เมื่อใครๆก็พูดถึงประชารัฐ
และไทยแลนด์ 4.0 เรื่องของการส่งเสริมธุรกิจระดับชุมชน ผนวกกันการตลาดยุคดิจิตอล
การตลาดช่องทางประชารัฐก็ ดูเหมือนจะ ถูกรวบคลุกเคล้า ยำยำ กันไปเป็นเหมือน
อาหารจานด่วนที่บ่งบอกรสชาติที่ชัดเจนไม่ได้ว่าเป็นเมนูอะไร
เรื่องของตลาดประชารัฐ
ในลำปางก็กลายเป็นเรื่องที่รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องกันบ้าง ว่ามันมีตลาดอะไร
ที่ไหน อย่างไร เหมือนจะมีหลายตลาดแต่อาจจะขาดการสื่อสารในทางเดียวกัน
หรือร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันแบบพวงมาลัย
ตลาดต้องชม ก็ถูกยกระดับขึ้นมาจากตลาดนัดถนนคนเดินวัฒนธรรม
ที่หน่วยงานประชารัฐ และหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายใน ต่างร่วมมือกับภาคเอกชนลำปาง
จัดตั้งและผลักดันกันขึ้นมาเป็นผลงาน ประดับโครงการัฐบาล “ลุงตู่” และประดับโปรไฟล์
ผู้บริหารราชการระดับท้องถิ่น(จังหวัดลำปาง) เช่นเดียวกับที่ทุกจังหวัด
จัดตั้งขึ้น ลักษณะเดียวกัน
ในสโลแกนสวยงามว่า
ตลาดต้องชม ยกระดับเสริมช่องทางสร้างรายได้แก่ประชาชนรากหญ้า ลำปางได้หยิบเอา
ตลาดท้องถิ่นของลำปาง ขึ้นมาเป็นกรณี “ยกระดับ” คือ กาดประตูผา ถนนสายลำปาง-งาว กาดทุ่งเกวียน
และ ถนนสายวัฒนธรรม ท่ามะโอให้เป็น เป็นตลาดต้องชม
ในการจัดตั้งตลาดต้องชม
ดูเหมือนจะมีกิจกรรมมากมายเข้าไปเชื่อมโยง ลักษณะการแอ่วแบบงานอีเว้น แต่เบื้องหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนตามใบงานอีเว้นนั้นจบลง
การค้าในตลาดก็ยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังตลาดก็คล้ายว่าจะไม่มีอะไรชี้วัดว่าเพิ่มขึ้นจากเดิม
มีแต่แม่ค้าเพิ่ม แต่คนซื้อไม่เพิ่มตาม จะมีความหมายใหม่ว่าอะไรก็ไม่สำคัญ
ขณะที่ “กาดเวียงเหนือ”ที่ถนนสายวัฒนธรรม เช้าวันเสาร์
เป็นกาดใหม่ ที่วัดใจและฝีมือคณะทำงานกันพอสมควร เพราะระยะแรกก็ดูจะคึกคัก
แต่พักหลังๆ แม่ค้าก็แอบบ่นละเหี่ยใจว่า ไม่มีผู้ซื้อน้อย ผู้ขายก็เริ่มท้อ
หากไม่มีกลยุทธ์ใดที่เกื้อหนุน ก็น่ากลัวว่าแม่ค้าจัดตั้ง และแม่ค้าตัวจริงก็อาจจะต้องล้มพับไปในระยะเวลาอันใกล้นี้
ทั้งที่ถ้าตั้งใจทำเพื่อให้เป็นกาดเช้าจริงๆก็น่าจะดีต่อลำปางไม่น้อย
ปัญหาหนึ่งของการตลาด
อาจจะมาจากการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอต่อการทุ่มเทจริงจัง
พลังของการสร้างตลาดที่เข้มแข็ง คือ สายป่านของผู้บริโภคที่เข้าไปจับจ่ายไม่ขาดสาย
และทวีความคึกคัก นี่คือความยากของการทำตลาด
ดูตัวอย่างของการไต่ระดับการทำตลาดของอีกกลุ่มที่น่าสนใจ
คือ วีมาร์เก็ต ตลาดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ นำสินค้าโฮมเมด และ
สินค้าที่ผลิตต่อยอดจากการผลิตของแม่ค้ามือใหม่ ที่พัฒนาตัวเองมาจากเกษตรกร
หรือคนที่สนใจขายสินค้าคุณภาพ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ
แต่ก็น่าสนใจ
บทเรียนที่น่าในใจของกาดจัดตั้ง
ที่หน่วยงานหนุนหลังต้องให้ความสำคัญ ใส่ใจ คือการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างสายป่านของกาดค้าขายให้ยืนยาว
กันจะดีไหม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1146 วันที่ 15 - 21 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น