ในขณะที่มีความพยายามจะออกกฎหมายมาคุมสื่อ โดยคาดหวังว่า สื่อจะถูกกำกับโดยกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ในความเป็นจริงสื่อมวลชน มีกฎหมายกำกับการทำงานอยู่แล้วนับสิบฉบับ ซึ่งผู้ที่ถูกสื่อละเมิด หรือเสียหายเดือดร้อนจากการนำเสนอข่าวของสื่อก็ใช้สิทธิตามกฏหมายนี้กันอยู่แล้วเป็นปกติ
ตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมาย
ย่อมรู้ดีว่า ในบรรดาสำนวนคดีที่กองอยู่เต็มโต๊ะพนักงานสอบสวน
มีคดีที่ประชาชนแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีสื่ออยู่จำนวนไม่น้อย
ทั้งคดีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา และคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ซึ่งการทำคดีประเภทนี้ หลักการสำคัญ ควรให้คู่กรณีได้มีการพูดจากัน
หรือหาข้อยุติเสียในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ตำรวจส่วนใหญ่ไม่ทำ
ในทางตรงกันข้าม
ในหลายคดีตำรวจก็ทำคดี เสมือนหนึ่งว่าเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรง หรือมีความพยายามมากเกินไปในการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา
คล้ายจะมีคำขอพิเศษมาจากผู้มีอำนาจหรือคู่กรณี เช่น กรณีการจับกุมตัวคุณยุทธิยง
ลิ้มเลิศวาที พิธีกรผู้ดำเนินรายการ “สภากาแฟ” ทางช่อง NEWS1 ในเวลาค่ำคืน
นอกจากกรณีคุณยุทธิยง
ลิ้มเลิศวาทีแล้ว ยังมีคนบางกลุ่ม
ที่ใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต เพื่อข่มขู่ให้หวาดกลัว ให้ยุติการทำหน้าที่รายงานข่าว
วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นปกติของสื่อมวลชน นับเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนเรื่องหนึ่ง
เช่น
กรณีบริษัทเมียนมาร์พลพิพัทธ์ บริษัทคนไทย จดทะเบียนในพม่า
ดำเนินกิจการเหมืองแร่ดีบุกในพม่า ฟ้องคุณปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ผู้สื่อข่าว The Nation ฐานหมิ่นประมาท และฐานความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากบทความ
ที่มีเนื้อหาพูดถึงการปล่อยหางแร่ออกจากเหมืองดีบุก ไหลสู่แม่น้ำสายหลัก
สำหรับการบริโภคของชาวบ้านที่หมู่บ้านเมืองเพียว เขตตะนาวศรี
บทความเรื่อง “เหมืองแร่ไทยทำลายทรัพยากรน้ำในเมียนมา”
ของปรัชญ์ รุจิวนารมย์ เป็นเหตุผลหลักที่บริษัทเมียนมาร์พลพิพัทธ์ฟ้องเขา
โดยอ้างว่า มีเนื้อหาบิดเบือน ให้ร้ายบริษัท ทำให้ได้รับความเสียหาย
จนอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบการเหมืองแร่ดีบุกในพม่า
ทั้งกรณีของคุณยุทธิยง
ลิ้มเลิศวาที ซึ่งถูกแจ้งความดำเนินคดี 2 ข้อหา
ซึ่งตำรวจก็รับแจ้งทั้ง 2 ข้อหา
โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันพึงกระทำในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง
จากการถาม – ตอบระหว่างคุณยุทธิยง กับผู้ร่วมรายการ ในตอนที่ว่าด้วย
“เรือนจำ..อาหารของผู้มีกรรม คนบาปชิงแย่งกิน” ทั้งกรณีคุณปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ที่เขียนบทความ
เพื่อปกป้องภัยอันตรายของชาวบ้านจากสารพิษของเหมืองแร่ดีบุกของบริษัทเมียนมาร์ฯ
เป็นความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมาย ซึ่งนำมาสู่การตั้งวงเสวนาหาทางออก
ดำเนินรายการโดย “จอกอ” เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ที่กรุงเทพฯ
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
คุณยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง จากสภาทนายความ
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ปฏิรูประบบตำรวจ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคุณณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ภายใต้ประเด็น
“ความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อ” ทุกคนเห็นตรงกันว่า
กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นมีปัญหาที่ต้องทบทวนและแก้ไขเร่งด่วน
โดยเฉพาะในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน
ที่เป็นต้นทางของคดี จำเป็นต้องปฏิรูป โดยอาจต้องแยกอำนาจการสอบสวนออกจากตำรวจ
เช่นที่เคยมีการนำเสนอความเห็นมาก่อนหน้านี้
เรื่องบทบาทของสื่อมวลชน
ในการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะนั้น ไม่ว่าด้วยการเขียนบทความ หรือการทำหน้าที่พิธีกร
ตั้งคำถามผู้ร่วมรายการ
น่าจะอยู่ในแนวคำวินิจฉัยของศาลอาญาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีระหว่างบริษัทโรงไฟฟ้าบางคล้า
จังหวัดฉะเชิงเทรา และคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ในรายการ “คม ชัด ลึก”ในช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมา
“...การตั้งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่
ความไม่โปร่งใสในการประมูล เป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน”
คำพิพากษายกฟ้องชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
คดีคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร คดีนี้ แม้จะยังไม่ใช่คำพิพากษาศาลฏีกา
ซึ่งปกติสามารถใช้อ้างเป็นบรรทัดฐานได้ แต่ก็เป็นแนวทางที่คนปกติทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า
สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เช่นนี้
ไม่ควรต้องรับผิด ตรงกันข้ามกลับควรได้รับความชื่นชมในบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
และประชาชนของพวกเขาด้วยซ้ำ
ปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายครั้งนี้
ทำให้เห็นเหตุผลความจำเป็น ในการปฏิรูปตำรวจชัดเจนมากยิ่งขึ้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1131 วันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น