เมื่อคุณค่าและฝีมือคือทางออกของอาชีพที่อยู่รอดในยุคเทคโนโลยีมาแทนที่ งานฝีมือตัดเย็บชุดเครื่องลาก หรือเทียมรถม้า
จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หาใครจะเลียนแบบกันได้ยาก ‘เสกสรรค์
ฟูเต็มวงค์’ ลูกหลานที่สืบทอดวิถีคนเลี้ยงม้า
และผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถม้าเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดลำปาง
ที่เลือกเส้นทางช่างตัดเย็บเครื่องเทียมรถม้า 1 ใน 3
ของจำนวนช่างที่เหลืออยู่ในลำปาง นอกเหนือจากกิจการให้บริการรถม้าของครอบครัว
“ผมเริ่มเรียนรู้การตัดเย็บเครื่องลากรถม้ามานานกว่า
20 ปี เพราะครอบครัวผมมีอาชีพให้บริการรถม้า ขับรถม้า เลี้ยงม้า เองแบบครบวงจร
ปัญหาที่ผมเจอคือ ชุดลากรถม้าหายาก ต้องสั่งตัด หากชำรุดก็ต้องรอช่างว่างซึ่งคิวยาวมาก
แต่เราต้องใช้งานเพราะหากชุดลากชำรุดก็มีผลต่อการออกรถม้าบริการ
ดังนั้นผมจึงสนใจทำเอง โดยนำแบบที่มีอยู่ซึ่งซื้อจากต่างประเทศ มาแกะแบบ วัดขนาด
ตัดเย็บด้วยเครื่องมือที่ดัดแปลงขึ้นเอง เช่น ใช้ตะปูเผาไฟ เจาะยางรถยนต์ หรือหนัง
เย็บด้วยด้ายเหนียวๆ ลองผิดลองถูก
เพื่อซ่อมชุดลากของตัวเองให้ใช้งานได้ คนขับรถม้าอื่นๆเห็นผมทำ ก็มาขอให้ช่วยซ่อม
ผมทำให้ฟรี ถือว่าเป็นการฝึกเรียนรู้”
เมื่อเก่งขึ้นจากงานซ่อม
เสกสรร ทดลองทำชิ้นงานขึ้นใหม่เรื่อยมา แต่ยังไม่ยึดเป็นอาชีพ
กระทั่งวันหนึ่งเขาป่วยด้วยโรคไทรอยด์ ออกไปขับรถม้าไม่ไหว จึงหยิบงานซ่อมและตัดเย็บเครื่องลากมาเป็นอาชีพสำรอง
อยู่กับบ้านในยามที่ป่วย ฝึกฝน หาเครื่องมือ แหล่งซื้อหนัง ซึ่งมีทั้งหนังวัว
หนังควาย และยางรถยนต์ 10 ล้อ มาเป็นวัสดุให้ลูกค้าเลือกตามความต้องการและงบประมาณ
บางส่วนทำเองเช่น การดัดเหล็กชุบเป็นหัวเข็มขัดสายรัดขนาดใหญ่
ทำให้เขากลายเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง
ลูกค้ารายแรกๆของเขาที่ผลักดันให้กลายเป็นมืออาชีพด้วยเช่นกัน
คือกลุ่มคนขายรถม้าของ ‘น้อย’ สุรกิจ เสาร์ใจ มักสั่งตัดเย็บชิ้นส่วนของชุดลากม้าไปทีละส่วน
มีผลต่อการตัดเย็บอย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันมีช่างจำนวนน้อยจึงทำให้เขากลายเป็นช่างที่มีลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นเกือบร้อยคน
สนนราคาค่าจ้างทำชุดลาก ซึ่งประกอบด้วย ชุดสวมหัวบังตา ชุดสวมอกลาก
ชุดสวมเบรคบั้นท้าย รวมในราคาราว 5,000 -10,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและวัสดุที่ใช้ เสกสรรบอกว่า
ใช้ในช่วงแรกๆที่เขาเริ่มทำงานตัดเย็บ
“เรื่องยากของงานตัดเย็บเครื่องลากม้า
มันไม่ใช่แค่การตัดเย็บ แต่เป็นเรื่องของความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับม้าที่ต้องมี
เพราะผมอยู่ในวงการนี้มาตั้งแต่เด็ก รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับม้า
การตัดเย็บจึงต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับขนาด และสายพันธุ์ของม้า เช่น ม้าแคระโพนี่จะมีองค์ประกอบเยอะเพราะต้องลากด้วยสองล้อ
เบรกต้องดี ชุดสวมต้องพอดี หรือม้าไทย ม้าฝรั่ง แต่ละสายพันธุ์ จะมีขนาดลำตัว
กว้างยาว สูง ไม่เท่ากัน เมื่อลูกค้าบอกข้อมูลมาว่าเขาจะตัดเครื่องลากสำหรับม้าชนิดไหน เราต้องทำได้พอดี
นี่คือความพิเศษที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เป็นข้อมูล การออกแบบตัดเย็บ
ใช้เวลาตัดเย็บ ประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีแก้ ยกเว้น ช่วงหัว หรือหน้า
ถ้าใส่ไม่พอดีเราก็แก้ไขให้ ลูกค้าจะได้รับของที่พอใจ”
ในปัจจุบันอาชีพนี้ถือว่าเป็นอาชีพที่เหลืออยู่น้อยมาก
เสกสรรบอกว่าเขายังรักที่จะทำอาชีพนี้ และเรียนรู้พัฒนาไปเรื่อยๆและสืบทอดไปถึงลูกหลาน
แม้จะไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้จนร่ำรวย
แต่มันคือความสุขเล็กๆของเขาที่ทำรายได้แบบที่ไม่ต้องทำงานหนักมาก
อาศัยภูมิความรู้ และฝีมือ
แถมยังเป็นส่วนหนึ่งของงานอดิเรกที่เหมือนกับเป็นการพักผ่อนคลายเครียด
แต่เป็นอาชีพที่สร้างมิตรภาพในหมู่อาชีพคนเลี้ยงม้าที่เขาภาคภูมิใจ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1161 วันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 11 มกราคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น