“พระองค์บอกชาวบ้านว่า
ให้ปลูกป่าไปเรื่อยๆ ปลูกไม้สักทดแทนให้ป่าอุดมสมบูรณ์” (มีคลิป)
หนึ่งในภารกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมนาถบพิตร ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือน
จ.ลำปาง หลายครั้งหลายคราว คือการติดตามความคืบหน้าการดูแลรักษาสวนป่า
ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพลิกฟื้นผืนป่า และการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน
จึงมีพระราชดำรัสให้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่มีภารกิจหลักในปลูกไม้เศรษฐกิจ
และประกอบอุตสาหกรรมไม้ หันมาจัดทำสวนป่าให้เป็นส่วนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ปลูกป่าทดแทนให้มีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ อ.อ.ป.จึงได้เริ่มดำเนินการจัดสร้างสวนป่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ประวุฒิ จีนา หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน
เล่าว่า เดิม อ.อ.ป.มีหน้าที่หลักในการทำไม้จากป่าธรรมชาติ
ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนภารกิจ เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
๙ เสด็จมาทอดพระเนตรการทำไม้ของ อ.อ.ป. มีพระราชดำรัสให้
อ.อ.ป.ช่วยเหลือเรื่องการปลูกป่าร่วมกับกรมป่าไม้ ดังนั้น อ.อ.ป.ก็เริ่มทำการปลูกสร้างสวนป่าตั้งแต่ปี
๒๕๑๑ นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ ซึ่งเดิมเข้ามาจับจองพื้นที่ป่าและทำไร่เลื่อนลอย มารวมกันเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้
และให้ช่วยกันปลูกป่าให้มีความหลากหลาย พัฒนาต่อยอดมาเป็นการทำสวนป่าแบบยั่งยืน
พระองค์ให้ความสำคัญกับ
อ.อ.ป.ค่อนข้างมาก เสด็จมามาทอดพระเนตรสาธิตการทำไม้กับอ.อ.ป.หลายครั้ง
ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มการปลูกสร้างสวนป่า และทรงเสด็จมาเยี่ยมติดตามการทำงานอยู่ตลอด
เป็นที่ภาคภูมิใจของชาว อ.อ.ป. อย่างมาก
ประวุฒิ
เล่าถึงรถพระที่นั่ง ซึ่งเป็นรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ DODGE
สี่ประตู สีไข่ไก่ ระบบขับเคลื่อนแบบออโตเมติก
หมายเลขทะเบียน ลป-๐๔๙๗๔
เมื่อปี ๒๕๒๑ ในหลวงรัชกาลที่๙
ได้เสด็จมาตรวจเยี่ยมชมการแสดงที่ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ อ.งาว และสวนป่าแม่เมาะ
อ.แม่เมาะ แต่ไม่มีรถพระที่นั่งมาด้วย ซึ่งขณะนั้น รถยนต์เก๋ง DODGE คันนี้เป็นรถที่ดีที่สุดของ อ.อ.ป. จึงได้จัดเป็นรถรับเสด็จพระองค์ หลังจากที่พระองค์ได้ประทับรถคันนี้แล้วก็ได้นำเก็บและไม่เคยใช้งานอีกเลย
เนื่องจากเป็นความภาคภูมิใจที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยมชมสวนป่าของ อ.อ.ป.
ถือว่าเป็นสิริมงคล และเป็นการแสดงความจงรักภักดี
นอกจากนั้น
ในหลวงรัชกาลที่๙ พระราชินี
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ รวม ๕ พระองค์
ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปพักผ่อนอิริยาบถที่สวนป่าทุ่งเกวียน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
เป็นการส่วนพระองค์ พร้อมทั้งทรงปลูกต้นไม้ภายในสวนป่า และได้เติบใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน
การเสด็จในครั้งนั้นสร้างความภาคภูมิใจกับประชาชนที่ร่วมรับเสด็จเป็นอย่างมาก
สมรวม นิมิตรศิริวัต อดีตหัวหน้าสวนป่าทุ่งเกวียน เผยถึงความรู้สึกเมื่อครั้งรับเสด็จในวันที่
๓ มกราคม ๒๕๑๔ ว่า เวลาประมาณ ๑๐ โมงเศษ
มีนายทหารเดินทางมาที่สวนป่าบอกว่าในหลวงรัชกาลที่๙ จะเสด็จประพาสที่นี่เป็นการส่วนพระองค์
พร้อมด้วยพระราชินี เจ้าฟ้าชาย เจ้าฟ้าหญิง รวม ๕พระองค์ ซึ่งอยากเสด็จไปที่ป่าธรรมชาติ นายทหารจึงให้ช่วยพาไปดูสถานที่ที่ในหลวงกาลที่๙จะเสด็จประทับ
เลยพานายทหารไปดูขุนห้วยเปียง ป่าไผ่ไร่ที่เว้นไว้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประทับพักผ่อน
จากนั้นเวลาประมาณ ๑๒.๓๐ น. ทั้ง ๕ พระองค์ได้เสด็จมาโดยรถยนต์พระที่นั่ง
ความรู้สึกในตอนนั้น มีความปลาบปลื้มเป็นอย่างมากที่ได้รับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง
๕ พระองค์ในคราวเดียวกัน
เช่นเดียวกับราษฎรที่เคยเฝ้ารับเสด็จที่สวนป่าแม่ทรายคำ
ก๋อง ปัญญาสาด อายุ ๕๙ ปี เล่าว่า
เมื่อก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าเสื่อมโทรมมีการทำไม้กันมากแต่ไม่ได้ปลูกทดแทน กระทั่งได้มีการจัดสร้างสวนป่าขึ้นมาเมื่อปี
๒๕๑๔ ในหลวงรัชกาลที่๙
เสด็จมาเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๙ ก็ได้ไปรอรับเสด็จได้มองเห็นพระองค์ไกลๆแต่ก็ตื้นตันใจมาก
พระองค์บอกชาวบ้านว่าให้ปลูกป่าไปเรื่อยๆ ปลูกไม้สักทดแทนให้ป่าอุดมสมบูรณ์
เมื่อทราบว่าพระองค์เสด็จสวรรคต
อยากจะร้องไห้เหมือนกับคนอื่นที่เสียใจกันมาก พระองค์ทำความดีเพื่อประชาชนทั่วประเทศ
เป็นเหมือนพ่อของพวกเรา ดังนั้น อยากขอให้หยุดตัดไม้ทำลายป่า
เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำลำธาร และช่วยกันปลูกป่ามากขึ้น
กรรณิการ์ บุญเมือง อายุ ๕๙ ปี ราษฎรสวนป่าแม่เมาะ ได้ย้ายจากภาคอีสานมาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่ปี
๒๕๑๓ และทำงานให้กับ
อ.อ.ป.มาโดยตลอด เผยถึงวันที่ในหลวงรัชกาลที่๙เสด็จว่า
ทราบจาก อ.อ.ป.ว่าในหลวงรัชกาลที่๙จะมาวันที่ ๒๑
กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑
ในวันนั้นตนทำหน้าที่ตกแต่งเหง้าสักอยู่ภายในโรงเรือน สายตาของตนจะมองที่พระองค์ตลอดทุกอิริยาบถ
พระองค์เดินเยี่ยมเยือนชาวบ้านท่ามกลางแดดร้อน กระทั่งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการตกแต่งเหง้าสัก
ตนจึงได้มีโอกาสก้มกราบพระบาท ตอนนั้นรู้สึกว่าช่างมีบุญเหลือเกินที่ได้กราบพระองค์ท่านใกล้ๆ
ถึงไม่ได้พูดคุยอะไร แต่ในใจปลื้มปิติมาก
วันที่สูญเสียในหลวง วันนั้นตนกำลังทานข้าวอยู่
พอได้ยินแถลงข่าวการเสด็จสวรรคต น้ำตาไหลก็ออกมาทันทีเพราะรักและเทิดทูนพระองค์อย่างที่สุดและอย่างที่หลายคนพูดว่าหากตายแทนได้ก็อยากตายแทน เพราะพระองค์ช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ขอให้พระองค์อยู่บนสวรรคาลัยที่สูงสุด
เพื่อคอยมองดูพวกเราตลอดไป
ไม่ต่างจาก ไพลิน
ปักราช อายุ ๕๕ปี เดิมภูมิลำเนาอยู่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อทราบว่ามีการรับคนงานเข้ามาปลูกสร้างสวนป่าจึงย้ายเพื่อเข้าทำงานที่สวนป่าแม่เมาะกับครอบครัว
และได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ นางไพลิน กล่าวว่า
ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่๙เสด็จมา ตอนนั้นตนอายุ ๑๗ ปี ความรู้สึกในตอนนั้นดีใจมาก ตื่นเต้นมากทำอะไรไม่ถูก
ปลื้มใจมาก เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เห็นพระองค์
ไพลิน
เล่าว่า เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙
พอได้ยินข่าวทางแถลงการณ์ในหลวงรัชกาลที่๙เสด็จสวรรคต ก็ร้องไห้โฮออกมาอย่างไม่อายใครเลย
เสียใจมากที่พระองค์จากไป หลังจากนี้ตนก็จะทำตามรอยพระองค์ เลี้ยงปลา ปลูกผัก
อยู่อย่างพอเพียง ขอให้พระองค์อยู่สุขสบายไม่ต้องลำบากอีกแล้ว
นอกจากภารกิจการจัดทำสวนป่าแล้ว
อ.อ.ป.ยังมีศูนย์ฝึกลูกช้าง เพื่อกิจการด้านการทำไม้ โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระราชินีฯ ได้เสด็จไปเยี่ยมชมอยู่บ่อยครั้ง
เรวัต
พวงแก้ว อดีตควาญช้าง วัย ๖๔ ปี ผู้เคยมีโอกาสรับเสด็จและนำช้างออกแสดงให้ทอดพระเนตร
บอกเล่าถึงความปลาบปลื้มในครั้งนั้นว่า
เขาทำงานเป็นควาญช้างที่ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ อ.งาว ฝึกลูกช้างให้ช่วยทำไม้ ขนย้ายไม้
ตามภารกิจของ อ.อ.ป. โดยช้างที่ดูแล ชื่อ พลายกำแพง อายุ ๕ ปี
ย้อนไปในวันที่ได้มีโอกาสรับเสด็จในครั้งนั้น
เป็นวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้ติดตา อดีตควาญช้างเล่าว่า
“ตื่นตั้งแต่เช้าไปเอาช้างในป่ามาอาบน้ำขัดงาขัดเล็บให้สะอาดสวยงามส่วนผมเองนั้นใส่เสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงิน
สวมหมวกใบลาน มีผ้าขาวม้าผูกเอว จากนั้นนำช้างมาตั้งแถวรอรับเสด็จ และแสดงช้างลากไม้ให้ทอดพระเนตร
หลังจากแสดงเสร็จก็ได้นำช้างเดินไปหน้าพระพักตร์หมอบลงทำความเคารพ และให้ช้างเดินไปรับอาหารจากพระหัตถ์
ห่างกันประมาณ ๓ เมตร
พระองค์ได้สอบถามว่าช้างตัวนี้ดูแลยากไหม นิสัยดีไหมก็ได้ตอบไปว่า
สอนง่าย นิสัยดีเชื่อฟังควาญ พระองค์ได้บอกว่าช้างตัวนี้เก่งกว่าเพื่อนเลย ดูแลให้ดีนะ ผมตื้นตันใจมากที่ได้พูดคุยกับพระองค์
แม้จะผ่านมา ๔๐ ปีแล้วแต่ยังจำทุกอย่างได้ตรึงใจ”
น.สพ.สิทธิเดช
มหาสาวังกุล
หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ เคยถวายงานรับใช้ ในการดูแลช้างสำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่๙ภายในวังจิตรลดา และวังไกลกังวล เผยถึงความปลื้มปิติที่เคยกราบแทบพระบาท
ขณะถวายงานรับใช้ใกล้ชิด
สิทธิเดช เล่าว่า
หลังจากจบการศึกษาที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๓๖ จากนั้นได้มาสมัครทำงานที่ฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ
อ.อ.ป. ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยพอดี และเป็นช่วงที่ อ.อ.ป.ได้นำช้างในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙
มาเลี้ยงดูแลที่ จ.ลำปาง เขาโชคดีมากที่ปีสุดท้ายได้เข้าไปฝึกงานที่วังจิตรลดา ขณะนั้นหม่อมหลวงพิพัฒนฉัตร
ดิสกุล ดูแลโรงช้างต้นอยู่ เมื่อทราบว่ามาทำงานกับช้างที่ จ.ลำปาง จึงพาเข้าไปฝึกงานเกี่ยวกับช้างในวัง เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เจอช้างสำคัญในรัชกาลที่
๙ ทั้งหมด และในปี ๒๕๓๗ ในหลวงรัชกาลที่๙ มีพระราชกระแสรับสั่งที่จะย้ายช้างทั้งหมดออกจากวังสวนจิตรลดามาพักผ่อนในป่าธรรมชาติ
เลยมีการเคลื่อนย้ายพระเศวตทั้งหมด โดยย้ายช้างเพศผู้ ๒ ช้าง คือ พระเศวตพาสุรคเชนทร์
และพระเศวตสุธวิลาศ มาที่ จ.ลำปาง และเพศเมียที่เหลือ ย้ายไปที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
จ.สกลนคร ถือว่าเป็นบุญที่สุดที่ได้เข้ามาดูแลช้างสำคัญในพระองค์ทรงเลี้ยงอีกครั้ง
สิทธิเดช เล่าต่อว่า
ในปี ๒๕๔๗ พระเศวตอดุลยเดชพาหลเพียงช้างเดียวอยู่ในวังจิตรลดา เพราะเป็นช้างเผือกเอกคู่บารมีประจำพระองค์
ต้องอยู่ใกล้ชิดกษัตริย์มากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ ๒ ปี ในหลวงรัชกาลที่๙เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลวังวล
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามประเพณีจึงต้องย้ายช้างเผือกเอกไปด้วยจึงเคลื่อนย้ายพระเศวตอดุลเดชพาหล
และทรงมีรับสั่งให้ทีมสัตวแพทย์จาก จ.ลำปาง คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมของกรมป่าไม้มาร่วม
หลังจากเคลื่อนย้ายแล้วหน้าที่อีกอย่างหนึ่งก็คือ สัตวแพทย์ที่ จ.ลำปาง
จะต้องจัดเวรไปดูแลสุขภาพช้างเป็นประจำ
ครั้งนั้นเองปี ๒๔๕๙ ซึ่งเขาได้ไปเข้าเวรที่วังไกลกังวลตามปกติ
“พระองค์มีกระแสรับสั่งว่าจะพาพระสหายมาเยี่ยมชมพระเศวตฯใหญ่
จึงเป็นครั้งในชีวิตที่ได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดมากที่สุด ผมนี่หมอบติดพระองค์ท่านเลย
ได้ถวายพานกล้วยอ้อยให้กับในหลวงกาลที่๙ และทรงสนทนาสอบถามถึงอาการทั่วไปของพระเศวตฯ
พอถวายงานเสร็จแล้วก็ได้มีโอกาสกราบแทบพระบาทของพระองค์” เขากล่าว
ด้วยน้ำเสียงปลื้มปิติยิ่ง
สิทธิเดช เล่าว่า
อีกครั้งที่จำได้สนิทใจ คือเมื่อปี ๒๕๕๒ พระองค์ทรงพระราชทาน ส.ค.ส.ให้กับคนที่ถวายงานรับใช้ในวังไกลกังวล
จึงได้เข้าเฝ้าในพระตำหนักเปี่ยมสุข และพระองค์ท่านเสด็จลงมาพระราชทาน ส.ค.ส.ซึ่งข้าราชบริพานในวันนี้ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์พระองค์เอง
ทุกวันนี้ยังเก็บไว้อย่างดี
“ผมเชื่อว่าการจากไปของพระองค์
ทำคนไทยทุกคนเสียใจมากเพราะท่านคือหัวใจของคนไทยทั้งชาติ บางทีเราเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่๙
น้ำตาก็ไหลแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นแบบอย่างที่ดีในทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง กฎหมาย ศิลปะ ดนตรี และกีฬา หลักที่ทุกคนต้องน้อมนำไปใช้คือแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งดูแล้วเป็นแนวเดียวกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลดความโลภ ความหลง ความทะเยอทะยาน อยู่กับความพอเพียง
เป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งมาก ถ้าทุกคนทำได้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่มาก”
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1152 วันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น