วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดอกไม้ในใจชน

จำนวนผู้เข้าชม

ช่วงนี้มองไปทางไหนก็เห็นดอกดาวเรือง ดอกไม้สีเหลืองบานสะพรั่ง ดอกดาวเรืองเป็นไม้ประดับที่มีคุณค่าสำคัญทางเศรษฐกิจ นอกจากจะเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ยังใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ ทำสารไล่แมลง และยังพบว่า ดาวเรืองเป็นพืชที่ให้สารเบตาแคโรทีนและสารแซนโทฟิลล์สูง

สำคัญกว่านั้น ดาวเรืองคือดอกไม้ประจำพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 กลายเป็นดอกไม้แห่งการน้อมรำลึกถึงองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง

คนไทยน่าจะรู้จักดอกดาวเรืองตั้งแต่สมัยอยุธยา จากกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี เจ้าฟ้ากุ้งทรงบรรยายและพรรณนากระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค นอกจากกล่าวถึงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นระหว่างทางแล้ว ยังเอ่ยถึงพรรณไม้มากมาย รวมถึงดอกดาวเรือง ซึ่งน่าจะเข้ามาพร้อมมิชชันนารี หรือแขกอินเดียที่เข้ามาในสยาม

“ชาติบุษป์พุทธชาดซาบ กุหลาบกนาบทั้งสองทาง

เบงระมาดยี่สุ่นกาง กลีบบานเพราเหล่าดาวเรืองฯ”

แม้ดอกดาวเรืองจะเป็นดอกไม้ที่คนไทยรู้จักกันมานาน โดยเฉพาะดอกเล็ก ๆ สีเข้ม ๆ คล้ายสีจีวร แต่สำหรับดาวเรืองดอกใหญ่นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำพันธุ์ที่ทรงคัดเลือกเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อนำมาปลูกเป็นพืชสวนในโครงการส่วนพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 2510

เพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่น เกษตรกรทางภาคเหนือได้รับการส่งเสริมให้ปลูกดอกดาวเรืองเพื่อตัดดอกขายในโครงการนำร่องของโครงการหลวงเมื่อหลายสิบปีก่อน ดอกดาวเรืองจึงเป็นดอกไม้ของพ่อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดอกดาวเรืองเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นดอกไม้ชั้นสูง ใช้บูชาพระแม่มารีบนแท่นบูชาจนถูกเรียกว่า Mary’s Gold ต่อมาใช้ชื่อสามัญว่า Marigolds ก่อนหน้านั้นคนพื้นถิ่นอเมริกาใต้ใช้ดอกดาวเรืองบูชาเทพเจ้ามานับพันปี ดอกดาวเรืองจึงเป็นดอกไม้บนแท่นบูชามาตลอด เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ซึ่งใช้ดอกดาวเรืองบูชาเทพเจ้าตามศาสนสถานเป็นหลัก รวมถึงประเทศไทย เรามักนำดอกดาวเรืองมาร้อยเป็นมาลัยถวายพระและใช้ประกอบพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมอ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำเมล็ดพันธุ์ดอกดาวเรืองหลายสายพันธุ์มาทดลองปลูก ณ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ และแปลงทดลองภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ จนในที่สุดปี พ.ศ. 2526 ก็ได้พันธุ์ดาวเรืองเกษตร ที่เหมาะกับการปลูกเพื่อตัดดอกทางการค้าอย่างจริงจังจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ดอกดาวเรืองถึงแม้จะดูเป็นดอกไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ทำให้เกษตรกรบางคนปวดหัวได้เหมือนกัน เมื่อพบว่าดอกกำลังสวย กำลังจะตัดดอก ปรากฎว่าเชื้อราลง ต้องโละทิ้งทั้งแปลง

ดอกดาวเรืองต้องแข็งแรงตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อต้นแข็งแรง โรคก็เกิดขึ้นยาก การทำให้ดาวเรืองแข็งแรงเริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ด ดินร่วน ขี้วัว แกลบเน่า และมะพร้าว นำมาร่อนแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำไปตั้งไฟ เมื่อควันขึ้นบนผิวดินก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้

นึ่งดินแล้วการงอกนี่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลยครับ ที่สำคัญ มันช่วยเรื่องการเกิดเชื้อรา เพราะการนึ่งช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ เกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรืองที่บ้านช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก บอกเทคนิคการปลูกดอกดาวเรืองไว้หนังสือหอมแผ่นดินของ ธ.ก.ส.

นั่นคือในแง่มุมของการเป็นดอกไม้เศรษฐกิจ แต่สำหรับคนพื้นถิ่นเหนืออย่างเรา เรามีดอกดาวเรือง หรือดอกคำปู้จู้อยู่หน้าบ้านมาแต่ไหนแต่ไร แม้ซบเซาไปบ้างช่วงฤดูฝน แต่ดอกดาวเรืองไม่ว่าอย่างไรก็บานสะพรั่งอยู่ในใจเสมอ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1151 วันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2560)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์