วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ถ่ายพลาสม่ารักษาช้าง ครั้งแรกในไทยยกนิ้วสัตวแพทย์

จำนวนผู้เข้าชม

ทีมสัตวแพทย์เผยให้พลาสม่าช้างสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย  สุดปลาบปลื้มช่วย “พลายบุญภัคร” ช้างป่วยอาหารติดคอรอดชีวิต อีกทั้งได้วิชาการและองค์ความรู้ใหม่ต่อยอด ขณะที่เจ้าของช้างตั้งกองทุนจากรายได้ของพลายบุญภัคร เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือช้างป่วยเชือกอื่นๆ

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 60 เวลา 09.30 น. นายภพปภพ ลรรพรัตน์  ผอ.สถานบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.อ.ป. พร้อมด้วย น.สพ.ทวีโภค อังควณิชย์  สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย น.สพ. ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์  ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม  ผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์  ตั้งจิตเจริญ  จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่  รศ.ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนะไพศาล  จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่  นายธีรภัทร ตรังปราการ เจ้าของช้าง ฟาร์มช้างภัทร อ.หางดง จ.เชียงใหม่  ร่วมกันแถลงข่าวการประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือช้างพลายบุญภัคร ช้างเพศผู้วัย 25 ปี จากอาการป่วยมีเศษอาหารติดอยู่ในหลอดลม ซึ่งในการรักษาต้องวางยาสลบช้างถึง 4 ครั้ง แต่ทีมสัตวแพทย์ก็ไม่ย่อท้อ จนสามารถช่วยชีวิตพลายบุญภัทรไว้ได้

นายภพปภพ ลรรพรัตน์  ผอ.สถานบันคชบาลแห่งชาติฯ กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 19 ก.ย.60 โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้รับตัวพลายบุญภัคร ช้างเพศผู้ วัย 25 ปี มีอาการสำรอกหลังจากการกินอาหารอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ เข้าทำการรักษา จากการตรวจวินิจฉัย ทีมสัตวแพทย์เห็นควรว่าต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียด โดยวางแผนที่จะทำการวางยาสลบทั่วตัวเพื่อตรวจภายในหลอดอาหารด้วยเครื่องส่องตรวจกระเพาะอาหารและหลอดลมในเบื้องต้น เพื่อหาสาเหตุของอาการป่วยดังกล่าว

น.สพ.ทวีโภค อังควณิชย์  สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย กล่าวว่า วิธีการรักษา ได้เริ่มทำการวางยาสลบครั้งที่ 1 ในวันที่ 21 ก.ย.60  ได้ทำการสอดกล้องซึ่งมีความยาว 1.5 เมตรเข้าไปตรวจสอบ และพบว่ามีเศษอาหารอุดตันในทางเดินอาหารส่วนต้น(หลอดอาหาร) จึงทำการล้วงออกได้บางส่วนในระยะที่มือเข้าไปถึง ซึ่งยังคงมีเศษอาหารติดค้างอยู่ภายในอีกจำนวนมาก ทีมงานที่ทำการรักษาได้วางแผนออกแบบอุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ โดยขอความช่วยเหลือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้จัดทำอุปกรณ์ช่วยเหลือ และทำการวางยาสลบในครั้งที่ 2 วันที่ 26 ก.ย.60 แต่พบว่าอุปกรณ์ที่ออกแบบมานั้นยังไม่สามารถช่วยนำสิ่งอุดตันออกมาได้ทั้งหมด  จึงต้องวางแผนการวางยาสลบในครั้งที่ 3 อีกครั้ง แต่เนื่องจากผลข้างเคียงจากการวางยาสลบมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ช้างมีอาการอ่อนแรงลง รวมกับร่างกายขาดน้ำและอาหาร จึงต้องหาแนวทางที่จะช่วยเหลือช้างให้แข็งแรงเพื่อพร้อมที่จะวางยาสลบได้  ประกอบกับต้องมีการพัฒนาอปุกรณ์ให้ดียิ่งขึ้นควบคู่กันไป

ผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์  ตั้งจิตเจริญ  จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่  กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพบว่าช้างมีร่างกายอ่อนแรงลงมาก ทางทีมงานจึงได้หาวิธีที่จะทำการช่วยเหลือช้าง จึงให้สารให้ความหวาน คือกลูโคสผ่านทางการสวนทวาร ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้ทราบได้ว่าช้างสามารถดูดซึมกลูโคสด้วยวิธีการสวนทวารได้  นอกจากนั้นจึงคิดวิธีที่จะทำให้ช้างแข็งแรงขึ้น โดยการให้พลาสม่าจากช้างเชือกที่แข็งแรง ได้ทำการตรวจเลือดช้างจำนวน 8 เชือก เพื่อคัดเลือกช้างที่แข็งแรงที่สุดมาทำการเจาะเลือด และนำเลือดมาแยกออกเป็นพลาสม่า เพื่อเปลี่ยนถ่ายให้กับพลายบุญภัทร เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างการและระดับโปรตีนในกระแสเลือด  เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน วันละ 20 ยูนิต รวม 60 ยูนิต หรือเท่ากับ 300 ซีซีต่อวัน  จากนั้นจึงได้ทำการวางยาสลบครั้งที่ 3 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ  กระทั่งมีการวางยาสลบครั้งที่ 4 วันที่ 7 ต.ค.60  ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ สามารถนำสิ่งอุดตันออกมาได้ รวมระยะเวลาในการรักษา 19 วัน

ด้าน น.สพ. ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์  กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือการวางยาสลบช้าง เนื่องจากผู้ที่ใช้ยาจะต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี เพราะยาตัวนี้ไม่สามารถถูกตัวคนได้เลย ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  ที่ผ่านมาเคยมีการอบรมการใช้ยาสลบกับช้างที่สุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน แต่กับพลายบุญภัครเป็นช้างป่วย เป็นเคสเดียวจากประสบการณ์ที่เคยพบว่า ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของสัตวแพทย์ไทย  

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าช้างที่ป่วยในลักษณะนี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ช้างก็เสียชีวิตลง มีช้างไม่น้อยกว่า 20 เชือกที่ไม่สามารถรักษาได้  แต่เชือกนี้ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนประสบความสำเร็จ และถือว่าเป็นการต่อยอดวงวิชาการ องค์ความรู้ ความก้าวหน้าในวิทยาการช่วยเหลือ ช้างเลี้ยงเพียงเชือกเดียวแต่มูลค่าไม่สามารถประเมินได้ น.สพ.ดร.บริพัตร กล่าว

ขณะที่ นายธีรภัทร ตรังปราการ เจ้าของช้าง ฟาร์มช้างภัทร กล่าวว่า  ได้เลี้ยงพลายบุญภัครมาตั้งแต่อายุ 10 ปี  เป็นช้างที่นิสัยดี ไม่ดุร้าย แต่จะขี้กลัว สาเหตุจากการที่อาหารติดคอเนื่องมาจากตกใจที่เห็นช้างเชือกอื่นเดินผ่านจึงได้กลืนอาหารอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการป่วย ในการรักษาตั้งแต่การวางยาสลบเป็นครั้งที่ 2 ก็ทำใจแล้วว่าช้างจะล้มได้ทุกเมื่อ แต่สิ่งที่ได้เห็นคือความร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือพลายบุญภัครจากทีมสัตวแพทย์และทีมงานทุกคน ทำกันอย่างเต็มความสามารถช่วยชีวิตพลายบุญภัทรเอาไว้ได้ รู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง หลังจากนี้จึงจะได้มีการตั้งกองทุนขึ้น เพื่อนำรายได้ที่ได้จากพลายบุญภัครรวบรวมไว้เพื่อนำไปรักษาช้างป่วยเชือกอื่นๆต่อไป เหมือนที่พลายบุญภัครได้รับการต่อชีวิตจากช้างอีกเชือกหนึ่งโดยการได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า ถือว่าเป็นหนึ่งชีวิตต่ออีกหนึ่งชีวิต

ปัจจุบันพลายบุญภัครมีอาการดีขึ้น สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ปัจจุบันพลายบุญภัครมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นและคาดว่าจะสามารถกลับบ้านได้เร็วๆนี้

ทั้งนี้  หน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมมือกันจนการรักษาประสบความสำเร็จได้นั้น ประกอบด้วย สำนักพระราชวังทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ อ.อ.ป.  องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ธนาคารเลือด โรงพยาบาลลำปาง  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอห้างฉัตร

ฟาร์มช้างภัทร  มูลนิธิเพื่อนช้าง  มูลนิธิ โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียนเอเลเฟนท์  คลินิกปางช้างแม่แตง

ปางช้างแม่สา โรงพยาบาลสัตว์ pet lover  บริษัท โกสินทร์เวชภัณฑ์ จำกัด  และ บริษัท เมิร์จ คอมพาเนี่ยน (ประเทศไทย) จำกัด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่1156 วันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์