วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รอยอดีตประตูตาล

จำนวนผู้เข้าชม .

หากไม่มีคูเมืองกับเจดีย์ร้างตั้งตระหง่าน ชุมชนที่อยู่รายรอบเราขณะนี้ก็คือชุมชนในเมืองทั่วไป แต่ชุมชนประตูตาลไม่เป็นเช่นนั้น ที่นี่ครบถ้วนไปด้วยองค์ประกอบเมือง ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเมือง คูเมือง และประตูเมือง แม้บางอย่างจะสูญหายไปแล้ว แต่ยังปรากฏตำแหน่งอยู่

แนวกำแพงเมืองรุ่นที่ 1 ความยาวโดยรอบ 4,400 เมตรนั้น โอบล้อมพื้นที่ภายในทั้งหมดราว 600 ไร่ ประกอบไปด้วยประตูเมืองสำคัญ ๆ ที่ปรากฏเพียงแค่ชื่อ ได้แก่ ประตูต้นผึ้ง ประตูผาบ่อง ประตูท่านางเหลียว ประตูนกกต ประตูม้า และประตูตาล

บริเวณชุมชนประตูตาลยังมีคูเมืองที่คงสภาพของลำน้ำเล็ก ๆ ร่มรื่นให้เห็นอย่างชัดเจน แม้วันนี้จะเต็มไปด้วยจอกหูหนูปกคลุมไปทั่วก็เถอะ ทว่าครั้งหนึ่งคูเมืองเคยเอื้อประโยชน์ในการชลประทานอย่างยิ่ง นั่นเพราะเมืองรุ่นที่ 1 ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหอยสังข์นี้ตั้งอยู่บนที่ดอน ตลิ่งที่สูงชันริมแม่น้ำวังทำให้ไม่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำวังได้โดยตรง ต้องรับน้ำจากทุ่งนาทางทิศเหนือเข้ามาสู่คูเมืองที่ล้อมรอบกำแพงเมือง จึงมีการชักน้ำเข้ามาในเมืองผ่านทางร่องย่าตอง ที่เข้ามาทางประตูตาล ลอดผ่านถนนวังโค้ง แล้วไหลขนานกับถนนวังโค้ง ผ่านวัดแจ่งหัวริน

ด้านโบราณสถานย่านประตูตาลก็ฉายชัดถึงอดีตอันรุ่งเรือง นั่นก็คือเจดีย์ร้างวัดอุโมงค์ เจดีย์นี้มีรูปแบบบางประการที่สะท้อนงานช่างจากเมืองเชียงใหม่และเมืองเชียงแสน

หากเราเดินผ่านซอกเล็ก ๆ ระหว่างรั้วบ้านเข้าไปจะพบองค์เจดีย์ปรักหักพังอยู่เบื้องหน้า ปกคลุมด้วยพืชคลุมดินจนรกเรื้อ ชั้นฐานองค์เจดีย์พังทลายและมีอิฐทับถมเป็นเนินทั้ง 4 ด้านจนไม่สามารถทราบรูปแบบได้ รอบบริเวณประชิดด้วยบ้านเรือนจนแทบไม่เหลือพื้นที่

นักวิชาการได้วิเคราะห์รูปแบบศิลปะแล้วชี้แจงว่า เจดีย์วัดอุโมงค์ร้างแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนเจดีย์ทรงปราสาทยอด ที่ยังใช้แบบแผนของเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดในกลุ่มเมืองเชียงแสน ผสมผสานกับแบบแผนของเจดีย์ทรงปราสาทยอดทรงระฆัง ที่เริ่มปรับปรุงในกลุ่มเมืองเชียงใหม่ ความสัมพันธ์ทางงานช่างเชื่อมโยงอยู่บนเงื่อนไขของความสัมพันธ์ทั้งด้านอำนาจการปกครอง การค้า และวัฒนธรรมพุทธศาสนา ทั้งจากราชธานีเชียงใหม่และเมืองเชียงแสน อันเป็นช่วงสำคัญตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าติโลกราช และอาจล่วงเลยถึงรัชสมัยพระเมืองแก้ว เพื่อการผนวกอำนาจของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ที่จะทำให้ราชธานีเข้มแข็งขึ้น ดังนั้น เจดีย์วัดอุโมงค์ร้างจึงควรมีอายุแรกสร้างในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21

ปัจจุบันเจดีย์วัดอุโมงค์ร้างมีป้ายติดไว้ว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน สะท้อนความเชื่อมโยงกับคนในชุมชนว่ายังไม่ห่างกันเสียทีเดียว
           

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1149 วันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2560)
            
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์