ลานนาโพสต์ยังคงติดตามประเด็นการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555-2560
ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินมากมายถึงปีละ 300
กว่าล้านหายไปไหน และใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เหตุใดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
อ.แม่เมาะ ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร
·
ผลการอนุมัติเงินกองทุน 6 ปี
ข้อมูลจากเว็บไซด์ของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)
ได้สรุปแผนงานประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ กกพ.อนุมัติ
ตั้งแต่ปี 2555-2560 ในปี 2555 มีการอนุมัติงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 204,313,947 บาท จำนวน 423 โครงการ , ปี 2556 อนุมัติงบประมาณ 275,612,753
บาท จำนวน 629 โครงการ , ปี 2557 อนุมัติงบประมาณ 343,084,233 บาท จำนวน 723 โครงการ , ปี 2558 จำนวน 774
โครงการ 342,148,958
บาท , ปี 2559 โครงการไม่เกิน 3 แสนบาท 536 โครงการ เป็นเงิน 118,655,831 บาท โครงการเกิน 3 แสนบาท 198 โครงการ เป็นเงิน 233,016,373 บาท และ ปี 2560 โครงการไม่เกิน 3 แสนบาท จำนวน 426 โครงการ งบประมาณ 73,664,430 บาท โครงการเกิน 3 แสนบาท 97 โครงการ งบประมาณ 117,985,506 บาท
·
ตรวจสอบโครงการพบไม่มีการใช้ประโยชน์
ลานนาโพสต์ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
ที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
พบว่ามีหลายแห่งที่ถูกปล่อยให้ทิ้งรกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้ใช้งานจริง ทั้งที่มีการใช้จ่ายงบประมาณในการก่อสร้างมากถึง
700,000
บาท ถึง 1,000,000 บาท เช่น
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พร้อมก่อสร้างเวทีมาตรฐานข้างสระน้ำ บ้านใหม่มงคล ปี 2556
งบประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งได้มีการปล่อยให้รกร้างและมีการนำกองฟางมากองตากไว้บนเวที เมื่อสอบถามชาวบ้านในละแวกดังกล่าว ได้คำตอบว่า
ตั้งแต่ก่อสร้างมายังไม่เคยเห็นมีการใช้ประโยชน์จากเวทีดังกล่าวแต่อย่างใด อีกโครงการคือ
การก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ บ้านเมาะหลวง หมู่ 8 ปี 2557 งบประมาณ 700,500 บาท
สภาพปัจจุบันมีการขึงเชือกโดยรอบภายในหลังคา มีการผูกเปลนอน
และมีการตากเสื้อผ้าระเกะระกะเต็มไปหมด ส่วนอาคารด้านข้างได้ปิดประตูไว้ ส่วนโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ต.แม่เมาะ ปี 2558 งบประมาณ 5,990,000 บาท
พบว่ามีการใช้งานจริงและยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันจากการประเมินราคาของวิศวกรตามภาพถ่ายสนามจริง
ประเมินว่างบประมาณการก่อสร้างดังกล่าวไม่น่าจะเกิน 4
ล้านบาท
·
เชื่อว่าชาวบ้านรับรู้
นายพร้อมพงษ์
วงศ์มณีนิล เลขานุการคณะกรรมการกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) กล่าวว่า การทำกองทุนเป็นระบบที่การมีส่วนร่วมมากที่สุด
เพราะเริ่มทำจากล่างขึ้นบน ซึ่งการที่มีคนบางกลุ่มบอกว่าไม่ทราบเรื่องการทำประชาคม
ไม่ได้รับงบประมาณต่างๆ ก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร
ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าชาวบ้านรับรู้ว่าจะมีการทำประชาคม
เนื่องจากมีการปิดประกาศ แจ้งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
แต่การเข้าถึงชาวบ้านบางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงเวทีประชาคม เช่น
มีการเสนอโครงการไป แต่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อย โครงการจึงตกไป เป็นต้น
·
ทุกโครงการมาจากชุมชน
บอกได้ว่าโครงการต่างๆมาจากพื้นที่จริงไม่มีใครเอาโครงการไปยัดได้ การที่บอกว่าไม่รับรู้ เข้าไปถึงเงินต่างๆ ต้องลองดูโครงการจะเห็นว่าเงิน 300
ล้านบาทหมดไปกับอะไร การทำโครงการแต่ละโครงการถ้าถามว่าได้ประสิทธิผลที่ชัดเจนไหม
ตอบได้เลยว่ายังได้ไม่เต็มที่
แต่ถามว่าเงินลงถึงชุมชนไหม ตอบว่าถึงชุมชนจริงๆ
นายพร้อมพงษ์
กล่าวว่า กองทุนแม่เมาะมีข้อดีคือ
เราดึงเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขออกมาต่างหากเลยด้านละ 10
เปอร์เซ็นต์ มีทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนทุกคนมา
5 ปีแล้ว
และเริ่มมีการพัฒนาสนับสนุนทุนให้เรียนปริญญาตรีต่อเนื่อง
โดยมีการคัดเกรดอาจจะไม่สูงมากนัก
ปีหนึ่งงบประมาณทุนการศึกษา 12 ล้านบาท
และมีภาระค่าครูอัตราจ้างของโรงเรียนในอ.แม่เมาะ ที่ครูไม่เพียงพอ ปีละ 9 ล้านบาท และให้โรงเรียนใน
อ.แม่เมาะทุกโรงเรียน ระดมความคิดเห็นกันในรูปของคณะอนุกรรมการ
เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา เพราะฉะนั้นปีหนึ่งจะสนับสนุนด้านการศึกษาประมาณ 30 กว่าล้านบาท
ส่วนด้านสาธารณสุขก็จะใช้ปีละประมาณ 30
กว่าล้านเช่นกัน
·
เรื่องร้องเรียนมาก
เมื่อสอบถามถึงเรื่องร้องเรียน เลขานุการกองทุนฯ กล่าวว่า มีมาโดยตลอด ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม สตง. ป.ป.ช.
เกี่ยวกับเรื่องโครงการไม่ผ่านทั้งๆที่ผ่านเวทีประชาคมแล้ว และเรื่องการรับเงินไปแล้วไม่ทำ เช่น ก่อนหน้านี้ได้มีการทำสัญญาโครงการแล้ว
และมีหนังสือขอเบิกเงินมาก่อนที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ไม่ทำโครงการจริง
ต้องตามไปตรวจสอบและตั้งกรรมการสอบมากมาย
จึงได้ปรับใหม่คือ ต้องทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างก่อนจึงจะโอนเงินให้ ในขณะที่บางกองทุนก็ยังเป็นในรูปแบบเดิมอยู่คือจ่ายขาดเงินไปเลย ในส่วนของทางราชการก็พบปัญหาเช่นเดียวกัน
คือเอาเงินไปกอดไว้แล้วไม่ทำโครงการ สุดท้ายมาโอนเงินคืนข้ามปี จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเช่นกัน
นายพร้อมพงษ์
แสดงความเห็นเรื่องจัดทำสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงว่า โครงการปีหนึ่งเฉลี่ยประมาณ
800 โครงการ แต่ละโครงการจะมาจากระดับ หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ระดับอำเภอยังพอควบคุมได้เพราะเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ ส่วนโครงการที่เกิดในระดับหมู่บ้าน ตำบล
ยอมรับว่าควบคุมยาก เพราะชาวบ้านมีการประชาคมและเห็นชอบที่จะทำ กรรมการทุกคนไม่มีใครอยากตัดโครงการของชาวบ้านออก เมื่อเป็นความต้องการของประชาชน ซึ่งตามจริงในระเบียบมีคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผล
มีหน่วยงานของ สตง.เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ แต่ด้วยจำนวนโครงการ 3,000 กว่าโครงการที่ลงไปแล้ว ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด
และบางพื้นที่เมื่อไปสอบถามชาวบ้านต่างบอกว่าได้ประโยชน์ ขัดกับสภาพจริงที่เห็น
เลขานุการกองทุฯ
ย้ำว่า กองทุนฯมีการเปิดเผยการใช้งบประมาณโครงการ
ทางกองทุนได้จัดแถลงผลการดำเนินการทุกปี ไม่ได้มีความลับหรือปิดบังข้อมูลใดๆ
และยังสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซด์ของสำนักงานกำกับกิจการพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย
·
อย่าจินตนาการเอง
ด้านนายสุวัฒน์
พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เปิดเผยว่า หลายคนคิดและจินตนาการไปเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จึงอยากให้ได้รับทราบกันว่า
งบประมาณก้อนนี้ไม่ได้มีการใช้เงินตามอำเภอใจ
ตัวงบประมาณเกิดจากคณะกรรมการกองทุนที่อยู่ส่วนกลางเป็นคนกำหนด
รวมทั้งกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งหมดให้กับคณะกรรมการกองทุนระดับจังหวัดปฏิบัติ
ระเบียบก็จะเป็นตัวกำหนดให้คณะกรรมการปฏิบัติงานภายในเงื่อนต่างๆ
·
ผู้ว่าฯชี้ขาดเองไม่ได้
การก่อโครงการ
ไม่สามารถตั้งโครงการได้ตามอำเภอใจ จะต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาแม่เมาะ
ซึ่งแผนพัฒนานี้เกิดจากภาคประชาสังคม คือ ตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่เมาะ
โดยมีนักวิชาการเข้าไปช่วยเสริมในการจัดทำแผนดังกล่าว โดยโครงการต่างๆล้วนเกิดจากความต้องการของภาคประชาชน โดยบทบาทของประธานคณะกรรมการกองทุนฯ
ผู้ว่าฯเองก็ไม่สามารถจะไปชี้ขาดได้ว่าจะต้องเอาโครงการนี้
ถ้าทำแบบนั้นผู้ว่าฯก็คงอยู่ไม่ได้ ต้องเกิดปัญหาร้องเรียนตามมาแน่นอน
·
เงินไม่ได้หายไปไหน
ผู้ว่าราชการจังหวัด
กล่าวอีกว่า การจัดสรรงบประมาณ จังหวัดไม่ได้เข้าไปบังคับ
ทางกองทุนได้มีการกันงบประมาณให้จังหวัดให้ผู้ว่าฯส่วนหนึ่ง
เพื่อให้ช่วยเหลือภาคส่วนอื่นๆที่ต้องการให้นำเสนอโครงการเข้ามา
และนำมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการในส่วนของภาคราชการก็มีอยู่
3 คนเท่านั้น
นอกนั้นก็เป็นส่วนของภาคประชาชนทั้งหมด นอกจากกรรมการเหล่านี้จะตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯแล้ว
ก็ยังต้องตรวจสอบกันเองด้วย เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าเอาเงินหายไปไหนหมด
เงินส่วนใหญ่ก็มาจากความต้องการของประชาชนทั้งหมด
ชาวบ้านต้องการหมู ต้องการไก่
ต้องการสาธารณูปโภค ดูแลเรื่องสุขภาพ และอื่นๆ
เมื่อผ่านประชาคมหมู่บ้านก็ต้องทำตามความต้องการของเขา
ส่วนขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
ก็มีระเบียบรองรับอยู่ว่า โครงการที่ไม่เกิน 3 แสนบาท
คณะกรรมการระดับหมู่บ้านจัดซื้อจัดจ้างเองได้ แต่จะต้องมีกรรมการตรวจการจ้าง
มีการตรวจรับตามระเบียบ นอกจากนั้นก็จะมีกรรมการกองทุนเข้ามาร่วมตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
ไม่ได้ปล่อยให้มีการทำงานอิสระมากเกินไป เช่น
การจะซื้อหมู ก็จะมีปศุสัตว์เข้ามาดูแลในเรื่องของราคา ไม่ใช่ว่าซื้อได้ทันทีเลย โครงการต่างๆต้องเสนอมาตามขั้นตอน
ก่อนจะมาถึงผู้ว่าฯก็จะมีหน่วยงานตรวจสอบภายในของผู้ว่าฯเอง เป็นผู้กลั่นกรองโครงการต่างๆ
เพื่อให้เกิดความรัดกุมและถูกต้อง และจะมีเสมียนตราช่วยตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ว่าฯไม่เคยเซ็นเอกสารที่ไม่มีที่มาที่ไป ยืนยันได้ว่าเงินไม่ได้หายไปไหน
เพียงแต่เป็นการจินตนาการของบุคคลนั้น
·
ไม่เสี่ยงทำผิด
นายสุวัฒน์
กล่าวอีกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดหากเกิดความผิดพลาดก็คือ
ผู้ว่าฯก็ต้องโดนดำเนินคดี นายอำเภอก็ต้องถูกปลดออกจากราชการ
ซึ่งเป็นบทเรียนให้กับผู้ว่าฯยุคหลัง จ.ลำปางเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ว่าฯ 76
จังหวัด ในการอนุมัติอนุญาตโครงการต่างๆ วันหนึ่งผู้ว่าฯขุดน้ำให้ประชาชนแต่ขุดในพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมแล้ว
ณ วันนั้นไม่มีใครขัดข้อง แต่ผ่านไปหลายปีกลับมาร้องเรียนเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่า
ทำให้ถูกออกจากราชการ เมื่อทำให้ประชาชนแล้วต้องมาโดนแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะเสี่ยงทำผิดไปเพื่ออะไร ไม่คุ้มเลย
ทุกวันนี้จึงต้องทำให้รอบคอบและรัดกุมที่สุด
ถ้าถามว่าทุกโครงการถูกต้องหมดหรือไม่
ผู้ว่าฯคงการันตีไม่ได้ แต่คนที่จะบอกได้คือคณะกรรมการตรวจการจ้าง
ซึ่งในหมู่บ้านก็มี ในระดับไม่ใช่หมู่บ้านก็มี
ถ้าผิดขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบทั้งในเรื่องของคดีอาญา คดีแพ่ง
เมื่อมีเรื่องมาถึงผู้ว่าฯก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ถ้าผู้ว่าฯเป็นผู้ตรวจรับเอง
แล้วพบมูลความผิดส่วนกลางก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ว่าฯ
ซึ่งจะเป็นขั้นตอนเดียวกันหมด
และในระยะนี้ถ้าผู้ว่าฯทำผิดนิดเดียวมีมาตรา 44
รออยู่แล้ว มีคนรอขึ้นเป็นผู้ว่าฯมากมาย
แล้วจะเสี่ยงทำความผิดไปทำไม กว่าจะมาเป็นผู้ว่าฯได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ถามว่าต้องการความเจริญแบบไหนอยู่ที่ชุมชนเขา
ถ้าบอกว่าเงิน 300 ล้านแม่เมาะทำไมไม่เจริญ ต้องลองไปดูอัตราการจดทะเบียนพาณิชย์
การซื้อรถยนต์เพิ่ม การเกิดขึ้นของอสังหาริมทรัพย์
รายได้ของแม่เมาะเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบัน เพราะฉะนั้น อย่าพูดด้วยกันจินตนาการ ต้องอ้างอิงด้วยตัวเลขที่ชัดเจน
แต่เดิมแม่เมาะย่ำแย่กว่า อ.แม่พริก
อ.เสริมงาม แต่ปัจจุบัน อ.แม่เมาะแซงหน้าขึ้นมาแล้ว
ถ้ามองถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ก็อาจเป็นเพราะชุมชน ชาวบ้านยังต้องการโครงการลักษณะเช่นนี้อยู่
ผู้ว่าฯก็ไม่สามารถขัดได้ ถ้าวันใดวันหนึ่งชาวบ้านรู้สึกอิ่มตัวและมองเห็นว่าไม่มีรูปธรรมส่งไปถึงลูกหลานได้ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนต่อไป
·
พร้อมเปิดข้อมูล
ผู้ว่าฯไม่เคยมีเรื่องปิดบังเกี่ยวกับเรื่องกองทุน
สามารถเปิดเผยได้หมด แต่ด้วยความที่เรามีวุฒิภาวะ
จะให้ไปนั่งถกเถียงตอบคำถามทางสื่อสังคมออนไลน์ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม หากต้องการสอบถามหรืออยากรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องกองทุน
สามารถให้รายละเอียดได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1129 วันที่ 19-25 พฤษภาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น