วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

‘อ้วน อัครรินทร์’บนเส้นศิลป์ อนุรักษ์การสร้างรถม้าลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม Home Remedies For Wrinkles

มันไม่ใช่เรื่องง่ายสร้างรถม้าดีๆขึ้นมาสักคัน ...เพียงเพราะมันไม่ใช่แค่ยานพาหนะที่สร้างในระบบอุตสาหกรรม แต่มันถูกสร้างขึ้นจากจิตวิญญาณทุกชิ้นส่วน

คำอธิบายเกี่ยวกับรถม้า หากจะหาได้ในสื่อดิจิทัลทั่วไปคงหาอ่านได้ไม่ยาก แต่ก้นบึ้งจากแนวคิดรากเหง้าของคนที่อยู่กับรถม้านั้นมีไม่กี่คนในประเทศไทยที่จะบอกเล่าเรื่องราวออกมาจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่เป็นชีวิตจิตใจ เช่นเดียวกับ “ลุงอ้วน” อัครินทร์  พิชญกุล  ผู้ก่อตั้งสมาคมรถม้าลำปาง และชาวสมาชิกผู้ให้บริการรถม้าท่องเที่ยวลำปาง ยังคงยกให้ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 20 ปี รวมแล้ว 11 สมัย 

ที่ตั้งของสมาคมรถม้าแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลและงานภาคสนามที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและประกอบรถม้าครบวงจรที่เน้นงานศิลปะสร้างสรรค์ และการอนุรักษ์การผลิตรถม้าแบบดั้งเดิมแห่งเดียวในลำปาง หรืออาจจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้

“หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์รถม้าในลำปาง ก็จะพบข้อมูลว่า รถม้าลำปางมากับยุคที่มีรถไฟมาถึงลำปางปี 2459  แต่ก็พบข้อมูลที่ชัดเจนว่า รถม้านั้นมากับชาวอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานไม้ เมืองงาว ในสมัยรัชการที่ 4 แล้ว ดังนั้นต้นแบบแรกของรถม้าที่ใช้ต่างม้าเพื่อการสัญจร จึงมีต้นแบบจากอังกฤษ  ซึ่งมีความสวยงาม คงทนและมีอายุการใช้งานนานมาก  สมัยนั้นผมยังไม่เกิด แต่ผมก็โตมากับสภาพแวดล้อมในลำปางที่เห็นและชื่นชอบรถม้ามาตั้งแต่เด็ก เห็นคนรุ่นก่อนๆที่เขาทำอาชีพผลิตรถม้าก็ชื่นชม และสนใจอยากเรียนรู้เพราะถือว่า การสร้างรถม้าขึ้นมาคันหนึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของงานโลหะ งานไม้ และงานฝีมือทุกแขนง เป็นเรื่องน่าสนใจและท้าทาย ผมจึงแกะแบบของรถม้าเก่าดั้งเดิมที่มาจากอังกฤษ เป็นคันแรก”

จากรถม้าคันแรก เรื่อยมาเป็นไม่รู้กี่ร้อยคันในห้วงเวลากว่า  30 ปี เป็นเหตุผลหนึ่งที่ลุงอ้วนได้ค้นพบคำว่า “ศิลปะ และคุณค่า” ของรถม้าที่มีคุณภาพดี

“รถม้ามีหลายเกรดทั้งในและต่างประเทศ แตกต่างกันออกไปตามลักษณะความจำเป็นของการใช้งาน ในฐานะที่ผมอยู่กับมันมา ผมมองว่างานคุณภาพแบบดั้งเดิมมันอาจจะหายไป ถ้าไม่มีใครอนุรักษ์มันไว้  รถม้าดั้งเดิมจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นวงล้อ เหมือนล้อเกวียน  องค์ประกอบโดยรวมของโครงสร้างเป็นเหล็กชั้นดี ตัวถังหมายถึงที่นั่งจะทำจากไม้  ระยะหลังๆในอุตสาหกรรมการทำรถม้าเชิงพาณิชย์ เริ่มใช้วงล้อที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งอาจจะทำได้ง่ายและเร็ว แต่คุณสมบัติความยืดหยุ่นของการขับเคลื่อนรถม้า และความคลาสสิคสู้วงล้อจากไม้ไม่ได้”

ลุงอ้วนบอกว่า ในอดีตการทำส่วนประกอบของรถม้าจะเป็นงานทำมือทั้งหมด  ตั้งแต่การเหลาไม้เป็นวงล้อ งานตีเหล็กเป็นส่วนประกอบต่างๆ ใช้เวลานานหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปีกว่าได้รถม้าสักหนึ่งคัน  สมัยก่อนในลำปางมีช่างทำรถม้าที่ฝีมือดีอยู่หลายคนแต่ส่วนใหญ่จะเก่งและทำด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การทำวงล้อต้องอาศัยความชำนาญและใจรัก ซึ่งมีน้อยคนมากเป็นงานทำยาก ล่าสุดเหลือช่างทำวงล้อไม้ทำมือเพียงคนเดียวคือลุงจันทร์ ขัตตินนท์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ก่อนหน้านั้น มีช่างที่ประกอบรถม้าทั้งคันน้อยมาก เช่น  แก้วมูล หาญจักรคำ สงัด ไชยชนะเลิศ ที่ประกอบรถม้าขายเชิงพาณิชย์ในสมัยก่อน  ซึ่งลุงอ้วนเองถือเป็นรุ่นท้ายๆของคนยุคเก่าที่มีความผู้เชี่ยวชาญงานสร้างและประกอบรถม้า กลายเป็นศูนย์กลาง ซ่อม สร้าง ของผู้ประกอบการรถม้าของลำปางแบบครบวงจร

ด้วยข้อจำกัดเรื่องงานทำมือบางอย่าง ปัจจุบัน “ลุงอ้วน” พัฒนาใช้เครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรงเข้ามาผสมผสานให้เหมาะสมกับการสร้างชิ้นงานให้มีมาตรฐาน เช่นงานกลึงเหล็ก และไม้ซี่วงล้อ ใช้เครื่องจักรช่วยกลึงให้ได้ขนาดเดียวกัน เท่ากันทุกซี่  งานเจาะดุม ประกอบซี่วงล้อ การตัดเหล็กและประกอบแหนบวงล้อที่มีมาตรฐาน ซึ่งทั้งหมด มีผลต่อการขับเคลื่อน แรงเหวี่ยงรถม้าที่ได้ศูนย์ ผู้โดยสารบนรถม้านั่งสบาย ขนาดของคันรถมีมาตรฐาน ส่วนตัวถังรถ เรายังส่งให้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญทำ (ช่างเสริมจากบ้านหม้อ และ งานเบาะและหลังคาโดยช่างสมบัติ บ้านกล้วยกลาง อำเภอแม่ทะ) ต้นทุนของการทำรถม้าแบบดังเดิมเทียบเท่าคุณภาพดั้งเดิมของอังกฤษจึงสูงมาก หลายหมื่นบาทต่อคัน

จำรัส อินต๊ะพรหม วัย 62 ปี หนึ่งในทีมงานของลุงอ้วนเล่าว่า จากชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับงานกลึงมาตั้งแต่เด็ก รับจ้างทำงานประกอบรถม้ามาหลายปี เมื่อมาทำงานกับลุงอ้วนจึงใช้ทักษะที่มีทั้งหมดในงานกลึง สร้างชิ้นงานกลึงไม้วงล้อ และงานเหล็กส่วนประกอบให้ได้มาตรฐานทุกส่วนประกอบต้องเป๊ะตามแบบและขนาด ตั้งแต่ไม้ทุกซี่ของวงล้อ เหล็กทุกเส้น แหนบทุกชิ้น จนถึงยางซึ่งต้องเลือกยางจากรถสิบล้อตัดเอาแต่ส่วนที่มีดอกมาทำเท่านั้น เพราะทุกส่วนมีผลต่อการขับเคลื่อนให้รถม้าที่นั่งแล้วรู้สึกนิ่มนวลตามแบบของรถม้าโบราณจริงๆ

ชมพู่ นันทิพา คล้าวิเชียร คนรุ่นใหม่ที่จบวิชาชีพเครื่องกลโรงงานแต่หันหลังให้กับงานลูกจ้างในบริษัทเอกชน มาทำงานที่สมาคมรถม้าเล่าว่า หลังจากเรียนจบได้ทำงานในบริษัทเอกชนในกรุงเทพ แต่ยังหาจุดที่มีความสุขกับงานไมได้ กระทั่งกลับมาบ้านที่ลำปาง ลุงอ้วนชวนมาช่วยงาน จึงตัดสินใจกลับมาทำงานใกล้บ้าน หากแต่ชมพู่กลับพบว่า ความสุขของงานคือที่นี่

“งานหลักของพู่คือคืองานประกอบวงล้อรถม้า มันเหมือนจะเป็นงานยากสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมดโดยลุงอ้วนเป็นผู้สอน งานประกอบล้อรถม้าเป็นงานที่อาศัยสมาธิและใจที่นิ่ง เพราะเป็นงานละเอียด การประกอบชิ้นงานต้องได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ใจทำ ผลสำเร็จของาน คือความท้าทายและความภูมิใจ”

จะว่าไปแล้วงานสร้างรถม้าของลุงอ้วนจึงเป็นรูปแบบงานอนุรักษ์เป็นหลัก แต่ก็มีคนที่ชื่นชอบรถม้าโบราณ สั่งซื้อไปใช้งานบริการท่องเที่ยว ในรีสอร์ททั้งในและต่างประเทศ เป็นรายได้กลับมาเลี้ยงในระบบของการทำรถม้าเชิงคุณภาพให้อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง งานสร้างรถม้าในลำปางอาจจะยังไม่ถึงทางตัน แม้ขาดคนมาสืบทอด แต่ลุงอ้วนก็ยังเชื่อว่า คนที่รักในงานนี้ยังจะมีรุ่นต่อๆไป  ถึงแม้จะไม่มีก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ

เรื่องของศิลปะและงานฝีมือเป็นเรื่องของใจรัก ที่ไม่สามารถกำหนดให้ใครทำได้ง่ายดังวลีที่ว่า “เมื่อมีใจเขาจะมาเอง” ที่สมาคมรถม้าแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาศิลปะการสร้างรถม้า หนึ่งในประเทศไทยที่รอ คนที่มีหัวใจ สานต่อรุ่นถัดไป

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1148 วันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2560)

                                                                                    เรื่อง/ภาพ:ศชากานท์ แก้วแพร่

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์