วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กองทุน มือยาว สาวได้ สาวเอา

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

ฟังคำท่านบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการฯเหมืองแม่เมาะ ที่ให้สัมภาษณ์ “ลานนาโพสต์” ว่าด้วยเรื่องเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะแล้ว ถอดรหัสออกมา ก็อาจตีความได้ถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรเงินกองทุน ซึ่งยังไม่ต้องไปไกลถึงว่ามีกรณีทุจริต คอรัปชั่นหรือไม่ก็ได้

“..โครงการเล็กๆ ที่เกิดขึ้นปีละ 500 โครงการ อาจจะไปตกเฉพาะคนบางกลุ่มก็เป็นได้ คนที่ไม่เคยได้รับก็ไม่เคยได้  คนที่เคยได้รับก็จะชำนาญการและหาทางที่จะเข้ามามีส่วนเข้าถึงกองทุนจนได้ โดยส่วนตัวแล้วมองดูเกิดความไม่สบายใจ อยากจะเห็นว่า เงินจำนวนมหาศาลที่อำเภอแม่เมาะได้รับ ทำให้เกิดความเจริญขึ้น”

ท่านผู้ช่วยบรรพต ใช้คำว่า “ชำนาญการ” ประสา “ม้าสีหมอก” แปลความเกินความหมายที่ว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน  หรือ Professional เป็นความเชี่ยวชาญพิเศษ บวกกับระบบอุปถัมภ์ ภาษาบ้านๆ เรียกว่ามีเส้นสาย  คือถ้าไม่มีเส้น คงไม่ได้อนุมัติโครงการชื่อแปลกๆ เช่น โครงการอบรมการใช้หลอดไฟฟ้า  โครงการคืนความสุขให้ประชาชน

นี่เรียกว่า คืนความสุขแข่งกับ คสช.เลยทีเดียว

จะว่าไปแล้ว ก็ใช่ว่าการใช้จ่ายเงินกองทุนไฟฟ้า จะไม่ยังประโยชน์ที่ “คุ้มค่า” กับชาวบ้านเสียทีเดียว เพราะหลายโครงการก็น่าจะมีความจำเป็น ซึ่งต้องรอศึกษารายละเอียดโครงการ และลงไปดูถึงพื้นที่ว่า โครงการใดบ้างที่จำเป็นต่อชาวบ้าน และมีความจำเป็นต่อโลกนี้

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน “ม้าสีหมอก” มีโอกาสลงพื้นที่ สำรวจความเป็นไป ในการใช้เงินกองทุน โดยเปรียบเทียบกับจำนวนเม็ดเงินที่ลงไป กับสิ่งที่ได้มา ต้องยอมรับกันว่า ความเจริญของบ้านเมืองแม่เมาะ ร้านรวง กิจการต่างๆ ก็จัดอยู่ในขั้นอำเภอชั้นนำ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเงินมหาศาลที่จ่ายไปจากกองทุน ก็น่าจะได้เห็นภาพการเติบโต ขยายตัวมากกว่านี้

มีห้องน้ำ ที่ตั้งอยู่ไกลตัวอำเภอ สร้างอย่างดีแต่ไม่เปิดใช้ มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ หญ้าขึ้นรกท่วมหัว แท็งน้ำวางเรียงรายสองฟากถนน คู่กับแท็งเก่า บางแท็งตั้งอยู่ไกลบ้านคน เช่นในโรงเรียนที่ทิ้งร้าง  นี่ก็เป็นคำถามว่า เงินกองทุนไฟฟ้า ใช้ไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่ และหากเสียหาย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือมีการสวมโครงการ คือมีโครงการเดิมของหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว แต่เสนอขึ้นมาใหม่ แล้วก็ใช้ภาพ ใช้ข้อมูลจากโครงการเดิมมาเคลมเป็นโครงการที่ขออนุมัติการใช้เงินก้อนใหม่

หรือแม้กระทั่งโครงการซื้อหมู ซื้อวัว ซื้อไก่ ขอกันมาหลายโครงการ หลายพื้นที่  แต่มีเล่นกล ถ่ายภาพหมู วัว ไก่ ประกอบการอ้างอิงว่านำเงินไปซื้อจริง แต่ก็นำภาพเดียวกันนั้น  การซื้อครั้งเดียวนั้น ไปแสดงในโครงการที่เหลือด้วย แปลว่า เงินอีก 2 โครงการล่องหนหายไปในกระเป๋าใครไม่รู้
คนจำนวนมาก คงหงุดหงิดหัวใจกับ การบริหารจัดการกองทุนนี้ ซึ่งน่าเชื่อว่าคงมีเพียงผู้ชำนาญการและพวกพ้องเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายเงินกองทุน ส่วนประเด็นรับเงินโครงการ แล้วมีเงินทอนให้กับคนบางคน หรือขนาดส่งส่วยตามน้ำขึ้นไปถึงระดับสูง ก็ต้องเจาะกันให้ถึงแก่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้อง ลุกขึ้นมาสังคายนากองทุนนี้ครั้งใหญ่เสียที
หลักกิโลยักษ์ สูง 14 เมตร กว้าง 7 เมตร ข้างในกลวงก่อด้วยอิฐฉาบด้วยปูน ตั้งเด่นตระหง่านอยู่สี่แยกภาคเหนือที่หลายๆคนเห็นนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนไฟฟ้าที่ใช้งบประมาณ 2.89 ล้านบาท ในสมัยผู้ว่าฯดิเรก ก้อนกลีบ เมื่อราวปี 2551 ซึ่งในเวลานั้นก็มีข้อกังขากันอยู่ว่าเมื่อทางหลวงต้องขยายถนนหลักกิโลเมตรจะต้องถูกทุบ จนมาวันนี้แขวงทางหลวงลำปางที่1 ต้องขยายถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ต้องทุบสิ่งปลูกสร้างนี้ทิ้งโดยที่แขวงทางหลวงลำปางที่1 หนังสือยืนยันว่าในสมัยนั้นแขวงทางหลวงฯไม่อนุญาตให้สร้าง แต่ก็สุดท้ายหลักกิโลก็ตระหง่านสี่แยกใหญ่ ตอกย้ำความผิดปกติของการใช้เงินอย่างชัดเจน

สำคัญคือ น่าจะถึงเวลาที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) จะต้องเข้ามาชำระบัญชีเงินกองทุนไฟฟ้า ตรวจกันชนิดละเอียดยิบ จนถึงเศษสตางค์ บางทีเราอาจตกใจที่ได้เห็นว่า เงินหลายร้อยล้านที่ละลายไปในโครงการต่างๆนั้น อาจจะยังมีเงินสดในกระเป๋า หรือมีตัวเลขในบัญชีส่วนตัวของใครบางคน ของเครือญาติ คนใกล้ชิด  นับร้อยล้านเหมือนกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1132 วันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์