
ลำปางเจอน้ำป่าหลากทั้ง
13 อำเภอ กระทบเกือบ 3 พันครัวเรือน หนักสุด อ.เถิน
น้ำท่วมขังนาน 3 วัน ปภ.เขต 10
ต้องใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกลระบายออกจากพื้นที่
ขณะที่สองเขื่อนใหญ่แจ้งเตือนการระบายน้ำ เพื่อรองรับพายุฝนรอบใหม่
ยันไม่ท่วมเขตเมือง
เมื่อวันที่
12 ตุลาคม 2560 เวลา 08.00 น.
นายสุรพล บุรินทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดลำปาง
(Warroom อุทกภัย) ณ
ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง โดยในที่ประชุมได้มีการสรุปสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง
ตั้งแต่วันที่ 3-11 ต.ค. 60
มีพื้นที่ประสบภัยรวม 13 อำเภอ 77 ตำบล
128 หมู่บ้าน 2,968 ครัวเรือน
มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่ อ.งาว คือนายทอน มามี อายุ 49 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.บ้านหวด และ อ.เถิน คือนายบุญเลย ยอดกันทา อายุ 62 ปี ราษฎร ต.แม่ปะ อ.เถิน สาเหตุถูกน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิต
**เถิน-แม่พริกยังท่วมขัง
สถานการณ์ปัจจุบัน
เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 11 อำเภอ สำหรับ 2 อำเภอ คือ อ.เถิน และ อ.แม่พริก ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร
ขณะนี้ทางจังหวัดได้ประสานหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย
โดยที่ บ้านวังมน ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ กรณีสะพานทรุด
แขวงทางหลวงจะเริ่มติดตั้งสะพานแบลี่ย์ ในวันที่ 17 ต.ค.60
ส่วนที่ อ.แม่พริก สำนักงานชลประทานที่
2 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว
จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำออกจากนาข้าวเข้าอ่างเก็บน้ำหนองกระทุ่มโปง
เพื่อแก้ไขปัญหานาข้าวเสียหาย คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะที่
อ.เถิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ช่วยสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขังเล็กน้อยในพื้นที่บ้านเรือน
และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านการเกษตร
เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป
และให้ท้องถิ่นจังหวัดประสาน อปท. ในพื้นที่
ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรให้ช่วยสูบน้ำออกโดยเร็ว
**ย้อนเหตุการณ์ท่วมเถิน
สำหรับเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากพื้นที่หนักสุด
คือ อ.เถิน ได้เกิดฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร 4
ตำบลคือ ต.แม่วะ ต.เถินบุรี ต.ล้อมแรด
ต.แม่ปะ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.60
ที่ผ่านมา ให้ต้องปิดสะพานข้ามแม่น้ำวังถึง 2 แห่ง คือ สะพานข้ามแม่วังระหว่างบ้านล้อมแรด หมู่ 4
ไปยังบ้านหนองบัวหมู่ 6 ต.ล้อมแรด อ.เถิน
โดยฝั่งบ้านหนองบัว ไม่สามารถสัญจรข้ามไปมาได้
เพราะแม่น้ำวังได้เอ่อเข้าท่วมคอสะพานระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร แม่น้ำวังไหลเชี่ยวกราด
เจ้าหน้าที่ต้องนำแผงเหล็กมากั้น ตรงสะพานห้ามสัญจรอย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับสะพานข้ามแม่น้ำวังอีกแห่ง
คือสะพานเมืองเถิน 100 ปี
ที่อยู่ถัดทางทิศเหนือของแม่น้ำวัง ไป อีกประมาณ 2 กิโลเมตร
การสัญจรเส้นทางดังกล่าว ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้เช่นกัน
เพราะระดับน้ำในแม่น้ำวังเอ่อท่วมถนนโดยรอบ ชุมชนใกล้สะพาน สูงกว่า 1 เมตร
ต้องอ้อมไปใช้สะพานอีกแห่งที่อยู่ถัดไป
**โรงเรียน-ถนนหลวงจม
โดยเฉพาะโรงเรียนล้อมแรดวิทยา
ต.ล้อมแรด อ.เถิน ที่ถูกน้ำท่วมทั่วทั้งโรงเรียนความสูงของน้ำประมาณ 50 เซนติเมตร
บางแห่งได้ทะลักเข้าไปยังห้องเรียนห้องเก็บอุปกรณ์ต่างๆของโรงเรียนเสียหายไปแล้ว
ซึ่งขณะนี้โรงเรียนได้ปิดเทอม ทำให้ครูและนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่มาช่วยเหลือในการขนย้ายทรัพย์สินหนีย้ำไม่ทันจนเสียหายไปหลายส่วน
นอกจากนั้นน้ำยังหลากเข้าท่วม
ถ.พหลโยธิน สายลำปาง-ตาก บ้านหนองเชียงราน ต.ล้อมแรด อ.เถินทั้ง 2
ฝั่งขาขึ้นและขาล่อง รถที่สัญจรไปมาต้องระมัดระวังอย่างมาก
แต่เพียงวันเดียวน้ำก็ลดระดับลงเข้าสู่ภาวะปกติ
ต่อมาวันที่
8 ต.ค. 60
ปริมาณน้ำยังคงตัวอยู่ในระดับสูงประมาณ 1 เมตร
ท่วมขังบ้านเรือนราษฎร โดยเฉพาะหมู่บ้านเด่นแก้ว หมู่ 11
ต.ล้อมแรด อ.เถิน ทั้งนี้
ทางเทศบาลเมืองล้อมแรด กำนัน ต.ล้อมแรด
ขอสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ. 32 นำเรือบรรจุอาหารและน้ำดื่มเข้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ
เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ส่วนบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำวัง 2 แห่ง ที่ต้องปิดสะพานไป สามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติแล้ว
เนื่องจากน้ำในแม่น้ำวังลดระดับลงแล้ว
**วังเหนือน้ำหลาก
และในวันเดียวกันช่วงเวลา
12.20 น. ที่ อ.วังเหนือ ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำในลำห้วยได้เพิ่มปริมาณขึ้น
และไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ในเขต บ้านใหม่ หมู่ 6 และบ้านแม่เฮียว
หมู่ 7 ต.วังเหนือ อ.วังเหนือ
ชาวบ้านได้ช่วยกันนำกระสอบทรายมากั้นบริเวณช่องสะพาน เพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านเข้ามาได้ด้วยความทุลักทุเล
แต่น้ำบางส่วนก็ทะลักเข้าท่วมในบ้านเรือนแล้ว
จึงทำได้แค่เพียงขนของมีค่าขึ้นไว้ในที่สูงก่อน
ซึ่งนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ปภ.สาขา และอปท.พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยวังเหนือ
อาสาสมัครภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยการมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย
**เกาะคา ห้างฉัตร โดนด้วย
วันที่
9 ต.ค.60
หลังจากได้เกิดฝนตกในพื้นที่ อ.ห้างฉัตร และ อ.เกาะคา จ.ลำปาง
น้ำในลำห้วยแม่ตานได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้น จนเอ่อทะลักล้นออกจากลำห้วย รวมทั้งผุดออกจากทางท่อระบายน้ำ
ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในเขตบ้านม้ากลาง หมู่ 13 ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา
ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านแห่งนี้ได้รับผลกระทบกว่า 60 ครัวเรือน
สาเหตุหลักมาจากจุดดังกล่าว เป็นคอขวด ทำให้น้ำเอ่อทะลักเข้าท่วมทุกครั้ง
หากเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากมากับลำน้ำแม่ตาน
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบชาวบ้านในพื้นที่ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า
ในจุดบริเวณที่น้ำเอ่อล้นไหลทะลักนี้ แต่เดิมเป็นพื้นที่ร่องน้ำของลำน้ำแม่ตาน
ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านชุมชนหมู่บ้าน
โดยรอบบริเวณจะไม่มีบ้านเรือนปลูกสร้างและไม่มีถนนตัดผ่าน
ต่อมาเมื่อชุมชนเกิดการขยายตัวมีบ้านเรือนหนาแน่นแต่เส้นทางถนนคับแคบ
ชาวบ้านจึงมีความต้องการถนนเพื่อจะใช้เป็นเส้นทางสัญจรในการเข้า-ออก
จากนั้นจึงได้มีการดำเนินการจัดวางท่อน้ำซีเมนต์ขนาดใหญ่ให้น้ำในลำน้ำแม่ตานไหลผ่านลงไปสู่แม่น้ำวัง
และได้ทำการถมพื้นที่ด้านบนทั้งหมดทำเป็นถนนหมู่บ้านให้รถวิ่งสัญจรผ่านไปมาได้
เริ่มแรกที่ได้ทำการสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ ไม่มีปัญหาน้ำเอ่อล้นทะลัก
แต่ต่อมาในช่วงระยะหลังกลับพบว่าน้ำมักจะเอ่อล้นและทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในชุมชนหมู่บ้านทุกครั้งที่มีฝนตกหนักจนกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก
ซึ่งในส่วนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ประสานหน่วยงานเขตท้องที่ที่เกี่ยวข้องให้ได้เร่งทำการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชาวบ้านผู้ประสบภัยแล้ว
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว
ได้มอบหมายให้หน่วยงานเทศบาลและที่ว่าการอำเภอเขตท้องที่
ร่วมหารือกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักงานชลประทานที่ 2
และหน่วยงานส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการเร่งด่วน
เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับใช้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่อไป
**ป่าไม้แจกถุงยังชีพ
เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่
3 ลำปาง โดยนายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3
ลำปาง สั่งการให้ นายสุเทพ พุทชา
ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) พร้อมด้วยนายดนุศักดิ์ หมื่นโฮ้ง หน.สายตรวจปราบปรามว่าด้วยการกระทำผิดป่าไม้
สายที่ 1 นำกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ ลป.37
แม่ยาว พร้อมด้วยถุงยังชีพประกอบด้วย บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง
น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง
เดินลุยน้ำไปแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากท่วมขัง
ที่บริเวณชุมชนบ้านม้าเหนือ หมู่ 6 ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
โดยถุงยังชีพที่นำมาแจกจ่ายครั้งนี้ นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ
ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง
ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขังซึ่งบางรายไม่สามรถไปประกอบอาชีพตามปกติได้
และบางรายไม่สามารถ ช่วยเหลือตัวเองได้
จึงได้จัดงบประมาณไปจัดซื้อข้าวสารอาหารแห้งน้ำดื่มพร้อมบรรจุในถุง
นำไปแจกจ่ายประชาชนเพื่อลดความเดือนร้อนชั่วคราวไปก่อน
**ผบ.มทบ.นำกำลังทหารช่วย
ขณะเดียวกัน
พล.ต.สุรคล ท้วมเสน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี
ได้นำกำลังทหาร
ไปช่วยเหลือชาวบ้านในการขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของชาวบ้านไว้ในที่ปลอดภัย
และกำลังพลบางส่วนยังได้ร่วมกันบรรจุทรายลงกระสอบแล้วนำไปทำแนวกั้นน้ำไม่ให้ทะลักเข้าบ้านเรือนชาวบ้าน
ด้าน
พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐนนท์ ภุกุกะ ผอ.โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ได้นำทหารเสนารักษ์ฯ
เข้าไปตรวจสุขภาพและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกทางหนึ่ง
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้คาดว่าอีกวันหรือสองวันน่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติหากฝนไม่ตกและน้ำป่าไม่ไหลหลากเพิ่มเติม
**ผู้ว่าฯลงพื้นที่เถินอีกครั้ง
จากนั้น
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางศิรินุช สวาสดิ์ธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง
นายสุรพล บุรินทร์ทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และ พันโท ไกรพินิช
วาเล๊กบุตร ผบ.ร.17 พัน.2
นายเชาว์ทวีพัฒน์ ดนัยนันท์ ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทนนายอำเภอเถิน ออกตรวจเยี่ยมเยือนราษฎรในพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก
เขต ต.ล้อมแรด อ.เถิน
พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพและแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 60
ชุด โดย อำเภอเถิน สนับสนุนน้ำดื่ม 500 ชุด เทศบาลเมืองล้อมแรด แจกข้าวกล่อง จำนวน
1,100 กล่องพร้อมน้ำดื่ม ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต
10จังหวัดลำปาง สนับสนุนเจ้าหน้าที่ ERT 3 นาย เรือ 2 ลำ
น้ำดื่ม 500 ขวด ส่วนโรงพยาบาลเถิน และสาธารณสุขอำเภอเถิน
จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนในพื้นที่ โดยสรุปปัจจุบันอำเภอเถิน
ยังคงมีน้ำท่วมขัง 1 ตำบล
ประกอบด้วย ม.3 บ้านท่านาง ม.4 บ้านล้อมแรด
ม.5 บ้านเหล่า ม.10 บ้านสบคือ ม.11
บ้านเด่นแก้ว และ ม.14 บ้านแพะหลวง
ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 540 ครัวเรือน
**ปภ.เขต 10 ส่งเครื่องสูบน้ำช่วย
พร้อมกันนี้ นายคมสัน สุวรรณอัมพา ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ
พร้อมสนับสนุนรถสูบส่งระยะไกล
สูบน้ำจากเขตที่ลุ่มน้ำท่วมขังบริเวณหน้าโรงเรียนล้อมแรดวิทยา ต.ล้อมแรด
อ.เถิน จังหวัดลำปางผ่านระบบท่อสายอ่อนอัตราการสูบระบายน้ำ 5,000 ลิตร/นาที ปล่อยลงสู่แม่น้ำวัง ระยะทางประมาณ 1 ก.ม. ซึ่งบ้านล้อมแรด หมู่ 4 แห่งนี้
เป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติผ่านเขตชุมชนเมือง คาดหลังจากสูบน้ำแล้วไม่มีฝนตกซ้ำ
น้ำที่ท่วมขังจะแห้งทั้งหมด
**กิ่วลม-กิ่วคอหมาเตือนปล่อยน้ำ
เมื่อวันที่
9 ต.ค.60 เวลา 15.00น. นายฤทัย
พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้มีประกาศเตือนประชานที่มีบ้านเรือนอยู่สองฝากฝั่งน้ำวังให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งโดยให้เร่งเก็บทรัพย์สินของมีค่าไว้ในที่สูง
เนื่องจากในขณะนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศแจ้งมาว่า ในช่วงวันที่ 9-11 ต.ค.นี้ ประเทศไทยยังจะมีฝนตกชุกและหนาแน่นกับมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ และมีลมกรรโชคแรงในบริเวณภาคเหนือ
ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดมีน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่
ซึ่งในส่วนของเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมาจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวัง
เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนทั้งสองแห่ง ให้สามารถควบคุมป้องกันบรรเทาอุทกภัยให้มีความปลอดภัยกับตัวเขื่อน
และเตรียมวามพร้อมของพื้นที่ว่างในการรองรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกหนักตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศแจ้งเตือนมา
ส่วนสภาพความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของตัวเขื่อนนั้น
ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการตรวจสอบมาเป็นระยะๆ พบว่ามาความเป็นปกติ แต่เพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หากเกิดน้ำหลากจากลำห้วยสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำวังด้านท้ายเขื่อน
ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดมีน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ต่ำริมตลิ่งของแม่น้ำ
ทางเขื่อนกิ่วคอหมาจึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวังในอัตรา 50-70 ลบ.ม.ต่อวินาที
ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ส่วนเขื่อนกิ่วลมก็มีการเพิ่มการระบายน้ำ
ให้อยู่ในอัตรา 100-150 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.เป็นต้นไป
**ยันไม่กระทบ
นายฤทัย กล่าวว่า
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.60 เขื่อนกิ่วลมได้มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย
จาก 100 ลบ.ม.ต่อ วินาที เป็น 117 ลบ.ม.ต่อ วินาที
เพื่อลดระดับน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม แต่ไม่มีผลกระทบท้ายน้ำ
เพิ่มจากเดิมเพียง 17 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำแม่น้ำวังจะเพิ่มจากเดิมเพียง 7 ซ.ม.เท่านั้น
สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง เขื่อนทั้งสองรับมือได้ ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะมีสองเขื่อน
สามารถรองรับน้ำเข้าได้อีก ตามแผนบริหารจัดการน้ำทั้งสองเขื่อนใหญ่ เชื่อมั่นว่าปลอดภัย
ขอให้ประชาชนคอยติดตามข่าวสาร และสถานการณ์ที่แจ้งเตือน
**ให้ตั้งรับทุกเมื่อ
ทั้งนี้
ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ลาดเชิงเขาที่ลุ่มต่ำ
รวมทั้งบริเวณที่เคยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
ให้เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย
กำชับหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์
ข้อมูลข่าวสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง
หากเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นให้ทราบทันทีเมื่อเกิดเหตุ
ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง โทร 054-265-074 สายด่วนนิรภัย 1784
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1150 วันที่ 13 - 19 ตุลาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น