มิใช่ความผิดของรัชนิกร เลิศวาสนา สาวมหาชัย
ทั้งหมด ที่เธอไปจอดรถใส่เบรกมือ หน้าบ้านพี่น้องสองเจ๊ จนรถยับเยิน
ไปทั้งคันด้วยเหล็กและขวานของเจ้าของบ้าน หากแต่เป็นผลจากความคับแค้นของเจ๊ที่สั่งสมมายาวนานนับสิบปี หลังการเกิดขึ้นของตลาดสวนหลวง
ในบริเวณพื้นที่ที่เคยเงียบสงบ ไร้ผู้คน
รัชนิกร
เพียงแต่มารองรับอารมณ์โกรธแค้นของป้าบุญศรี แสงหยกตระการ
ในนาทีที่ความคับข้องใจต่างๆนานา ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยสถานที่ตั้งของบ้านรายล้อมไปด้วยตลาด
และที่จอดรถ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งเสียง ควันรถ
มาถึงจุดระเบิด เมื่อป้าบุญศรี ขับรถออกจากบ้านไม่ได้
สาวรัชนิกรนั้น
มีส่วนผิดแน่นอน ที่จอดรถใส่เบรกมือหน้าประตูบ้านคนอื่น
และไม่ใส่ใจดูให้ถี่ถ้วนว่า ป้ายประกาศที่ติดอยู่หน้าบ้าน
เป็นป้ายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง มิใช่คำสั่งยึดทรัพย์ของกรมบังคับคดี
อีกทั้งเมื่อได้ยินเสียงแตรรถเจ้าของบ้านแล้ว
ยังเย็นใจจับจ่ายซื้อของจนเสร็จ
โดยไม่รู้สึกรู้สมไปกับความเดือดร้อนของคนอื่น
จะเรียกว่าจิตใจอำมหิต เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ไม่ยอมไปจอดรถในที่จอดรถ
เพราะไม่ต้องการจ่ายเงินเพียงไม่กี่บาท แต่กลับมารบกวนสิทธิของคนอื่น
คนฟังคำอธิบายของป้าบุญศรี
ที่ย้อนอดีตไปถึงครั้งที่แม่เธอป่วย เข้า-ออก บ้านลำบาก
จนต้องไปนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตในที่สุด ก็เข้าใจ เห็นใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า
หมู่บ้านเสรี ที่เสรี โอสถานุเคราะห์ เจเนอเรชั่นที่ 3 แห่งตระกูลธุรกิจ “โอสถสภา
เต็กเฮงหยู” เป็นผู้ขายนั้น ไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรรในแบบที่เข้าใจกัน
มีรั้วรอบขอบชิด มีอาณาเขตแน่นอน มียามรักษาความปลอดภัย
แต่เป็นหมู่บ้านรุ่นเก่าที่จัดสรรเฉพาะที่ดิน คนซื้อปลูกสร้างบ้านเอง
บางแปลงก็ยังเป็นที่ดินว่างเปล่า เมื่อขายหมด ก็ยกเส้นทางในหมู่บ้าน
ให้เป็นถนนสาธารณะ
เมื่ออยู่บนถนนสาธารณะ
ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขว่า จะทำพาณิชยกรรมไม่ได้ จะสร้างตลาดไม่ได้
แต่ตลาดก็ต้องได้รับอนุญาต และต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด เทศบัญญัติเรื่องการควบคุมตลาด
และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แต่เมื่อเกิดกรณีป้าบุญศรี
ก็ทำให้เห็นปัญหาการจัดการที่ต้องเอาผิดกับเขตพื้นที่ เพราะตลาดทั้งหลายนั้น
ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ก็สามารถเปิดดำเนินการได้
นั่นก็เป็นปัญหาที่น้ำลด
ตอก็ผุดขึ้นมา และคงจะปล่อยให้ผู้อำนวยการเขตประเวศ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ลอยนวลต่อไปไม่ได้ แต่สำหรับป้าบุญศรี เมื่อพลังแห่งความคับแค้นระเบิดออก
จนนาทีนั้น คล้ายไม่มีทางเลือกใดอีกแล้ว นอกจากทุบ ทำลายรถนั้นเสีย
เพื่อระบายความรู้สึก ซึ่งการทุบ ทำลายรถ
ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้รถคันนั้นพ้นทางกีดขวางไปได้ ป้าบุญศรี จะอ้างว่าบันดาลโทสะ
ซึ่งเป็นเหตุลดโทษได้หรือไม่
การทำให้เสียหาย
ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ คือใช้การไม่ได้ตามปกติ
ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น ก็เรียกว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว จะอ้างเหตุว่าเพราะบันดาลโทสะ
โดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
จึงโต้ตอบด้วยการทุบรถไปในขณะนั้น
ไม่เป็นเหตุยกเว้น หรือลดโทษจากการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะเหตุบันดลโทสะ จะต้องกระทำต่อคน
ไม่ใช่ทรัพย์สิน
เรื่องราวของป้าทุบรถ
ถึงแม้จะเรียกร้องความสงสาร เห็นใจได้มากกว่าสาวต่างถิ่นที่ไปจอดรถหน้าบ้านเธอ
แต่ในแง่กฎหมายป้าบุญศรี ไม่มีประตูออกเลย นอกจากรับสารภาพ ยอมจ่ายค่าเสียหาย
ให้จบกันไป เพราะแค่เรื่องราวของเธอ
กลายเป็น ทอล์ค ออฟเดอะทาว์น คนพูดกันทั่วเมือง
ก็เกินคุ้มแล้วสำหรับการต่อสู้เพื่อความสงบสุขของชีวิต
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1168 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น