นานมาแล้ว เราเคยลัดเลาะไปบนถนนเส้นเล็ก ๆ
ด้านหลังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร บ่ายแก่ ๆ
วันนั้นควาญช้างสองสามคนพาช้างของตนมุ่งหน้ามายังสระน้ำกลางป่า
เราจูงมือลูกสาวลงจากรถ แอบมองพวกเขาจากที่ไกล ๆ ควาญช้างเห็นเด็กน้อยด้อม ๆ มอง ๆ
ช้างก็กวักมือเรียกให้เข้าไปใกล้ ๆ ช้างลงอาบน้ำสบายใจ
ส่วนเราหลบยืนหลังพุ่มไม้มองช้างอาบน้ำอย่างเป็นสุข
มันเป็นภาพที่เป็นธรรมชาติเหลือเกินและยังตราตรึงอยู่ในใจเราสองคนแม่ลูกเสมอ
แม้จะเคยพาเพื่อน ๆ หรือแขกของครอบครัวไปเที่ยวศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยหลายครั้ง
ซึ่งแน่ละ ใคร ๆ ก็อยากไปที่นั่นเมื่อมาลำปาง
แต่ไม่เคยมีครั้งไหนอยู่ในความทรงจำเหมือนการได้บังเอิญเจอช้างในวันนั้น
การท่องเที่ยวชมช้างกำลังเป็นที่กล่าวถึง
นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มตระหนักถึงสวัสดิภาพของช้างมากขึ้น และกำลังตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการดูแลช้างในแหล่งท่องเที่ยวประเภทปางช้างของหลายประเทศในเอเชีย
เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสารหนีกรุง ไปปรุงฝัน
นำเสนอเรื่องราวของศูนย์บริบาลช้างบุญรอด (Boon Lott’ s Elephant
Sanctuary-BLES) อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีที่ปรึกษาอย่างองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและองค์กรช่วยเหลือช้างสากล
ที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์มากที่สุด
Katherine Connor คือหญิงสาวชาวอังกฤษผู้จากบ้านเกิดเมืองนอนมาบุกเบิกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับช้าง
โดยจัดตั้งศูนย์บริบาลช้างบุญรอดขึ้นบนพื้นฐานแห่งความรักช้างที่เธอมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ศูนย์บริบาลช้างบุญรอดมีพื้นที่ 1,900
ไร่ ดูแลช้างแก่ที่ถูกจำกัดเสรีภาพมาแทบตลอดชีวิต ช้างที่ถูกทารุณ
หรือทอดทิ้ง รวม 14 ตัว ทั้งนี้
ช้างจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพธรรมชาติ
และได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์สูงสุด จึงไม่แปลกหากที่นี่จะไม่มีภาพช้างนักแสดงอย่างที่นักท่องเที่ยวทั่วไปคุ้นชิน
ศูนย์บริบาลช้างบุญรอดกลายเป็นที่พักพิงช้างแห่งแรกในประเทศไทยที่ไม่มีการล่ามโซ่
ไม่มีการบังคับขู่เข็ญทุกรูปแบบ ไม่มีการขี่ช้าง ไม่มีการแสดงของช้าง ที่สำคัญและเราคาดไม่ถึงก็คือ
มีการจำกัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้าง ด้วยเหตุผลเพื่อให้ช้างได้มีชีวิตตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์
(เจ๋งอะ)
ณ ที่แห่งนี้ ช้างมีพื้นที่พักพิงเวลากลางคืน 4-5
ไร่ จำนวน 3 พื้นที่
และพื้นที่ปิดพักพิงเวลากลางวันขนาด 2.53 ไร่ จำนวน 1
พื้นที่ โดยเป็นรั้วไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และในทุกพื้นที่ยังมีร่มเงาและบ่อน้ำอย่างเพียงพอ
ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของช้าง
วันที่ 10-11 สิงหาคมนี้
มีการประชุมช้างแห่งชาติ 2560 ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ
ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง ภายใต้แนวคิดหลัก “ช้างไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน (Thai
Elephant : Changes) ประกอบไปด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น
ช้างป่า-ช้างบ้าน มิติที่เหมือน หรือแตกต่าง ช้างดุ เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วม
เราจะดูแลช้างชราได้อย่างไร รวมถึงหัวข้อที่น่าสนใจ คือ
ทิศทางสวัสดิภาพช้างและมาตรฐานปางช้าง ซึ่งเราได้แต่หวังว่า
คงมีคนพูดถึงประเด็นนี้บ้าง เพื่อรูปแบบในการเที่ยวชมช้างจะได้พลิกโฉมไปสู่การท่องเที่ยวแนวคิดใหม่
นั่นคือการชื่นชมพวกเขาในแบบที่พวกเขาเป็น เพราะเราต่างตระหนักแล้วว่า
ทุกชีวิตควรได้รับความเคารพในเสรีภาพอย่างเท่าเทียม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1141 วันที่ 11 - 17 หสิงหาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น