ผู้ว่าฯเผยการทบทวนและปรับงบพัฒนาจังหวัดเป็นเรื่องปกติ
เหตุจากพบโครงการซ้ำซ้อน ไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ต้องทำงานถึงลูกถึงคนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
ถามชาวลำปางคาดหวังให้ผู้ว่าฯอยู่เฉยๆหรือต้องการพัฒนา
ระยะเวลาเพียง
2 เดือนกว่า หลังจากนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม
เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มีการกำหนดนโยบาย 12 วาระ ตามแผนงาน “ลำปางสร้างสรรค์ ปันสุข 2561
- 2562” โดยทั้ง 12 วาระ
จะประกอบไปด้วยแผนการพัฒนาเมือง ชุมชน และทรัพยากรบุคคลในเรื่องต่างๆ อาทิ
แผนการพัฒนาอนุรักษ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมสืบสานประเพณีพื้นถิ่น, งานด้าน การพัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม, แผนการพัฒนาส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้ลำปางเป็นเมืองต้องแวะชม,
แผนการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร, การพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง,
การพัฒนาคนสู่ชุมชนฐานรากเข้มแข็ง
สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้สู่จุดนัดพบของคนรุ่นใหม่
สร้างสวัสดิการให้ทั่วถึงสู่เมืองอารยสถาปัตย์ และส่งเสริมการทำงานแบบ
บูรณาการตามหลักประชารัฐ พร้อมกับได้มีการลงพื้นที่ไม่เว้นแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์ภาพและข้อมูลต่างๆผ่านทางเฟสบุ๊กส่วนตัวของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเอง
รวมไปถึงกระแสของการปรับลดงบประมาณในกิจกรรมต่างๆของจังหวัดลำปาง
ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู
นายทรงพล
สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า ก่อนมาลำปางมีโอกาสรู้ข้อมูลของ
จ.ลำปางค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะแผนพัฒนาจังหวัดที่ดูละเอียดมาก รวมถึงแผนพัฒนาอำเภอของทุกอำเภอ
และภาคเอกชนด้วยเช่นกัน จึงสามารถวางแผนงานได้ออกเป็นการเดินหน้า “ลำปาง
สร้างสรรค์ ปันสุข”
ซึ่งเป็นการดึงนโยบายระดับชาติลงมาไปถึงนโยบายในพื้นที่
ค่อนข้างจะครอบคลุมทั้งหมด
แต่สิ่งสำคัญคือการลงพื้นที่ดูของจริง
ดังนั้นในช่วง 2 เดือนที่มา จ.ลำปาง จะเห็นว่าผู้ว่าฯลงพื้นที่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันจะดูในเรื่องของโครงการต่างๆที่สำคัญ
การทำงานเน้นเรื่องการบริหารพัฒนา บริหารการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การบริหารทั่วไป
จะทำงานเชิงรุกเพราะถ้าผู้ว่าฯทำแต่งานประจำก็จะไม่สามารถไปพัฒนาในด้านอื่นๆได้
เพราะฉะนั้น
ส่วนงานบริหารงานทั่วไปงานประจำจะมอบให้รองผู้ว่าราชการเกือบทั้งหมด นอกจากนั้นจะเน้นการทำงานตามวาระ
เมื่อสอบถามถึงการปรับลดงบประมาณต่างๆในหลายกิจกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในส่วนของระบบงบประมาณ
มีงบปกติ งบฟังชั่น งบพัฒนาจังหวัด งบกลุ่มจังหวัด
และบางช่วงมีงบกลุ่มจังหวัดเพิ่มเติม
ตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายใน ปีที่แล้วเริ่มครั้งแรกเป็นงบภาค
โดยปกติงบที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้คืองบพัฒนาจังหวัด
ซึ่งจะนำมาใช้ในการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงได้จริงคืองบในส่วนนี้ โดยจะมีการจัดทำแผนงบประมาณล่วงหน้า
2 ปี เมื่อถึงปีงบประมาณก็จะมีการทบทวนในเรื่องของโครงการต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ถ้าแต่ละจังหวัดไม่มีสิทธิ์ทบทวนอะไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็จะทำอะไรไม่ได้เลย รัฐบาลมีการปรับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการเชื่อมโยงงบประมาณกันได้
เพราะฉะนั้นกระบวนการส่วนหนึ่งในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา
ก็จะมีการทบทวนปรับงบพัฒนาจังหวัด เช่น
โครงการที่ขอมาได้งบอื่นดำเนินการไปแล้ว เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้ถึงประชาชนมากที่สุดและเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในเชิงการพัฒนา
จึงได้มานั่งทวนกันใหม่ โดยเน้นงานที่เป็นผลสัมฤทธิ์ เน้นบูรณาการ
ลดงานค่าใช้จ่ายทั่วไป
ช่วงนี้จึงมีการปรับงบประมาณในหลายเรื่อง เนื่องจากพบหลายโครงการที่มีความซ้ำซ้อนกันมาก
เช่น มีการของบสร้างศูนย์บริการ แต่ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่พบว่ามีการสร้างศูนย์บริการอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน
ซึ่งเป็นการของบประมาณไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือการปรับปรุงซ่อมแซมในจุดอื่น
จึงต้องมีการปรับงบให้ ถ้าไม่มีเงินดึงมาจะนำงบที่ไหนมาทำให้กับชาวบ้าน เหตุนี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ว่าฯต้องทำงานถึงลูกถึงคน
ตามดูโครงการเดิมรวมกับโครงการที่กำลังขอใหม่ เพื่อให้รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร
ผู้ว่าราชการจังหวัด
กล่าวอีกว่า เรื่องการเกษตรมีการวางงบประมาณไว้น้อยมาก
และที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการอบรม การเกษตรจึงได้มีการปรับเยอะมาก บางหน่วยงานมีการขอคืนงบประมาณก็มี
รวมทั้งบางพื้นที่ติดปัญหาพื้นที่ป่าไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากช่วงที่มีการจัดทำแผนงบประมาณเป็นการวางแผนกว้างๆ
เพื่อให้นำมาปรับทบทวนกันอีกครั้ง ซึ่งผู้ว่าฯได้ลงพื้นที่ไปดูที่ห้างสรรพสินค้าว่านำสินค้าจากที่ไหนมาวางขาย
และย้อนกลับไปดูต้นทางว่ามาจากที่ไหน เพื่อต่อยอดและขยายผล ซึ่งพบว่าที่ลำปางมีเกษตรกรที่เก่งๆจำนวนมาก
จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลให้เกษตรกรที่ลำบากมาเป็นเครือข่าย
โดยจะมอบอุปกรณ์สนับสนุนให้
และให้เกษตรกรเจ้าของสวนใหญ่รวบรวมผลผลิตส่งต่อไปให้ห้างสรรพสินค้า ปีหน้าจะลงไปถึงชาวบ้านทั้งหมดและจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
อีกเรื่องคือ
การแก้ปัญหาเรื่องยากจนไม่มีงบแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่ จ.ลำปาง เศรษฐกิจแย่ และความยากจนเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่จำเป็นต้องจัดการให้ได้
ได้มีการตรวจสอบข้อมูล จปฐ.
พบว่ามีตกเกณฑ์อยู่มาก จึงได้เกิดโครงการแก้จนคนเมืองขึ้น สำรวจข้อมูลคนยากจนในเขตเมือง
เพราะรู้ว่าคนยากจนในเมืองลำบากกว่าในชนบท
อย่างน้อยคนจนในชนบทยังมีที่ดินทำกิน
จึงมีแนวคิดส่งเสริมเรื่องอาชีพ เน้นเรื่องเครื่องมือทำมาหากินให้ทำแล้วมีรายได้เลย และเน้นการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ไม่ใช่การสร้างบ้านแล้วมอบให้แค่หลังเดียว
แต่ต้องสำรวจให้หมดว่าความต้องการคืออะไร นอกจากนั้นให้คลังจังหวัดดูข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการรัฐ
2 แสนกว่าคน ให้สถิติจังหวัดไปรวบรวมว่า 2 แสนคนต้องการอะไร ลงรายละเอียดเป็นรายครัวเรือน สำหรับงบที่ไม่ปรับเปลี่ยนเลยเป็นงบที่เสนอมาจากหมู่บ้านชุมชน
การทำถนนหนทาง ระบบน้ำประปา สาธารณูปโภคต่างๆ
ยกเว้นให้กลับไปทบทวนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดไหม
เมื่อชาวบ้านยืนยันมาก็อนุมัติไปหมดแล้ว
นายทรงพล
กล่าวว่า
ถ้าตั้งเป้าต้องการเพิ่มรายได้ประชากรขึ้นมา ลองกลับไปดูว่าโครงการต่างๆ
ตอบโจทย์ตรงนั้นหรือไม่ ซึ่งไม่เห็นส่วนไหนที่จะสร้างรายได้ชาวบ้าน
เพราะงบไปหมดในเชิงกระบวนการที่ยังไม่ถึงจุดสุดท้าย
แล้วจะปล่อยให้ผู้ว่าฯอยู่เฉยได้อย่างไร
“ถ้าคิดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ต้องทำอะไรมาก
เราก็อยู่เฉยๆใครจะทำอะไรก็ทำไม มีก็เหมือนไม่มีก็เป็นไปได้ แต่เราคาดหวังหรือต้องการให้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า
หรือต้องการให้มีการพัฒนา” ผู้ว่าฯกล่าว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1160 วันที่ 22 -28 ธันวาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น