ในห้วงเวลาการเติบโตของธุรกิจกาแฟทั่วโลกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ตามปกติแล้วธุรกิจกาแฟที่ไหนๆก็ดูเหมือนจะกระจายไปทั่ว สังเกตจากร้านกาแฟน้อยใหญ่
ทุกสไตล์แทรกตัวอยู่ตามชุมชุมและในเมืองใหญ่ ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ตื่นตัวกับการรวมพลังผลักดันโครงการ"เชียงใหม่เมืองกาแฟ"
โดยเชื่อมโยงให้มีธุรกิจกาแฟ 3 ส่วนคือ ตั้งแต่ต้นน้ำคือพื้นที่ปลูก
กลางน้ำหมายถึงการแปรรูปและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟ
ไปจนจนถึงธุรกิจร้านกาแฟซึ่งเป็นปลายน้ำซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักชิมกาแฟ
และคนที่มีจริตนิยมดื่มกาแฟในยามว่าง หรือแม้กระทั่งคอกาแฟที่คลั่งไคล้การชิมกาแฟ "ต้องมา"
สุกิจ ชัยเมืองเลน นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการ
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เผยว่า ก่อนจะเป็นโครงการโครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟ
ก็มีการหารือและผลักดันและเตรียมความพร้อมร่วมกันหลายฝ่าย
โดยก่อนหน้านี้ได้ผลักดันให้ เชียงรายเป็นเมืองชา
จากนั้นก็มาผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟ
ซึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว และมีธุรกิจร้านกาแฟจำนวนมาก
การตื่นตัวและการรวมพลังจึงมีสูง ดังนั้น
การดันเชียงใหม่เมืองกาแฟ จะถือว่าเป็นโมเดลขนาดใหญ่ ที่สร้างฐานความรู้ ทั้ง 3 ส่วน
ให้มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถส่งต่อ หรือกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆได้ ขณะเดียวกัน
จังหวัดใกล้เคียงก็ได้ประโยชน์จากโมเดลนี้ ทั้งเรื่องการเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบ
การแรรูปและ โมเดลของธุรกิจร้านกาแฟที่มีมาตรฐาน มีหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องของการคัดเมล็ดกาแฟที่ได้จากการเก็บเกี่ยว
รวมไปถึงหลักสูตรการคั่วกาแฟ และอาชีพบาริสต้า ผู้ชงกาแฟที่มีทักษะตามมาตรฐานสากล
อ้อน-อโรชา ผิวงาม และ คมสัน
จันทร์งาม เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านป่าเหมี้ยง
อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ที่เข้ามาสู่การเรียนรู้ในโครงการนี้บอกว่า
หลังจากพัฒนาตัวเองจาก เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่บ้านป่าเหมี้ยง มาแปรรูปคั่วกาแฟ
และกำลังศึกษาการทำธุรกิจร้านกาแฟ เพื่อเดินไปสู่การสร้างธุรกิจกาแฟแบบครบวงจรที่ตั้งอยู่ในชุมชนของตนเองเพราะนอกจากจะเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรแล้วยัง
มีโอกาสรายได้จากการท่องเที่ยวในอนาคต
แน่นอนว่าปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกกาแฟมากมาย
แต่ละแห่งก็มีลักษณะเฉพาะ หรือจุดขายที่แตกต่างกันออกไป ในฐานนะที่เราเป็นลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ
เรามองว่าโอกาสในธุรกิจกาแฟยังมีอีกมาก แต่ต้องศึกษาและพัฒนาตัวเองอีกค่อนข้างมาก
หากจะก้าวขึ้นไปจากความเป็นเกษตรกรที่แค่ผู้ขายเมล็ดกาแฟดิบ เรียนรู้การคั่วกาแฟในรูปของกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันทำโรงคั่วในชุมชน
แต่การคั่วกาแฟก็มีรายละเอียดที่ต้องเรียนรู้มากมาย มากไปกว่านั้นการจะทำร้านกาแฟ
ที่เป็นเหมือนประตูนำผลผลิตไปถึงผู้บริโภคด้วยตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
ระยะทางของการเรียนรู้ยังอีกยาวไกล
หากจะทำให้กาแฟจากบ้านป่าเหมี้ยงเป็นที่รู้จักและเอ่ยถึง
บ้านป่าเหมี้ยง
เองก็มีจุดเด่นและมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว คนทั่วไปเริ่มรู้จักว่าบ้านป่าเหมี้ยงเป็นดินแดนที่จะขึ้นไปชมดอกเสี้ยวบานในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
มีโฮมสเตย์รับนักท่องเที่ยวตลอดปี แต่มีน้อยคนมากที่จะรู้จักว่าบ้านป่าเหมี้ยงเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีด้วยเช่นกัน
เพราะที่นั่นมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดปี
ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มพัฒนาในการทำโรงคั่วกาแฟของชุมชนร่วมกัน
ส่วนเราเองก็สนใจเพิ่มเติมในการทำธุรกิจร้านกาแฟ การมาเรียนรู้หลักสูตรบาริสต้า
และหลักสูตรการคั่วกาแฟ ร่วมกับโครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟ ก็ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสในการยกระดับให้เราก้าวไปแตะ
คำว่า "ธุรกิจกาแฟ" เต็มรูปแบบ
"
อ้อนสนใจทำร้านกาแฟของตัวเองที่บ้าน เพราะทำเลที่บ้านอ้อน
สามาถมองเห็นวิวของหมู่บ้านป่าเหมี้ยงที่อยู่กลางหุบเขา
หากเรานึกภาพนักท่องเที่ยวมานั่งจิบกาแฟที่นี่ ซึ่งเป็นกาแฟที่ปลูกในหมู่บ้าน
แปรรูปในชุมชนของเรา และจิบกาแฟในบรรยากาศในพื้นที่ปลูก
มันจะมีความหมายในอีกมิติหนึ่ง หลายคนเคยถามว่า ทำไมไม่เอากาแฟมาตั้งร้านในเมือง
แต่อ้อนมองว่าเราอยากอยู่บ้านเกิดและชวนให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสกับวิชีชุมชนของเรา ซึ่งต่างจากการนั่งจิบกาแฟในร้านกาแฟในตัวเมือง
หากเราทำได้ตามที่ตั้งใจได้จริง และหาช่องทางสื่อออกไปให้คนข้างนอกรู้
และอยากดื่มกาแฟในพื้นที่จะเกิดผลพลอยได้ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชน อีกมากมาย
เกษตรกรในชุมชนก็จะพัฒนาตัวเองให้มีรายได้มากขึ้นในวิถีชีวิตเดิม " อ้อนกล่าว
นี่เป็นอีกหนึ่งในมิติเล็กๆที่เรียงร้อยอยู่ในกลไกลของโครงการขนาดใหญ่
ความสวยงามของฝันเล็กๆ
ยังเป็นพลังของขบวนการฝันใหญ่ได้ไม่น้อย เพราะคำว่าเชียงใหม่เมืองกาแฟ
อาจจะเป็นฐานของการสร้างองค์ความรู้ให้กับ
กาแฟชุมชนบ้านป่าเหมี้ยงให้เติบโตอย่างมีอัตลักษณ์ได้เช่นกัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1132 วันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น