วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กำพล วัชรพล คนสำคัญ ยูเนสโก

จำนวนผู้เข้าชม

มีบางเรื่องราวในวงการหนังสือพิมพ์ที่เราควรภาคภูมิใจ เช่น จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่ก่อเกิดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย “ไทยลานนา” และเป็นจังหวัดที่เคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากที่สุดในประเทศ

แต่เราอาจไม่เคยรู้ หรือรู้แล้วก็ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ

เช่นเดียวกับเรื่องที่ควรเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์ทั้งระบบ คือการที่ ยูเนสโก ยกย่องให้นายกำพล วัชรพล เป็นคนสำคัญของโลก เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และมีผลงานดีเด่นด้านสื่อมวลชน

เป็นนักหนังสือพิมพ์คนแรกของประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติเช่นนี้

จากนายท้ายเรือ กลายเป็นผู้นำในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย

วิกีพีเดีย ให้ข้อมูลเส้นทางชีวิตของกำพล วัชรพล หรือ จ่าโทกำพล วัชรพล (27 ธันวาคม พ.ศ. 2462 -21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539)ไว้ว่า เป็น ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เสียงอ่างทอง, ข่าวภาพ, มูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคนแรกกำพล วัชรพล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2462 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม ที่กระท่อมหลังคามุงจาก หลังวัดดอนไก่ดี ริมคลองภาษีเจริญ ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายหลี (บิดา) และนางทองเพียร (มารดา) มีชื่อเดิมว่า แตงกวย ยิ้มละมัย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น นิพนธ์ ตามนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  มีพี่ร่วมมารดา 3 คน คือ นกแก้ว ทรัพย์สมบูรณ์  สยม จงใจหาญ และวิมล ยิ้มละมัย

กำพลจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดดอนไก่ดี และไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ เนื่องจากมารดามีอาชีพค้าข้าวเรือเร่ จำเป็นต้องพาลูกขึ้นเรือล่องไปตามแม่น้ำสายต่างๆ คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง และใช้ชีวิตส่วนมากบนเรือ

ราวปี พ.ศ. 2477 เมื่ออายุได้ 15 ปี กำพลเริ่มต้นการทำงานของตนเอง โดยเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารเรือเมล์ปล่องเขียว วิ่งระหว่างประตูน้ำอ่างทอง ถึงประตูน้ำภาษีเจริญ ระหว่างนั้นได้คบหาเป็นเพื่อนสนิทกับวสันต์ ชูสกุล ต่อมาเมื่อกำพลสอบเป็นนายท้ายเรือได้ ก็เข้าเป็นนายท้ายเรือ พันธุ์ทิพย์โดยมีวสันต์เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร

เมื่อปี พ.ศ. 2483 กำพลเข้ารับราชการทหารเรือ โดยเริ่มจากเข้าศึกษาที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาบรรจุเข้าประจำเรือหลวงสีชัง นอกจากนี้ กำพลยังเข้าร่วมรบในราชการสงครามใหญ่ 2 ครั้งคือ สงครามอินโดจีนในกรณีพิพาทระหว่างเขตแดนของไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่สอง) ในยุทธภูมิครั้งหลังนี้ ส่งผลให้กำพลได้รับพระราชทาน เหรียญชัยสมรภูมิเหรียญกล้าหาญ และเลื่อนยศขึ้นเป็นจ่าโท จากนั้นกำพลลาออกจากราชการในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เมื่ออายุ 28 ปี

กำพลได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516

ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 กำพลเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลักไทย ในสมัยที่เลิศ อัศเวศน์เป็นบรรณาธิการ อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างนั้นก็เป็นพนักงานหาโฆษณาไปพร้อมกันด้วย ต่อมากำพลชักชวนเลิศและวสันต์ ออกหนังสือฉบับพิเศษชื่อ นรกใต้ดินไทยที่เลิศเขียนขึ้นเป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์หลักไทย โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2,000 บาท

จากทุนส่วนตัวร่วมกับการหยิบยืม เมื่อพิมพ์จำหน่ายหักกลบลบหนี้แล้ว แบ่งเงินกันเป็นสามส่วน ยังมีเหลือไว้เป็นกองกลางอีก 6,000 บาท จากนั้นกำพลปรึกษากับเลิศและวสันต์ว่า น่าจะออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สักฉบับหนึ่ง จึงไปจดทะเบียนหนังสือพิมพ์กับกองบังคับการตำรวจสันติบาล ใช้ชื่อว่า ข่าวภาพรายสัปดาห์ โดยใช้ตราเป็นรูปกล้องถ่ายภาพ สายฟ้าและฟันเฟืองซ้อนกันอยู่ในวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ที่กำพลเป็นเจ้าของตลอดมา

ในระหว่างทำหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ รายวัน กำพลเข้าอุปสมบทที่วัดลาดบัวขาว ถนนตก กรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้ประณีตศิลป์ผู้เป็นภรรยา และวสันต์ร่วมกันบริหาร โดยเมื่อลาสิกขาบทแล้ว ก็กลับมาบริหารหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพต่อไป

ต่อมาเมื่อเกิดกบฏแมนฮัตตันขึ้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2494 มีพิธีส่งมอบเรือขุดสันดอนแมนฮัตตันจากอุปทูตสหรัฐอเมริกา โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ท่าราชวรดิษฐ แต่แล้วทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เข้าจี้นำลงเรือเร็วไปควบคุมตัวไว้ที่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนหน้ากองทัพเรือ รุ่งขึ้นเวลา 10.00 น.เศษ กำพลและเลิศเช่าเรือสำปั้นจากท่าปากคลองตลาด โดยกำพลเป็นฝีพายเรือมุ่งหน้าไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา หมายจะได้สัมภาษณ์จอมพล ป.และให้เลิศเป็นช่างภาพ

นี่คือบางส่วนชีวิตของจอมพลคนหนังสือพิมพ์ กำพล วัชรพล

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1161 วันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 11 มกราคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์