วิพากษ์กองทุนไฟฟ้า
โปร่งใสไม่จริง ยื่นขอตรวจสอบโครงการร่วม 2 เดือน แต่ไม่ได้รับคำตอบ ชาวบ้านยังสงสัยเรื่องเดิม เงินมหาศาลแต่บ้านเมืองย่ำอยู่กับที่
แหล่งข่าวเผยมีทั้งสวมโครงการ อมเงินผู้รับเหมา รู้ทั้งรู้แต่ยังทำ
จากที่ลานนาโพสต์ได้นำเสนอข่าว
การติดตามการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2555-2560 รวม
6 ปี พบว่ามีการอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 3,800 โครงการ เป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท
โดยเงินงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งนำไปใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค
รองลงมาคือการใช้จ่ายในการซื้อสัตว์เลี้ยง เช่น
วัว หมู ไก่ กบ เป็นต้น
และจากการลงพื้นที่สำรวจในหลายหมู่บ้าน
พบว่าสิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่ใช้เงินงบประมาณของกองทุน
ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
ได้กล่าวย้ำว่า การใช้จ่ายเงินกองทุนเป็นความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง
โปร่งใสและตรวจสอบได้
ทั้งนี้
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.60 ที่ผ่านมา ลานนาโพสต์ได้ยื่นหนังสือถึง
ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน กกพ.ประจำเขต 1
(เชียงใหม่)เพื่อขอทราบผลการดำเนินงานโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
ที่ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยอาศัยอำนาจตาม
พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540
รวม 15 โครงการ
เช่น โครงการจัดการศึกษาโดยใช้ google apps for Education ปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 3 แสนบาท
โครงการอบรมการใช้หลอดไฟฟ้า LED บ้านห้วยคิง หมู่
6 ปีงบประมาณ 2559 วงเงิน
3 แสนบาท โครงการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า อำเภอแม่เมาะ ปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 11.2
ล้านบาท โครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ปีงบประมาณ
2560 วงเงิน 1 ล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งยังไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด
จากการสอบถามไปยัง สำนักงาน กกพ.ประจำเขต 1 (เชียงใหม่)
ได้แจ้งว่า ส่งเรื่องไปยัง กกพ.ส่วนกลางแล้ว เรื่องยังอยู่ที่ฝ่ายกฎหมาย
อยู่ระหว่างรอการตอบกลับ ซึ่งทางสำนักงาน กกพ.ประจำเขต และสำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไม่มีอำนาจในการส่งมอบเอกสารเองได้
แม้ว่าเอกสารโครงการต่างๆ จะอยู่ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ อ.แม่เมาะก็ตาม
เนื่องจากเห็นว่าล่วงเลยเวลามากว่า 2 เดือนแล้ว ล่าสุด ลานนาโพสต์ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
กรณีที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เพิกเฉยไม่เปิดเผยข้อมูลของทางราชการที่ลานนาโพสต์ได้ยื่นเรื่องขอสำเนาเอกสารไป และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องกลับมาแต่อย่างใด จึงใช้สิทธิอุทธรณ์
ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้สำนักงาน
กกพ.เปิดเผยเอกสารโครงการตามที่ลานนาโพสต์ได้ยื่นขอสำเนาเอกสารโครงการต่อไป
นอกจากนี้เรื่องการบริหารงานและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางเฟสบุ๊กของลานนาโพสต์
ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องเดิมที่ว่า คนพื้นที่เห็นจำนวนงบประมานแล้วน่าจะเจริญกว่านี้ นายนพดล แสดงความคิดเห็นว่า ทางหมู่บ้านเมาะหลวง
หมู่ 8 ได้ยื่นเรื่องขอตรวจสอบการใช้จ่ายงบกองทุนที่เกิดขึ้นในหมู่ 8 ประมาณ 10 กว่าเรื่อง ผ่านมาเกือบ 2 เดือน ก็ยังไมได้คำตอบ
ด้านนายชัช
กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านถูกปิดหูปิดตา
แทบจะเข้าไม่ถึงหรือรู้ข้อมูล และที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่แทบไม่ได้ร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับงบใหญ่ต่างๆ
กลุ่มที่คอยหาผลประโยชน์ในกองทุนฯจะคอยปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากนัก
คนกลุ่มนี้เอาผลประโยชน์เข้าตัวเองได้สบายๆ คนเเม่เมาะ
ต้องช่วยกันออกมารวมกันเรียกร้องก็เพื่อคนแม่เมาะเอง ขณะเดียวกันได้มีการยื่นขอตรวจสอบโครงการปี 58-60
ไปยังสำนักงานกองทุนฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าต้องกรอกเอกสารส่งไปที่
กกพ.ตามขั้นตอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและขอข้อมูลได้ยากมาก
แหล่งข่าว
เปิดเผยว่า การใช้จ่ายเงินกองทุนมีความซับซ้อนมาก ผู้รับเหมาเองก็โดนหักหัวคิวจากงบ
3 แสนเหลือเพียง 1 แสนบาท
จึงต้องลดสเปคงานลงทำให้งานไม่มีคุณภาพ เมื่อทราบว่าจะมี สตง.เข้ามาตรวจสอบ
บรรดากรรมการตรวจงานก็วิ่งเต้นมาขอหินคลุกจาก
กฟผ.เข้าไปดำเนินการให้ได้ตามสเปคที่กำหนดไว้
ถ้าได้ก็โชคดีไปแต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น
นอกจากนั้นยังมีการสวมโครงการ
เช่น มีงบประมาณจากที่อื่นตั้งไว้อยู่แล้ว
และได้มีการเสนอโครงการเดียวกันโดยใช้งบประมาณของกองทุน
มีการถ่ายภาพผลงานที่เสร็จแล้วไปเบิกจ่าย
และได้เงินเข้ากระเป๋าไปโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งมีหลายโครงการที่ทำในลักษณะนี้
แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลของกองทุนฯ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1143 วันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น