วันที่ 26 ธันวาคม 2560 นายแพทย์อดิศัย
ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ให้การต้อนรับและเป็นประธานเปิดกิจกรรม
LPCH Open House 2017 ณ ห้องประชุมนายแพทย์สุรทัศน์ พงษ์นิกร
ชั้น 5 อาคารรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์
โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จัดโดยคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและการทำงานร่วมกับชุมชน
กิจกรรมประกอบด้วย
การบรรยายสรุปภารกิจของโรงพยาบาลมะเร็งลำปางและเปิดให้เข้าดูงานตามหน่วยงานต่างๆเช่น
กลุ่มงานผู้ป่วยนอก รังสีรักษา เคมีบำบัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์และแผนกรังสีวินิจฉัยของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ สื่อมวลชนในจังหวัดลำปาง อสม.และประชาชน กว่า 150 คน
นายแพทย์อดิศัย
ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวถึงจุดประสงค์ของกิจกรรมดังกล่าวว่า
เนื่องในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ
จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์พันธกิจ วิสัยทัศน์ และภารกิจในการให้บริการด้านโรคมะเร็ง เช่นการตรวจวินิจฉัย บำบัด รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ภารกิจด้านวิชาการ
การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์และอื่นๆ อีกทั้ง
ยังเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดีต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ในการทำงานร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้นายแพทย์ดลสุข พงษ์นิกร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์
โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในปัจจุบันว่า
จากสถิติกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2559 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับแรกจากสาเหตุการตายทั้งหมด
ด้วยอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 113.7
ต่อประชากร 100,000 ราย รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ และโรคหัวใจตามลำดับสำหรับภาคเหนือ จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ในภาคเหนือมีทั้งหมดประมาณ16,860 รายต่อปีโรคมะเร็งพบมากในเพศชายมากกว่าหญิง
ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดโรคมะเร็งของภาคเหนือต่อปี
เพศชายเท่ากับ 155.7 ต่อประชากร 100,000 ราย และในเพศหญิงเท่ากับ 143.7
ต่อประชากร 100,000 ราย สำหรับจังหวัดลำปางโรคมะเร็งที่พบมาก
3 อันดับแรก เพศชายได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ (อัตราการเกิดเท่ากับ
37.8, 35.9 และ 13.2 ต่อ ประชากร 100,000
ราย ตามลำดับ) สำหรับเพศหญิงโรคมะเร็งที่พบมาก 3 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งเต้านม
มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก (อัตราการเกิดเท่ากับ 25.6, 20.2
และ 15.0 ต่อ ประชากร 100,000 ราย ตามลำดับ)
โรคมะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดลำปางได้แก่ มะเร็งตับ
มะเร็งลำไส้ตรง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม
สำหรับมะเร็งที่มีแนวโน้มลดลงได้แก่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก
โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งระดับตติยภูมิ สังกัดกรมการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการวินิจฉัย รักษา
และรับ-ส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งในเขตภาคเหนือสามารถให้บริการครบวงจรทุกมิติของการรักษาโรคมะเร็ง
ทั้งการฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์
และการรักษาแบบประคับประคอง โดยจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ล่าสุดปีพ.ศ.2559 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด2,487 รายต่อปี แยกเป็นเพศชายจำนวน
992 ราย (ร้อยละ 39.9) เพศหญิงจำนวน 1,495 (ร้อยละ 60.1) เมื่อแยกตามชนิดของโรคมะเร็งรวมเพศชาย-หญิง
พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากที่สุด 607 ราย รองลงมาได้แก่ มะเร็งปอด 371 ราย
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 293 ราย มะเร็งปากมดลูก 193 ราย
และมะเร็งตับและท่อน้ำดี 157 รายตามลำดับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดลำปางร้อยละ
28.9 รองลงมาได้แก่ เชียงราย แพร่ พะเยา และน่าน ตามลำดับ
ประเภทการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ส่วนใหญ่มารับบริการรังสีรักษามากกว่าร้อยละ 60 (ผู้ป่วยมะเร็งรังสีรักษาปี
2559 จำนวน 1700 ราย)
ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งมีความก้าวหน้าทั้งเทคโนโลยีและยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
แนวโน้มของอัตรารอดชีพโรคมะเร็งดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและชนิดของโรคมะเร็ง โดยพบว่าโรคมะเร็งเต้านม
และมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ปัจจุบันสามารถรักษาหายขาดได้ อัตราการรอดชีพของที่
5 ปีหลังการวินิจฉัยมากกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรก
อัตรารอดชีพที่ 5 ปี มีมากกว่าร้อยละ 95แต่ทั้งนี้โรคมะเร็งปอด และ
มะเร็งตับยังเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตรารอดชีพต่ำ การอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งที่ 5
ปีหลังการวินิจฉัย มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เนื่องจากเป็นมะเร็งที่มักตรวจพบในระยะลุกลาม
การป้องกันโรคมะเร็ง
มีหลักการง่ายๆ คือ 5 ทำ 5 ไม่ โดยกิจกรรมที่ควรทำ “5 ทำ” ได้แก่
1.ออกกำลังกายประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
2.ทำจิตแจ่มใส 3.กินผักผลไม้สดให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม เพราะมีสารต้านมะเร็ง เช่น
วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน เส้นใยอาหารทำให้ระบบขับถ่ายดี 4.กินอาหารให้หลากหลาย
ใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ลดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง ทอดไหม้เกรียม
หมักดองเค็ม และ 5.ตรวจร่างกายเป็นประจำ สิ่งที่ไม่ควรทำมี “5 ไม่”คือ
1.ไม่สูบบุหรี่ 2.ไม่มั่วเซ็กซ์ 3.ไม่ดื่มสุรา โดยผู้ที่ดื่มสุรามากกว่าวันละ 3
แก้ว จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง 9 เท่าของคนไม่ดื่ม 4.ไม่ตากแดดจ้า และ 5.ไม่กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบๆ
ทั้งนี้ประชาชนสามารถสังเกตสัญญาณผิดปกติ
สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งมี “7 สัญญาณอันตราย” ได้แก่
1.มีเลือดออก หรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่น ตกขาวมากเกินไป
2.มีก้อนเนื้อ หรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย และก้อนนั้นโตเร็ว
3.มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก 4.ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม
5.เสียงแหบ หรือไอเรื้อรัง 6.กลืนอาหารลำบาก หรือทานอาหารแล้วไม่ย่อย และ 7.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ
หากมีอาการเหล่านี้ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1161 วันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 11 มกราคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น