์เปิดเผยว่า ฝายควรสร้างในคลองที่ขุดขึ้นเพื่อส่งน้ำไปตามพื้นที่เกษตร การสร้างฝายเพื่อยกระดับน้ำเป็นช่วง ๆ ย่อมทำได้ อีกที่หนึ่งคือในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ในลำธารที่เคยมีน้ำตลอดปี แต่ปัจจุบันกักเก็บน้ำไม่ได้แล้ว การสร้างฝายเพื่อช่วยกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่จะช่วยให้สัตว์มีน้ำกินและป่าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ในลำธารที่อยู่ตามป่า ซึ่งมีช่วงแล้งเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ก็ควรปล่อยให้แห้งไปตามธรรมชาติ

ไม่ควรสร้างฝายที่ไหน ตรงนี้สำคัญ ดร. นณณ์บอกว่า ที่ที่ไม่ควรสร้างฝายอย่างยิ่ง ได้แก่ 1. แหล่งน้ำไหล เช่น ลำห้วยในเขตป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว การสร้างฝายเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบนิเวศ ไม่ควรสร้างฝายเด็ดขาด 2. ตามลำธารที่ราบ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำไหล เป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มักจะอยู่นอกเขตอนุรักษ์ เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวอยู่ในแหล่งน้ำลักษณะนี้ เช่น กลุ่มปลากัดอมไข่ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธาร และปลาซิวข้างขวาน
เกี่ยวกับวัสดุที่เหมาะสมในการสร้างฝาย ไม้ไผ่เป็นตัวเริ่มที่ดี เพราะขึ้นง่าย โตเร็ว อย่าตัดไม้ยืนต้นอื่น ๆ เพราะกว่าจะโตใช้เวลาหลายปี ดีไม่ดีเป็นพันธุ์หายากหรือเปล่าก็ไม่รู้ ใช้หินก้อนใหญ่ ๆ ฝายที่ทำจากหินเวลาฝายพังหินจะตกลงมากลายเป็นแก่งเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้ ดีกว่าใช้ดินทราย ฝายพังก็ตกทับถมทำแหล่งน้ำตื้นเขิน ทำให้น้ำเสียอีกด้วย

ดร. นณณ์เน้นย้ำว่า อย่า...อย่าใช้หิน ขุดดิน ขุดทราย ที่เป็นส่วนเดิมของลำธารมาสร้างฝายเด็ดขาด เพราะพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างลำธารที่มั่นคงแล้ว เป็นบ้านของสัตว์ไปแล้ว การไปรื้อไปขุดขึ้นมา พอถึงฤดูน้ำหลาก ลำธารจะพยายามหาสมดุลใหม่ จะเกิดการกัดเซาะพังทลายวุ่นวายมากกว่าจะกลับเข้าสู่สมดุลได้ อีกข้อหนึ่งคือ อย่าใช้กระสอบพลาสติก พวกกระสอบปุ๋ย-น้ำตาล-อาหารสัตว์ พวกนี้ ดร. นณณ์ทดลองใส่ทรายวางทิ้งไว้เฉย ๆ โดนแดดโดนฝนไม่ถึงปีก็พังหมด กลายเป็นขยะพลาสติกกลางป่า

อย่างไรก็ตาม ดร. นณณ์แนะนำแบบฝายไว้ว่า อย่าสร้างเป็นกำแพงตั้งขึ้นมาตรง ๆ แต่สร้างฝายให้มีการลดระดับลงเป็นแนวลาด ทั้งฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ แนวลาดฝั่งต้นน้ำจะทำให้ตะกอนไหลผ่านไปได้ ไม่เกิดการตกสะสม ส่วนแนวลาดด้านน้ำไหลจะมีลักษณะคล้ายน้ำตกลาด ๆ ที่สัตว์สามารถว่ายน้ำ หรือปีนข้ามได้

เพราะฝายไม่ดีย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ 1. เป็นเหตุให้น้ำไหลช้าลง ส่งผลต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล 2. ตะกอนตกทับถมหิน ทำให้ตัวอ่อนของแมลง พืชน้ำ และสัตว์น้ำหลายชนิดไม่มีที่อยู่ 3. ทำให้น้ำลึกขึ้น แสงแดดส่องไม่ถึงก้อนหินใต้น้ำ ตะไคร่น้ำและพืชน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำ ไม่สามารถเติบโตได้ 4. กีดขวางการอพยพของสัตว์น้ำ ในกรณีที่สร้างฝายสูงเกินไป

ทุกวันนี้การสร้างฝายดูเหมือนเป็นตัวแทนของการงานแบบจิตอาสา ทำแล้วสุขใจ แต่เราควรหันมาใส่ใจรายละเอียดกันอีกนิดถึงความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อฝายที่เราลงแรงไปนั้น จะไม่ทำร้ายชีวิตอื่น ๆ ในผืนป่า สรุปก็คือ ฝายควรสร้างในป่าที่เคยมีความสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกทำลาย เก็บน้ำไม่ได้แล้ว พื้นที่ตามธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว อาทิ ตามป่าอนุรักษ์ ก็ปล่อยให้ลำธารเป็นลำธาร อย่าไปยุ่งกับเขาดีที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1126 วันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์