วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

'กิตติภูมิ'ขอโทษ ยกธงยุติเตาขยะพิษ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

หลังจากเทศบาลนครลำปาง ร่วมกับเครือข่าย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลนครลำปาง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจากสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลเอกชน คลินิกรักษาผู้ป่วย คลินิกรักษาสัตว์ รวมถึงมูลฝอยอื่นๆ ภายในจังหวัดลำปางและใกล้เคียง นำมากำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัย เมื่อวันที่ 17 พ.ค.60 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดการก่อสร้างเตาเผาขยะในปี 2562  ภายในบริเวณบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย หมู่ 2 ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง  ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี  ในวงเงินงบประมาณ 380 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.60 ชาวบ้านในพื้นที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง  ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาลนครลำปาง ได้รวมตัวกันออกมาคัดค้านการก่อสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อดังกล่าว โดยชาวบ้านกว่า 200 คน ได้นำเต็นท์มาตั้งด้านหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกล้วยแพะ  เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ของตนเอง

นายจินณ์ ถาคำฟู  สมาชิกสภา อบจ.ลำปางในพื้นที่ กล่าวว่า ทุกวันนี้มีบ่อขยะในพื้นที่ ต.กล้วยแพะ ชาวบ้านก็หวานอมขมกลืนอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวจะได้กลิ่นขยะเหม็นอย่างชัดเจน เมื่อมีโครงการเตาเผาขยะเข้ามาชาวบ้านก็ไม่สบายใจ เพราะขยะที่จะนำเข้ามาเผาเป็นขยะติดเชื้อ  พวกเราไมได้มาประท้วงเพียงแต่มาแสดงความคิดเห็น  เพราะเห็นว่าทางเทศบาลนครลำปางทำผิดขั้นตอนไป การจะทำบันทึกข้อตกลง ต้องมาสำรวจออกแบบ ทำประชาคมชาวบ้าน ชี้แจงให้ชาวบ้านได้ทราบก่อน  ซึ่งตนเชื่อว่าหากชาวบ้านไม่เห็นด้วยโครงการนี้เกิดไม่ได้แน่นอน

ขณะเดียวที่ชาวบ้าน ต.กล้วยแพะ ได้รวมตัวกันอยู่นั้น ทางด้านนายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้ตั้งโต๊ะชี้แจงสื่อมวลชนถึงโครงการดังกล่าว เนื่องจากทราบว่ามีกลุ่มชาวบ้านออกมารวมตัวคัดค้าน และได้ประกาศยุติโครงการทันที

นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อเป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการขยะในอนาคต ในฐานะนายกเทศมนตรีต้องรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ  ถ้ามีการเปิดหน้าที่ฝังกลบขยะในทุกปีบนพื้นที่ 600 กว่าไร่ ในบริเวณบ่อฝังกลบ ก็จะกลายเป็นขยะมหาศาลส่งผลกระทบต่อประชาชนวันใดวันหนึ่ง โครงการบริหารจัดการขยะในอนาคตจึงเป็นแนวคิดขึ้นมาว่า ควรจะต้องมีเทคโนโลยีและแนวทางจัดการขยะทั้งหมดเข้ามาทดแทน  ซึ่งมีแนวคิดไว้ 3 เรื่อง คือ 1.โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อ  2.จัดการขยะที่อยู่ในดินปัจจุบันนำออกมาเพื่อกำจัดหรือนำไปใช้ประโยชน์ คืนพื้นที่สู่สภาพปกติ และ 3.จัดหาเทคโนโลยีในการคัดแยกขยะให้ถูกหลักสุขาภิบาล

นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวต่อไปว่า โครงการสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อ จึงเป็นโครงการเริ่มต้น เพื่อวางแผนขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณหรือไม่ เหตุที่เริ่มโครงการนี้เพราะขยะที่นำไปทิ้ง ไม่มีการคัดแยกขยะติดเชื้อ และขยะติดเชื้อเหล่านี้ไม่ได้กำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ แม้ว่าจะมีโรงพยาบาลบ้างแห่งจ้างบริษัทเอกชนนำขยะไปกำจัด และมีบางแห่งมาขอใช้เตาเผาศพของเทศบาลเพื่อกำจัดขยะติดเชื้อ ทุกวันนี้พูดได้ว่ายังไม่มีเตาเผาขยะใดที่ถูกสุขาภิบาล จึงไม่ทราบว่าขยะติดเชื้อจะไปแพร่เชื้อขยายไปอีกเท่าไร แต่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน

“วันนี้ตนได้นำเสนอแผนงานเพื่อบริหารจัดการขยะในอนาคตให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนแล้ว ถือว่าได้ทำหน้าที่ในฐานะนายกเทศมนตรี ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องขยะไม่ได้  ส่วนโครงการเตาเผาขยะดังกล่าวต้องขอโทษผ่านไปยังนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ท่านสมาชิกสภา อบจ.  สมาชิกสภาเทศบาล พี่น้องประชาชน ต.กล้วยแพะ ที่มีความกังวลใจ  จึงขอประกาศยุติแผนการบริหารจัดการขยะในอนาคตทั้งหมด 3 โครงการเอาไว้ และจะขอเรียกคืนเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้กลับมาทั้งหมด  เพื่อในวันข้างหน้าหากมีผู้อื่นที่เห็นความสำคัญของแนวคิดนี้ จะสามารถนำกลับมาใช้ในอนาคต  ซึ่งตนจะขอบริหารจัดการขยะในพื้นที่บ่อฝังกลบขยะที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลให้ดีที่สุด รวมถึงคิดแผนดำเนินการขยะติดเชื้อ เฉพาะในเขตเทศบาลนครลำปางมากำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป”  นายกิตติภูมิ กล่าว

ส่วนกรณีการทำประชาคมหมู่บ้านนั้น  นายกิตติภูมิ กล่าวว่า เริ่มแรกโครงการดังกล่าวได้รับการประสานงานจากส่วนกลาง เพื่อรองรับโครงการเตาเผาขยะติดเชื้อ มีกำลังรองรับขยะได้ 13 จังหวัดภาคเหนือ แต่วิธีการต่างๆของการนำขยะเข้ามากำจัด มีระเบียบและกฎหมายควบคุมอยู่ ไม่สามารถลักลอบนำเข้ามาได้  โดยก่อนที่จะทำบันทึกข้อตกลง แบบแปลนทั้งหมดเป็นแบบแปลนตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ดำเนินการอยู่ที่ จ.นนทบุรี และ จ.อุดรธานี   หลังจากนั้นทางส่วนกลางได้ลงมาในพื้นที่มาทำการประชาคมเอง และส่งเอกสารทั้งหมด โดยมีผู้นำคนหนึ่งนำเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำประชาคม  อาจจะเป็นการทำในส่วนคนกลุ่มเล็ก  ทั้งการทำประชาคม และการทำบันทึกข้อตกลงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบรวมข้อมูลเอกสาร เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ  แต่ตอนนี้เอกสารทั้งหมดยังไม่ถูกนำเสนอเข้าไป  หลังจากนี้จะถอนเอกสารทั้งหมดนำกลับคืนสู่เทศบาล เพื่อรวบรวมเอกสารทั้งหมดเก็บไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1130 วันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์