วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ถมดินทับลำห้วยเก่าสาเหตุดินทรุดรุกที่ป่าสร้างบ้าน

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

ป่าไม้ยันพื้นที่ดินทรุดแม่เมาะเป็นเขตป่า ถูกจับจองทำกินก่อนปี 45 อยู่ระหว่างตรวจสอบเจตนาการบุกรุก ด้านทรัพยากรธรณีเผยเหตุดินทรุดเพราะเป็นดินถมใหม่ แนะ2ทางเลือก ขุดออกหรือทำกำแพงขั้น  นายอำเภอแม่เมาะแจงเรื่องให้การช่วยเหลือ ชาวบ้านไม่ประสงค์ขอรับ และไม่กลับเข้าอยู่อาศัยจะใช้เป็นพื้นที่ทำกินเหมือนเดิม

 จากเหตุการณ์ดินทรุดตัวแยกออกจากกัน บริเวณบ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  ส่งผลกระทบให้บ้านเรือน 9 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหาย ผู้อยู่อาศัยรวม 22 คน ต้องขนย้ายข้างของออกจากบ้าน เพื่อไปอาศัยบ้านญาติ และบางรายได้อาศัยห้องพักที่หน่วยงานจัดไว้ให้เป็นการชั่วคราวก่อน เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 60 ที่ผ่านมา

นายเด่นโชค  มั่นใจ  ผอ.ส่วนธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยกรธรณี เขต 1 ลำปาง  กล่าวว่า สรุปจากการเจาะสำรวจ พบว่ามีดินอยู่ 2 ชั้น คือชั้นบนกับชั้นล่าง ช่วงกลางบางส่วนของดินชั้นบนเป็นดินถมปะปนอยู่กับดินธรรมชาติ ซึ่งการถมดินไปถมอยู่บริเวณร่องน้ำเก่า เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงทำให้น้ำไหลเข้าไปตามร่องน้ำเดิม ทำให้ดินที่ถมรอบข้างทั้งหมดโดยรอบพื้นที่ 8 ไร่กว่า เคลื่อนตัวไปทั้งหมดประมาณ 2 เมตรจากพื้นที่ดินลงไป   ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรธรณีได้เสนอไปทางจังหวัดแล้ว ถึงแนวทางป้องกัน 2 ทางเลือก คือ ทางแรก ต้องขุดเอาหน้าดินชั้นบนที่หนา 2 เมตรออกทั้งหมดในพื้นที่ 8 ไร่  มีดินอยู่ประมาณ 2.5 หมื่นคิว  และอีกทางคือต้องขุดตั้งเสาทำกำแพงกั้นดิน ดินลำห้วยใหญ่ด้านล่าง ความยาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งเสาจะต้องปักลึกอย่างน้อย 4 เมตร และโผล่ขึ้นจากพื้นประมาณ 2 เมตร เพื่อให้ดินหยุดการเคลื่อนตัวและทำการบดอัดเข้าไปใหม่   กรณีการถมดินโดยไม่มีกำแพงกั้นก็จะมีการเคลื่อนตัวของดินอีก  ถ้าขุดออกจะถาวรกว่าเพราะดินชั้นล่างที่เป็นดินเดิมแข็งแรง ทาง กฟผ.แม่เมาะได้มาเจาะสำรวจระดับความลึก 20 เมตร พบว่าดินชั้นล่างเสถียรและแข็งแรง  ซึ่งอยู่ที่ทางจังหวัดจะเลือกวิธีใด 

ผอ.ส่วนธรณีวิทยา  กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการรื้อบ้านออกไป 3 หลัง อีก 5 หลังมีร่องรอยความเสียหายเล็กน้อย จึงยังไม่ได้รื้อออก ซึ่งอยู่ที่ระดับอำเภอและระดับจังหวัดจะดำเนินการอย่างไร  ตนได้แต่เพียงแนะนำว่าจะรื้อบ้านออกก่อนและปรับพื้นที่ใหม่  กรณีถ้าจะทำกำแพงกั้นแต่ไม่รื้อบ้านที่เหลือออกได้หรือไม่นั้น ต้องสอบถามทางวิศวกรของทางเทศบาลตำบลแม่เมาะเป็นผู้ประเมินจะดีกว่า

นายเด่นโชค กล่าวอีกว่า ช่วงสิ้นเดือน พ.ย.60  ทาง ม.เกษตรศาสตร์จะเข้าไปสำรวจพื้นที่เพิ่มทางธรณีฟิสิกซ์ เพื่อเป็นการศึกษา เนื่องจากว่ากรณีนี้พิเศษที่ความชันมีน้อย แต่ดินเคลื่อนตัวได้มาก ซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลเป็นกรณีศึกษาของนักศึกษาปริญญาตรี

ด้านนายเจษฎา อเนกคณา หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป.18 (แม่เมาะ) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบริเวณพื้นที่ดินทรุด บ้านห้วยคิง อ.แม่เมาะ จากพิกัดตามแผนที่ดาวเทียม พบว่ามีการจับจองพื้นที่เข้าทำกินก่อนปี 2545  แต่มีการปลูกบ้านพักอาศัยช่วงปี 2556  ซึ่งตามระเบียบ คสช.ใหม่ ระบุว่าถ้ามีการรุกป่าหลังปี 2557 ให้จับกุมได้ทันที แต่กรณีที่มีการจับจองพื้นที่ก่อนปี 57 จะต้องมีการตรวจสอบเจตนาก่อนว่าเข้าไปใช้พื้นที่ทำอะไร เป็นการทำกิจการเพื่อหวังผลประโยชน์หรือไม่ แต่ขณะนี้เรื่องเกิดขึ้นมาได้ไม่นานมากนัก จึงให้ประชาชนได้หาที่อยู่อาศัยใหม่ได้เรียบร้อยก่อน ให้ชะลอการตรวจสอบออกไป เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย   แต่คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้จะดำเนินการเรียบร้อย และจะต้องส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการระดับอำเภอพิจารณาต่อไป 

ขณะที่นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ  กล่าวว่า  การเข้าครอบครองพื้นที่ทำกิน ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าครอบครองได้ก็สามารถทำกินได้ แต่กรณีของทั้ง 8 ราย  จะย้ายออกจากพื้นที่แล้ว แต่ก็จะไม่รื้อถอนออก จะใช้พื้นที่ทำการเกษตร จึงไม่ประสงค์ขอเงินเยียวยาจากทางราชการ เพราะแต่ละคนก็มีบ้านของญาติพี่น้องและลูกหลานอยู่  ก็จะย้ายไปอยู่กับทางญาติ ซึ่งทางอำเภอจะรายงานให้ทางจังหวัดทราบต่อไป

สำหรับพื้นที่บริเวณนั้นคาดว่าจะมีการถมดินกันมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่การก่อสร้างถนนเส้นทางที่จะเข้ามาสู่ อ.แม่เมาะ อาจจะมีการนำดินไปถมไว้หรือเป็นจุดพักกองดิน เมื่อเวลาล่วงเลยมานานจึงได้มีการอัดแน่นลงไปในพื้นที่ กระทั่งมีการมาจับจองเป็นที่ทำกินดังกล่าว

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าว เปิดเผยว่า ผู้พักอาศัยทั้ง 8 รายนั้นไม่ใช่เจ้าของตัวจริง แต่มาเช่าบ้านพักอาศัยอยู่ โดยทางเทศบาลตำบลแม่เมาะก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ เนื่องจากเป็นบ้านไม่มีเลขที่ และสร้างอยู่ในพื้นที่ป่า ขณะที่เจ้าของตัวจริงก็ไม่ได้ออกมาแสดงตัวรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1153 วันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์