วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

รู้ทันสื่อ รู้ทันข่าว รู้วิธีอ่านข่าว

จำนวนผู้เข้าชม Home Remedies For Wrinkles

างเรื่องในชีวิต เราอาจคาดไม่ถึงว่า ความสามารถในการอ่านภาษาไทยของคน ไม่ถึงขนาดต้องแตกฉาน เอาเพียงเข้าใจเรื่องง่ายๆ ภาษาง่ายๆ โครงสร้างการเขียนง่ายๆ ก็ตีความกันไปไกลสุดกู่ จับแพะชนแกะ จนหาเค้าเรื่องเดิมไม่ได้

การสื่อสารในสังคมไทย จึงอาจเรียกได้ว่ามีปัญหาอยู่บ้างในบางสถานการณ์ ในบางสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดของผู้คน หากเราสมมติเอา (ย้ำว่านี่คือการสมมติ) เรื่องการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในขั้นตอนการทบทวนร่างรายงาน EHIA หรือ ค.3 หรือปัญหาธรรมาภิบาลของกองทุนไฟฟ้า  เป็นสถานการณ์จำลอง

เราก็อาจจะเห็นความเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มที่จับสองเรื่องนี้มาปนกัน ทั้งที่เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น

หรือถ้าเราอ่านหนังสือพิมพ์ โดยไม่เข้าใจโครงสร้าง วิธีการเขียนข่าวของเขา เราก็อาจทึกทัก และสร้างอุปาทานหมู่ที่ตอบสนองความพึงพอใจ หรือความเชื่อชนิดฝังใจของตัวเอง นี่ย่อมเรียกว่าเป็นคุณภาพการอ่านหนังสือของคนไทย ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ

อาจจำเป็นจะต้องให้การศึกษา เรื่อง Media Literacy หรือการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าใจวิธีการทำงานของสื่อ วิธีการทำงานของ นสพ. การบริหารจัดการ ซึ่งหากได้ใช้ความใส่ใจ ต่อไปข้างหน้าก็อาจจะอ่านหนังสือรู้เรื่องมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ข่าวสัมภาษณ์คุณบรรพต  ธีระวาส ผู้บริหารเหมืองแม่เมาะ ที่ถูกตัดต่อ ตีความ ขีดเส้นใต้ และสร้างกระแสความเข้าใจผิดด้วยการนำไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊คกลุ่ม Lampang City เพียงชั่วครู่ชั่วคราวเพื่อแคปภาพและส่งต่อในสื่อออนไลน์ คล้ายจะเจตนาเพื่อสร้างความเกลียดชังซึ่งเป็นวิธีการที่น่ารังเกียจ เพียงเพราะเข้าใจและสำคัญตัวผิด

การสัมภาษณ์คุณบรรพต ธีระวาส  ครั้งนั้นเป็นการแสดงความเห็น และความห่วงใยในการบริหารจัดการกองทุนที่เคยเป็นข่าวตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้ ประเด็นใหม่คือการเสนอให้ผู้ว่าราชการคนใหม่ ซึ่งจะมีอายุการทำงานอีกราว 2 ปีข้างหน้า ได้ทบทวนวิธี การบริหารเงินกองทุนไฟฟ้า ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดิน  เป็นประโยชน์สาธารณะ ที่ต้องมีการบริหารที่มีธรรมาภิบาล มีความชัดเจน และโปร่งใส ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลใด โดยเฉพาะเจาะจง

สรุปก็คือคำให้สัมภาษณ์ของคุณบรรพต ธีระวาส เป็นการขยายความจากบทสัมภาษณ์เดิม ที่เคยตีพิมพ์มาแล้ว ประเด็นที่เพิ่มขึ้น ในการสัมภาษณ์ครั้งใหม่ คือตัวบุคคลที่จะเสนอให้พิจารณาเรื่องกองทุน ซึ่งใช้ชื่อตำแหน่งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด อันถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะประธานกองทุน และมีฐานะเป็น “บุคคลสาธารณะ เป็นการกล่าวถึงบุคคลในตำแหน่งที่ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ชื่อบุคคลใด ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลใด

คำให้สัมภาษณ์ของคุณบรรพต  ธีระวาส เริ่มจากวรรคที่ 3 เริ่มจากชื่อแหล่งข่าวคือคุณบรรพต ธีระวาส ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่า เนื้อหาข่าว (Body) ซึ่งไม่มีตรงไหนที่พาดพิงถึงบุคคลที่สาม

ส่วนย่อหน้าแรก หรือวรรคนำ (lead) และวรรคที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเข้าใจสับสน คลาดเคลื่อนและทึกทักกันว่าเป็นคำพูดของคุณบรรพต ธีระวาสนั้น  เขาเรียกว่า เป็นส่วนเชื่อม  (Neck) ซึ่งเป็นการทบทวนเนื้อหาเดิมของข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้โดยกองบรรณาธิการ  เพื่อความเข้าใจของคนอ่านที่ไม่ได้ติดตามข่าวต่อเนื่อง และเป็นวิธีการเขียนข่าวโดยปกติในกรณีการเสนอข่าวหลายครั้ง  เช่น ข่าวทุจริตจำนำข้าว ข่าวการตรวจสอบเงินทอนวัด หรือกระทั่งข่าว ค.3 ซึ่งเป็นข่าวที่มีความต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการแสดงข้อความถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ใด ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตุต่อตำแหน่งหน้าที่ของ บุคคลสาธารณะ ที่สื่อมวลชนในฐานะเป็นกระจกสะท้อนสังคม ย่อมจะต้องพูดถึงได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ และหากจะโต้แย้งอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ที่สำคัญว่าเป็นตนเองอยู่แล้ว

คุณบรรพต  ธีระวาส “ไม่ได้” เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ในข้อความที่เรียกว่า เป็นส่วนเชื่อม และทำให้เกิดความสับสน เข้าใจผิดนี้แต่อย่างใด

หน้าที่ของส่วนเชื่อม หรือ Neck or Bridge เป็นส่วนต่อระหว่างความนำกับเนื้อข่าว อาจเป็นข้อความไม่กี่ประโยค หรืออาจเป็นย่อหน้า เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์สู่เนื้อข่าว เป็นการสื่อสารให้คนอ่านเข้าใจเรื่องราวที่ผ่านมา ให้ภูมิหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเขียนข่าวโดยปกติ และแหล่งข่าว ผู้อ่านโดยทั่วไป เข้าใจและแยกแยะได้

“จอกอ” ทำข่าวมานาน สัมภาษณ์คนมานับไม่ถ้วน ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่อยู่ในอาชีพนี้ คนให้สัมภาษณ์ก็มีหลากหลายตั้งแต่ชาวบ้านยันนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ได้สัมผัส คนอ่านที่หลากหลายเช่นเดียวกัน

ระดับการรับรู้ของคนแตกต่างกัน บางคนอ่านเข้าใจทันที บางคนอ่านหลายรอบกว่าจะเข้าใจ และอีกบางคนเข้าใจแล้ว แต่ไม่เข้าใจ แต่หน้าที่ของสื่อคือต้องไม่เหน็ดเหนื่อย ย่อท้อ ต่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนอ่าน หากครั้งนี้ยังไม่สามารถรู้วิธีอ่านข่าวอีก จะนานแค่ไหนก็ยินดีอธิบายซ้ำๆจนกว่าจะเข้าใจ

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1148 วันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์