น้อยนักที่คนลำปาง
จะได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อคนลำปาง “ลานนาโพสต์” เก็บรับและรวบรวม
พระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่ยังประโยชน์และความผาสุกมาถึงคนลำปางรุ่นนี้
เราขอเป็นส่วนหนึ่งของคนลำปางนคร
ในการบันทึกภาพแห่งความทรงจำเหล่านั้นไว้ อย่างน้อยคนลำปางต่างยุคสมัย
จะได้หลอมรวมใจเป็นดวงเดียว แสดงความจงรักภักดี
และกตัญญูรู้คุณพ่อของแผ่นดินที่ได้สร้างทำหลายสิ่งไว้บนแผ่นดินนี้ ในห้วงระยะเวลา 21 ครั้งที่พระองค์ก้าวพระบาทมาที่นี่
21 ครั้ง
ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ทรงเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมราษฏรและปฏิบัติพระราชภารกิจต่างๆ ณ จังหวัดลำปาง
นอกจากการเสด็จในการดังกล่าว
รวมทั้งการนมัสการ และสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเกษม เขมโก พระอริยสงฆ์
แห่งสุสานไตรลักษณ์แล้ว
พระองค์ยังทรงเสด็จทอดพระเนตรโครงการเกี่ยวกับงานชลประทาน
อันเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษด้วย
เนื่องเพราะโครงการเหล่านั้น
จะยังประโยชน์ให้กับเกษตรกร และราษฏรของพระองค์ที่จำเป็นต้องใช้น้ำในการเพาะ
ปลูกพืชไร่ นา สวน อีกทั้งยามน้ำหลาก เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ
ทั้งหลายก็จะเป็นที่กักเก็บน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมอันเป็นความเดือดร้อนของพสกนิกรของพระองค์
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2519
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ จากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังสวนป่าแม่ทรายคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ทอดพระเนตรโครงการปรับปรุงเหมืองฝายในลำน้ำแม่มอน อำเภอแจ้ห่ม
นายอำนวย คอวนิช
ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในขณะนั้น
เฝ้ารับเสด็จและถวายรายงานสรุปกิจการของสวนป่าแม่ทรายคำ หลังจากนั้น
ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“...ควรสำรวจตลอดแนวลำน้ำในเขตสวนป่า
และปลูกพืชชนิดใบหนาเป็นพุ่มปกคลุมบริเวณต้นน้ำ เพื่อรักษาต้นน้ำ
ตลอดจนการสร้างฝายปิดกั้นน้ำ เพื่อส่งน้ำทั่วบริเวณเพาะปลูก..”
พระราชดำรัสถึงพืชชนิดใบหนาปกคลุมต้นน้ำ
ก็ไม่แตกต่างไปจากพระราชดำริหญ้าแฝก ป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน
เดียวกันนั้น
เสด็จฯโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อำเภอแจ้ห่ม นายยุทธ กิ่งเกตุ
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 จังหวัดลำปาง
เฝ้ากราบบังคมทูลรายงานโครงการปรับปรุงเหมืองฝายทั้ง 3 ในลำน้ำแม่มอน
ได้แก่ฝายแม่เลียบซ้าย ฝายแม่เลียบขวา และฝายแม่มอนเดิม
จากนั้นทรงพระดำเนินระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ไปยังฝายแม่เลียบซ้าย ซึ่งอยู่ระหว่างซ่อมแซม ในการนี้มีพระราชดำรัส
ใจความสำคัญว่า
“...เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายควรส่งเสริมให้ราษฏรทำการเพาะปลูกพืชตามฤดูกาล
โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้แนะนำในด้านหลักวิชาการเกษตร ตลอดจนการศึกษาภาวะด้านการตลาด ทั้งนี้จะได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น
และเป็นการใช้น้ำทางด้านชลประทานอย่างคุ้มค่ากับการลงทุนสร้างฝาย นอกจากนั้น
ยังเป็นการช่วยบรรเทาอุทกภัยได้อีกด้วย”
พระราชดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นพระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการด้านชลประทาน
ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลในการสร้างเขื่อน สร้างฝายว่า
จะเป็นประโยชน์ทั้งในการกักเก็บน้ำ และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมด้วย
จะเห็นได้ว่า
งานด้านการชลประทานนั้น เป็นงานสำคัญที่พสกนิกรชาวจังหวัดลำปาง
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนในจังหวัดอื่นๆ
ซึ่งงานชลประทานดังกล่าว ได้ฉายให้เห็นความใส่พระทัย
ครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระราชอนุชาแล้ว
โดยครั้งประทับอยู่ที่โรงเรียนเลอ
ฟัวเย่ ในปี ๒๔๗๗ ขณะพระชันษา 7 ปี
“ได้ทรงสังเกตและจำวิธีที่เขาใช้ในการนำน้ำมาใส่ในอ่างให้เด็กเล่น
เขาไปเอาน้ำมาจากลำธารที่ไหลใกล้ๆ ทำทางตื้นๆให้น้ำไหลลงมาได้ เอาดินเหนียวใส่ลงไปในทางและเอาขวดไปถูให้เรียบ”
(จากหนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์) ในกาลต่อมาน้ำและเขื่อนเมื่อทรงพระเยาว์
ก็ได้กลายเป็นน้ำและเขื่อนที่ยังประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยามจนถึงวันนี้
พระองค์ไม่ทรงโปรดที่จะมี
“พระบรมราชโองการ” หากแต่มีพระราชประสงค์ที่จะมีเพียง “พระราชดำริ” ซึ่งบุคคล
ข้าราชการที่เกี่ยวข้องอาจถวายคำแนะนำเป็นอย่างอื่นได้
แต่น่าแปลกอย่างยิ่งที่พระราชดำริของพระองค์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับฝาย
เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ได้มีผู้น้อมนำไปปฏิบัติและเห็นผล
ดั่งคราวเมื่อเสด็จเหมิองฝายในลำน้ำแม่มอน สามปีต่อมา
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2522 ได้เสด็จไปทอดพระเนตรโครงการชลประทาน
ฝายทดน้ำแม่มอนซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริอีกวาระหนึ่ง
ปรากฏว่าได้ช่วยเหลือขจัดความเดือดร้อนของราษฏรได้อย่างดียิ่ง
เป็นที่พอพระราชหฤทัย
นี่เป็นสิ่งที่สมควรปิติยินดี
ว่า คงไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดอีกแล้วในโลกนี้
ที่จะเอาพระทัยใส่ความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฏรถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะคนลำปาง
พ.ศ.นี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1150 วันที่ 13 - 19 ตุลาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น