
ผู้ว่าลุยปรับแผนท่องเที่ยวชุมชน
ตัดงบ รื้อโครงการจัดเองดูกันเอง เน้นตอบโจทย์การพัฒนาเป็นรูปธรรมแนวเดียวกัน
นำร่องดอยแม่แจ๋ม เส้นทางเที่ยวธรรมชาติ จุดชมวิว แหล่งปลูกกาแฟ เป็นเป้าหมายแรก ขณะเดียวกันให้นโยบายปลูกดอกไม้บานเที่ยวได้ตลอดปี
พร้อมติดป้าย แคมเปญ “ลำปางปลายทางฝัน” ทั้งจังหวัด
จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยวชุมชน
เพื่อกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาไปทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.
2560 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายทรงพล สวาทธรรม
ได้กำหนดมุ่งเป้าหมายตามนโยบายเชิงรุกและรับ ตอบโจทย์แคมเปญด้านการท่องเที่ยว
ลำปางปลายทางฝัน จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการ
ส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านแผนงาน งบประมาณ และขั้นปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว
ปรับตัดงบประมาณ และปรับโครงการที่จัดอีเว้นท์ดูกันเองให้ลดความสำคัญลง
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการได้ออกตรวจพื้นที่หลายอำเภอ
พบว่าทุกจุดที่ศักยภาพอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดได้อีก เช่น อำเภอแม่เมาะ
มีจุดขายดอกบัวตอง แต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ ที่ดอกบัวตองบาน แต่อาจจะต้องปลูกดอกไม้ชนิดอื่น
ให้สามารถเที่ยวได้ตลอดปี นอกจากนี้ลำปางยังมีจุดขายที่พร้อมผลักดันอีกหลายแห่งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยความสดใหม่และแตกต่างจากเดิม
โดยการเติมบรรยากาศและจุดเช็คอิน จุดถ่ายภาพเพื่อเอื้อต่อการแชร์ออกสู่โลกโซเชียล
ที่มีป้ายคำว่าลำปาง และ แคมเปญลำปางปลายทางฝันในจุดสำคัญของลำปาง ใช้ตัวอักษร “ลำปางปลายทางฝัน”
วางตำแหน่งที่ ด้านน้าภูเขา เหมือนฮอลิวูด
ในพื้นที่รอบนอกตัวเมือง
หลายจุดพบว่า ดอยแม่แจ๋ม อ.เมืองปาน เป็นจุดที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว
ที่สามารถเชื่อมโยงกับเชียงใหม่ได้ เพราะมีเขตติดต่อกันเดินทางสะดวก
แม่แจ๋มมีแหล่งปลูกกาแฟดี รวมถึงกาแฟที่มีชื่อเสียงดีรางวัลจากต่างประเทศอย่างกาแฟบรูโน
ที่สำคัญดอยแม่แจ๋ม มีจุดชมวิวที่ดีมาก ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม
โดยอาศัยงบประมาณจากส่วนท้องถิ่น หรือ การบูรณาการแบบประชารัฐ ทั้งนี้มองว่าจุดนี้
น่าจะทำ Sky
Walk ได้ในอนาคต โดยจะต้องหาทีมสถาปนิกมาช่วยออกแบบ ขณะเดียวกัน
จะต้องพัฒนา ดอยป่าเหมี้ยงซึ่งมีดอกเสี้ยวบาน ให้มีสีสันกิจกรรมเที่ยวตลอดทั้งปี
ดอกบัวดิน ที่อุทยานฯแจ้ซ้อน เป็นเส้นทางคอมโยงกัน โดยจะจัดมหกรรมดนตรี แจ้ซ้อนมิวสิคเฟสติวัล ชมพระจันทร์ที่ลำปาง
จุดที่ 2 คือ
บ้านหลุก อ.แม่ทะ จะต้องปรับภูมิทัศน์ให้พร้อมรับการขายโปรแกรมการท่องเที่ยวให้ชัดเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาต้อง
สัมผัสบรรยากาศว่าเข้ามาถึงหมู่บ้านแกะสลัก
ส่วนพื้นที่จุด 3 คือพื้นที่เกษตร ของกลุ่มฮักน้ำจาง อ.แม่ทะ ให้เป็น ฟาร์มสเตย์ (Farm Stay) ซึ่งมีร่างโครงการพัฒนาอยู่แล้วแต่
ต้องปรับอีกมากเพราะโครงการที่เขียนเอาไว้ในรูปแบบของการเน้นด้านการตกแต่ง
และสร้างบ้านพัก ซึ่งบางส่วนไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ควรจะใช้ไม้ไผ่
หรือวัสดุธรรมชาติ แล้วเพิ่มเติมการพัฒนาในส่วนของการทำเกษตรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีเกษตร
มากกว่าสิ่งตกแต่งที่ไม่สื่อความเป็นท้องถิ่น
สำหรับในตัวเมือง แหล่งท่องเที่ยว Street Art ที่กาดกองต้า ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์
แต่จำเป็นต้องสร้างจุดขายที่สร้างการจดจำ
ขณะเดียวกันต้องหาแนวร่วมในการพัฒนาถนนริมแม่น้ำวัง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
และหางบประมาณไปพัฒนาให้เป็น River Street Art ให้มีสัญลักษณ์ของไก่ลำปางลักษณะต่างๆให้นักท่องเที่ยวเดินชม
เพลิดเพลิน เช่น ไก่เขี่ย รอยตีนไก่ให้มีเรื่องราว
จากการประชุมดังกล่าว
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนบางส่วน ให้ความเห็นว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเหมือนต่างคนต่างทำในแต่ละพื้นที่
หากทางผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดแนวทางร่วมกันในทิศทางเดียวกันชัดเจน
ก็เชื่อว่าน่าจะมีผลต่อการผลักดันการท่องเที่ยวระดับจังหวัด แต่ก็เป็นห่วงในเรื่องงบประมาณท้องถิ่นมีน้อย
ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ยืนยันว่า งบประมาณที่มีพร้อมใช้ขณะนี้มี วงเงิน 9.5 ล้านบาท
ให้กับทาง สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาดูแลบริหารจัดการ
หากหน่วยงานไหนมีกิจกรรมที่เข้ากรอบการพัฒนาเป็นรูปธรรม
หรือตามแนวนโยบายที่หารือในครั้งนี้สามารถขอใช้งบประมาณได้ และยังได้
ขอให้ทุกหน่วยงานำอักษรสโลแกน “ลำปางปลายทางฝัน” ซึ่งเป็นอักษรสไตล์ล้านนา
ที่จังหวัดทำไว้ ไปใช้ให้เป็นธีมเดียวกันทั้งจังหวัดตลอดทั้งปี
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1158 วันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น