
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่บริเวณซุ้มประตูปากทางเข้าบ้านทุ่งกู่ด้าย หมู่ 6 ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง ได้มีการติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ พื้นหลังสีดำ
ตัวหนังสือสีขาว มีข้อความว่า “ชาวทุ่งกู่ด้าย ร่วมต้านโรงงานแพล้นปูน” และภายในหมู่บ้านบริเวณหน้าวัดทุ่งกู่ด้าย
มีการติดตั้งป้ายอีก 1 ป้าย ข้อความว่า “ชาวทุ่งกู่ด้าย
ต่อต้าน!โรงงานผลิตปูนในบ้านเรา” ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังนายประพัฒน์
มณียศ ประธานชุมชนทุ่งกู่ด้าย ถึงเหตุผลการขึ้นป้ายดังกล่าว
ประพัฒน์
มณียศ ประธานชุมชนทุ่งกู่ด้าย
กล่าวว่า
ได้มีบริษัทเอกชนเข้ามาซื้อที่ดินกลางหมู่บ้าน ประมาณ 10 ไร่
เพื่อสร้างโรงงานผลิตปูน ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน
และชาวบ้านโดยรอบจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ขณะนี้โรงงานได้เริ่มก่อสร้างแล้ว
โดยได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมืองเขลางค์นคร และทราบมาว่าได้มีการยื่นขออนุญาตไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางแล้ว
โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้าน จึงไม่ต้องการให้เกิดโรงงานแห่งนี้ขึ้น ทางตนเองจึงได้นำป้ายมาติดตั้งหน้าหมู่บ้าน
ไม่ต้องการให้มีการตั้งโรงงานผลิตปูนดังกล่าว
และชาวบ้านจะมีการรวมตัวกันเร็วๆนี้
นายจตุวัฒน์
ตุ้ยเต็มวงศ์ ปลัดเทศบาลเมืองเขลางค์นคร เปิดเผยว่า
กรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตปูนที่บ้านทุ่งกู่ด้าย
ได้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่เทศบาล
โดยเป็นการก่อสร้างอาคารสำหรับผลิตวัสดุซีเมนต์สำเร็จรูป เช่น แผ่นพื้นคอนกรีต
เสาปูน เป็นต้น
ซึ่งทางเทศบาลได้มีการออกใบอนุญาตไปแล้ว และทราบว่าทางบริษัทได้เริ่มก่อสร้างโครงการอาคารแล้วบางส่วน แต่ต่อมาได้มีชาวบ้านคัดค้านกันขึ้น
เมื่อวันที่ 17 พ.ค.60 ที่ผ่านมา
ทางผู้นำชุมชนกับตัวแทนของบริษัทก็ได้มีการเข้ามาพูดคุยถึงปัญหาการคัดค้านดังกล่าวกับตนเอง
ซึ่งทางผู้นำชุมชนได้บอกว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างแพล้นปูน เบื้องต้นทางบริษัทได้ชี้แจงว่าไม่ได้มีการสร้างแพล้นปูนขนาดใหญ่แบบที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นในวันที่ 21 พ.ค.60
ทางบริษัทและชาวบ้านจึงได้นัดประชุมพูดคุยทำความเข้าใจกัน และตกลงกัน
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
ทราบว่า ทางบริษัทยังไม่ได้มีการยื่นขออนุญาตไปยังสำนักงานแต่อย่างใด แต่ได้รับทราบแล้วว่าชาวบ้านได้มีการร้องเรียน
คัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงานผลิตปูนดังกล่าว
โดยได้ยื่นหนังสือโดยตรงมาที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 1 ฉบับ
และยื่นไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด 1 ฉบับ หากมีการร้องเรียน
ทางบริษัทก็จะต้องเข้าไปทำการประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน
เพื่อนำมาประกอบการขอใบอนุญาตด้วย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1129 วันที่ 19-25 พฤษภาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น