วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บิ๊ก กฟผ.เสนอ รื้อกองทุนให้ กก.คุมเข้ม กำหนดตัวชี้วัดลดงานซ้ำซ้อน

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า รวมถึงช่วยส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

โดยผู้ผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน และตามระเบียบที่ กกพ.กำหนด และอยู่ภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยแบ่งเป็นตามประเภทเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ 1.0 สตางค์ต่อหน่วย, น้ำมันเตาและดีเซล 1.5 สตางค์ต่อหน่วย, ถ่านหินและลิกไนต์ 2.0 สตางค์ต่อหน่วย ด้านพลังงานหมุนเวียน ลมและแสงอาทิตย์ 1.0 สตางค์ต่อหน่วย พลังน้ำ 2.0 สตางค์ต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชนและอื่นๆ 1.0 สตางค์ต่อหน่วย

ลานนาโพสต์ได้ติดตามการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2555-2560 รวม 6 ปี พบว่ามีการอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 3,800  โครงการ เป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท  โดยเงินงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งนำไปใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ส่วนอันดับที่ 2 คือการใช้จ่ายในการซื้อสัตว์เลี้ยง เช่น  วัว หมู ไก่ กบ เป็นต้น  ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจในหลายหมู่บ้าน พบว่าสิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่ใช้เงินงบประมาณของกองทุน ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ 

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า งบประมาณเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าหายไปไหน เนื่องจากไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ อ.แม่เมาะ รวมถึงคุณภาพชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.แม่เมาะ ไม่ได้ดีขึ้นไปจากเดิม ขณะที่นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับลานนาโพสต์ว่า การใช้จ่ายเงินกองทุน ส่วนใหญ่ก็มาจากความต้องการของประชาชนเมื่อ ชาวบ้านต้องการหมู ต้องการไก่   ต้องการสาธารณูปโภค ดูแลเรื่องสุขภาพ และอื่นๆ  เมื่อผ่านประชาคมหมู่บ้านก็ต้องทำตามความต้องการของชาวบ้าน  และอาจเป็นเพราะชุมชน ชาวบ้านยังต้องการโครงการลักษณะเช่นนี้อยู่ ผู้ว่าฯก็ไม่สามารถขัดได้ ถ้าวันใดวันหนึ่งชาวบ้านรู้สึกอิ่มตัวและมองเห็นว่าไม่มีรูปธรรมส่งไปถึงลูกหลานได้ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนต่อไป

ล่าสุด ปี 2561  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ จะต้องจ่ายเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7  ดังนั้น ปีงบประมาณ 2561  กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จึงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 434 ล้านบาท  และเตรียมจะมีการทำประชาคมเพื่อนำเสนอโครงการของปี 2561 ในเดือน มิ.ย.60 นี้

นายบรรพต ธีระวาส ให้สัมภาษณ์ลานนาโพสต์ และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในหลายประเด็น กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นประชาชนคนหนึ่ง อยากเห็นการพัฒนาในพื้นที่ อ.แม่เมาะ   มีความเห็นว่า  ที่ผ่านมาการใช้จ่ายเงินกองทุนตรงนี้ไม่เกิดประสิทธิผล  เข้าใจว่า ขบวนการยังมีข้อบกพร่อง  จึงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ อ.แม่เมาะ  เมื่อโครงการต่างๆไม่มีประสิทธิผลในแง่ของภาพรวม ก็ส่งผลให้คนไม่เข้าใจว่า กฟผ.มาสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นอย่างไรบ้าง และส่งผลให้ไม่เข้าใจในภารกิจว่า กฟผ.เข้ามาช่วยดูแล  ซึ่ง กฟผ.มีความตั้งใจที่จะสร้างการยอมรับและเป็นหน่วยงานสร้างความภาคภูมิใจแก่ท้องถิ่น เพราะมาสร้างความเจริญในพื้นที่ โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย รวมถึงดูแลด้านสารทุกข์สุขดิบของประชาชน  เมื่อไรที่การบริหารจัดการกองทุนไปถึงไม่ทั่วก็ส่งผลโดยตรงต่อการยอมรับกับองค์กร

นายบรรพต กล่าวว่า ย้อนมาถึงเงินกองทุนที่ กฟผ.จ่ายทุกปี มา 6 ปีแล้ว ประมาณ 2,000 ล้านบาท มีโครงการแต่ละปีมากมายหลายร้อยโครงการเกิดขึ้น ดัชนีชี้วัดว่าจะเป็นความยั่งยืนหรือเกิดความสมบูรณ์พูนสุขกับประชาชน  พบว่ายังไม่มีตัวชี้วัดเด่นชัดว่าคนใน อ.แม่เมาะ มีความสมบูรณ์ หรือยอมรับว่าหน่วยงาน กฟผ. ที่สร้างความเจริญให้กับพื้นที่แต่อย่างใด  ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการเล็กๆที่เกิดขึ้นปีละ 500 โครงการ อาจจะไปตกเฉพาะคนบางกลุ่มก็เป็นได้  คนที่ไม่เคยได้รับก็ไม่เคยได้ คนที่เคยได้รับก็จะชำนาญการและหาทางที่จะเข้ามามีส่วนเข้าถึงกองทุนจนได้   โดยส่วนตัวเมื่อมองดูแล้วเกิดความไม่สบายใจ อยากจะเห็นว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ อ.แม่เมาะได้รับ   ทำให้เกิดความเจริญขึ้น

นายบรรพตฯ เห็นว่า  ในเรื่องของโครงการต่างๆ อย่าลืมว่าเป็นเงินของรัฐ ซึ่ง สตง.สามารถเข้าตรวจสอบได้  จึงควรจะมีขบวนการตรวจสอบโครงการ โดยกำหนดให้แต่ละโครงการมีตัวชี้วัดที่เด่นชัดว่าสอดคล้องกับศาสน์พระราชาหรือไม่  ทำเสร็จแล้วยั่งยืนหรือไม่  ไม่ใช่ทำแล้วก็จบไปปีหน้ามาขอเงินกันอีก ดังนั้นควรตรวจสอบตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงจบโครงการ เพื่อนำตัวอย่างความล้มเหลวมาพัฒนาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่ใช่ว่าล้มเหลวแล้วก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆ  ซึ่งส่งผลให้ไม่เกิดความเจริญในพื้นที่เลย

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุน  นายบรรพต กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ผ่านมามีการทำโครงการเอง จ้างเอง ตรวจรับเอง ซึ่งไม่เห็นด้วย คณะกรรมการกองทุนควรกลั่นกรองโครงการและให้เทศบาล อบต.หรือเทศบาลในพื้นที่ดำเนินการ  โดยคณะกรรมการเป็นผู้ตรวจประเมิน และติดตามโครงการว่าทำได้ตามนั้นหรือไม่  จะทำให้โครงการไม่ซ้ำซ้อนกับเทศบาล และ อบต.  

นายบรรพต กล่าวทิ้งท้ายว่า  อยากจะเห็นโครงการใหญ่ที่เป็นจุดศูนย์รวมของชาวแม่เมาะ เรื่องนี้ชาวแม่เมาะจะต้องกำหนดเอง ถ้าเห็นตรงนั้นได้ก็จะดีมาก หากจุดหนึ่งที่ไม่มีเงินกองทุนเข้าไปสนับสนุนในพื้นที่แล้ว ชาวแม่เมาะก็ยังสามารถยืนด้วยตัวเองได้ วันหนึ่งโรงไฟฟ้าก็จะต้องหยุดไป เพราะฉะนั้นในพื้นที่ต้องเจริญต่อไป ไม่อยากให้หายไปกับโรงไฟฟ้า             
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1131 วันที่ 2-8 มิถุนายน 2560)             
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์